ควบคุมการกินน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ควบคุมการกินน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ปัญหาสำคัญหนึ่งเกี่ยวกับสุขภาพคือ การที่คนจำนวนมากมีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ ในประเทศพัฒนาแล้วนั้นคนที่เป็นโรคอ้วน (obesity) มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของประชากรผู้ใหญ่และประมาณ 2/3 มีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ (overweight)

ในประเทศไทยนั้น ตัวเลขจะน้อยกว่าคือ ประมาณ 37-38% มีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์และประมาณ 10% เป็น โรคอ้วน แต่แนวโน้มนั้นชัดเจนว่าจำนวนคนที่มีน้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์และเป็นโรคอ้วน จะเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่องในอนาคต

นอกจากนั้น ประชากรของประเทศไทยกำลังแก่ตัวอย่างรวดเร็วด้วย เพราะกลุ่มคนที่เกิดใหม่เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2506-2526 (ผมเรียกว่ากลุ่ม  Baby boomers ของประเทศไทย) กำลังจะเริ่มทะยอยกันเกษียณอายุอย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า

ควบคุมการกินน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 ชี้ให้เห็นว่าในช่วง 20 ปีดังกล่าวมีจำนวนประชากรเกิดใหม่ปีละกว่า 1 ล้านคน (สถิตสูงสุดคือ 1.22 ล้านคนในปี 2514) ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับปี 2564 (ข้อมูลล่าสุด) ที่ปรากฏว่ามีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน (ครึ่งหนึ่งของจำนวนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว)

ในขณะเดียวกันมีผู้เสียชีวิตในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 563,650 คน กล่าวคือปี 2564 คือปีที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรลดลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน

เมื่ออายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าน้ำหนักตัวสูงขึ้น และจะส่งbโดยรวม โดยเฉพาะจากการเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ (Non-communicable diseases) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ฯลฯ และแนวทางในการดูแลสุขภาพคือการจำกัดการกินเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว การออกกำลังกายเป็นประจำและการนอนหลับให้เพียงพอ

ครั้งนี้ผมจะขอเขียนถึงเรื่องของการกินก่อนซึ่งมีข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 6 (2562-2563) คือกลุ่มวัยทำงานอายุ 15 ปีขึ้นไปพบว่า

  • น้ำหนักตัวปกติ 36.43%
  • ภาวะอ้วน 37.50%
  • โรคเบาหวาน 8.9%
  • ความดันโลหิตสูง 27.70%

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยติดอันดับสูงสุด 5 ประเทศที่มีอัตราการเป็นโรคไตสูงสุด (ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข: สถานการณ์โรคไตในไทย 2563) ซึ่งตรงนี้หลายคนคงเข้าใจว่ามีสาเหตุหลักมาจากการกินเค็มมากเกินไป

แต่เมื่อผมตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยก็พบว่าสาเหตุหลักของการเกิดภาวะไตวายนั้น มักจะเป็นผลสืบเนื่องจากการเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยข้อมูลสำรวจประชากรไทยพบว่า คนไทยกินเกลือเฉลี่ยวันละ 3,636 มิลลิกรัมต่อคน เทียบกับปริมาณการกินเกลือที่เหมาะสมคือวันละ 2,000 มิลลิกรัม 

ควบคุมการกินน้ำตาลเพื่อลดความเสี่ยงเป็นโรคไต | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

กล่าวคือ สูงกว่าเกณฑ์ประมาณ 82% แต่สำหรับน้ำตาลนั้นคนไทยกินวันละ 25 ช้อนชา เทียบกับปริมาณการกินน้ำตาลที่เหมาะสมคือวันละ 6 ช้อนชา สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 317% แปลว่าคนไทยจะต้องลดการกินน้ำตาลลงอย่างมากโดยทันทีเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไต

ตัวเลขจำนวนผู้ที่เป็นโรคไตในประเทศไทยนั้นสูงจนน่าตกใจ งานวิจัยล่าสุดที่ผมพบคือ “High prevalence of chronic Kidney disease and its related risk factors in rural areas of  Northeast of Thailand” (ในวารสาร Nature Scientific Reports 28 October 2022) อ้างการสำรวจเมื่อปี 2009 (13 ปีที่แล้ว)

พบว่า คนไทยทั้งประเทศมีสัดส่วนที่เป็นโรคไตสูงถึง 17.5% ของประชากรทั้งหมด (หรือประมาณ 11-12 ล้านคน) 

และมีสัดส่วนสูงสุดในภาคอีสานที่ประมาณ 22.2% ของประชากรทั้งหมด งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลสำรวจในภาคอีสานจากประชากร 2,205 คน อายุเฉลี่ย 57.8 ปี (บวก-ลบ 11-7 ปี พบสัดส่วนคนเป็นโรคไตสูงเพิ่มขึ้นไปถึง 26.8% และสาเหตุหลักที่ทำให้เป็นโรคไตคือความดันโลหิตสูง เบาหวานและนิ่วในไต

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งคือ “Prevalence of chronic Kidney Disease and related factors among diabetic patients in primary care” ใน Journal of Public Health Development (4 January 2021) วิเคราะห์การเป็นโรคไตในกลุ่มผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน

ปัจจัยหลักที่มีความสัมพันธ์สูงกับการเป็นโรคไตคือ

  • อายุเกิน 70 ปี
  • การเป็นโรคเบาหวานเกินกว่า 5 ปี
  • การสูบบุหรี่
  • การมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เกินกว่า 150 mg/dl
  • ระดับ HDL (ไขมันดี) ต่ำกว่า 40 mg/dl ในผู้ชายและต่ำกว่า 50 mg/dl ในผู้หญิง

ดังนั้น การกินอย่างระมัดระวังโดยเฉพาะการจำกัดการกินน้ำตาล จึงน่าจะมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งในเชิงของการควบคุมน้ำหนักและการลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคไต ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ (อย่างเงียบๆ) ในประเทศไทยครับ และต้องอย่าลืมการออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งประเภท aerobics (หัวใจเต้นเร็ว) และประเภทที่สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงครับ