น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ผมเป็นนักวิเคราะห์จึงไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ต้องมีข้อมูลสนับสนุนและยืนยัน แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องน้ำพุแห่งความเยาว์วัย (Fountain of Youth) หรือความสามารถในการหมุนเวลากลับทำให้คนแก่ชรากลับมาเป็นคนหนุ่ม-สาวอีกครั้งนั้น วิทยาศาสตร์ของมนุษย์ใกล้จะทำสำเร็จแล้ว

คงจะยังมีเสียงส่วนใหญ่ไม่อยากจะเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ ดังนั้น ผมจึงขอนำเอาข้อมูลทั้งหมดที่ได้ค้นคว้ามานำเสนอให้อ่านและลองตัดสินใจกันเองครับ

การกระตุ้นให้เซลล์กลับชาติมาเป็นสเต็มเซลล์

ทุกคนคงจะรู้จักสเต็มเซลล์ (Stem Cell) เพราะคงจะได้ข่าวหรือมีประสบการณ์จากการ (แอบ) ฉีดสเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรคต่างๆหรือเพื่อฟื้นฟูร่างกายให้สดชื่น

เรารับรู้กันว่าสเต็มเซลล์คือเซลล์ที่ยัง “ไม่รู้ชาติเกิด” หรือจะปรับเปลี่ยนเป็นเซลล์ประเภทใดก็ได้ (ในตัวมนุษย์มีเซลล์ประมาณ 200 ประเภท) กล่าวคือเป็นเซลล์ของตัวอ่อน (fetus) ที่ยังไม่ถูกกำหนดว่าจะเป็นเซลล์ชนิดใด

เมื่อ 2006 ศาสตราจารย์ Shinya Yamanaka ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เซลล์ไฟโบรบลาสท์ (fibroblast) คือเซลล์ผิวหนังที่สร้างคอลลาเจนของมนุษย์ให้ปรับเปลี่ยนกลับกลายไปเป็นสเต็มเซลล์

โดยอาศัยโปรตีนประเภท transcription factor ที่ควบคุมการทำงาน (หรือไม่ทำงาน) ของยีน 4 ตัวคือ Oct3/4, Sox2, KLf4 และ c-Myc ต่อมาจึงเรียกกันติดปากว่า Yamanaka factors หรือยีน OSKM

น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การค้นพบครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากทำให้ศาสตราจารย์ Yamanaka ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2012 (ร่วมกันกับ John Gurdon) และต่อมาก็ยังได้รับรางวัล Breakthrough Prize in Life Science มูลค่า 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (100 ล้านบาท)

ถามว่าทำไมจึงไม่มีการผลิตสเต็มเซลล์ของมนุษย์ออกมาใช้อย่างแพร่หลาย (เพราะค้นพบเทคโนโลยีนี้มานานกว่า 15 ปีแล้ว) ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะเมื่อลบอดีตจนเซลล์จำชาติเกิดเดิมของตัวเองไม่ได้แล้ว ก็มีความเสี่ยงอย่างมากที่เซลล์จะกลายเป็นเซลล์มะเร็ง

ต่อมาจึงได้มีความพยายามปรับเปลี่ยนและปรับปรุงวิธีการกระตุ้นการหมุนเวลากลับของเซลล์ (ภาษาวิชาการเรียกว่า induced Pluripotent Stem Cell iPSCs)

โดยมีนักวิจัยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องการเพียงหมุนเวลากลับเพียง “ครึ่งทาง” หรือไม่ต้องกลับไปจุดตั้งต้นที่เรียกว่า “partial” iPSCs

น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เช่นงานวิจัยโดยใช้หนูทดลองของ Juan Carlos Izpisua Belmonte ที่ San Diego Institute of Science (อดีตเคยอยู่ที่ Salk Institute ซึ่งมีชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ) และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัท Altos Laboratories (พร้อมกับศาสตราจารย์ Yamanaka)

บริษัท Altos Labs นั้นเป็น start-up ที่ได้รับเงินทุนรวม 3 พันล้านเหรียญจากมหาเศรษฐีเพื่อค้นคว้าน้ำพุแห่งความเยาว์วัย (คงจะมีบริษัทอื่นๆอีกหลายบริษัท)

Yamanaka factors นั้นโดยพื้นฐานคือการคัดลอกการทำงานของเซลล์ในตัวอ่อน เพราะศาสตราจารย์ Yamanaka ก็เริ่มต้นจากการดูว่าโปรตีนประเภท transcription factor ตัวไหนทำงานอย่างต่อเนื่อง

โดยได้เริ่มต้นจากคัดเอา transcription factors ทั้งหมด 24 ตัวมาตัดทอนลงเหลือ 4 ตัวดังที่กล่าวข้างต้น

แนวทางนี้จึงถูกนำมาทดลองใช้กับเซลล์ของมนุษย์โดยทีมของมหาวิทยาลัย Stanford จนประสบความสำเร็จและผลงานถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อ 24 มีนาคม 2022 ชื่อ

“Transient non-integrative expression of nuclear reprogramming factors promotes multifaceted amelioration of aging in human cells”

 

ทีมนี้มีสมมุติฐานว่าการใช้ Yamanaka factor ทั้ง 4ตัวบวกกับอีก 2 ตัวคือ Lin28 และ Nanog (จึงกลายเป็น OSKMLN) และหากใช้เพียงระยะเวลาสั้นๆ จะสามารถทำให้เซลล์ที่อายุมากกลับมาเยาว์วัยได้

เพราะประเมินว่า OSKMLN นั้นในขั้นแรกจะลบส่วนที่ทำให้แก่ชราก่อนและในขั้นต่อไปจึงจะลบตัวตน (identity) ของเซลล์ดังกล่าว

ผลออกมาตามคาดคือสามารถทำให้เซลล์ไฟโบรบลาสท์ของมนุษย์อายุลดลง 1.84 ปีและเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือด (vascular endothelial cells) อายุลดลง 4.94 ปี

สำหรับเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดนั้นมีความสำคัญอย่างมากเพราะเมื่อแก่ตัวลง ก็จะนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดแข็ง โรคภาวะมวลกล้ามเนื้อพร่อง (sarcopenia) โรคเบาหวานและโรคอ้วน เป็นต้น

น้ำพุแห่งความเยาว์วัย (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ต่อมาทีมวิจัยดังกล่าวข้างต้นไปร่วมกันจัดตั้งบริษัท Turn Biotechnologies และในที่สุดก็มีข่าวออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว (Longevity Technology 3 ธันวาคม 2022) ว่า

Turn Biotechnologies กำลังเดินสายนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ให้บริษัทเครื่องสำอางที่สหรัฐอเมริกาเรียกว่า Epigenetic Reprogramming of Aging (ERA)

ข้อมูลผลการทดลองเบื้องต้น (preclinical data) ที่อ้างว่าสามารถหมุนเวลากลับทำให้ผิวพรรณที่แก่ชรากลับมาหนุ่มสาวมากขึ้น (reversed the hallmarks of aging in human skin) โดยสามารถทำให้เซลล์กลับมาผลิตคอลลาเจนและอิลาสติน ตลอดจนลดอาการอักเสบ (inflammation) เป็นต้น

ทั้งนี้ ซีอีโอของบริษัท Turn Biotechnologies เทคโนโลยี กล่าวว่า ERA นั้นจะเป็น “game changer” ซึ่งประชาชนทั่วไปคงจะได้รับรู้กันในเร็ววันนี้ว่าจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใดในปีนี้

แต่ผมเสียดายว่าควรจะเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดอายุของเซลล์เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือดมากกว่า พยายามจะช่วยให้ผิวหนังที่เหี่ยวย่นดูอ่อนวัยมากขึ้น

แต่ที่สำคัญคือการสะท้อนความสำเร็จของแนวทางการหมุนเวลากลับให้กับเซลล์โดยการปรับปรุง Yamanaka factors มาใช้เพื่อการลบส่วนที่ทำให้แก่ชรา

แนวทางนี้เรียกว่า epigenetic reprogramming หมายถึงการ reset ระบบการสั่งการทำงานหรือการสั่งไม่ให้ทำงานของยีน เพื่อลบล้างการทำงานผิดพลาดของยีนที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เป็นการปรับเปลี่ยนหรือ reprogram กระบวนการ “อ่าน” ยีน หรือคำสั่งให้ถูกต้อง เซลล์จึงกลับมาทำงานเหมือนสมัยหนุ่ม-สาวได้

ครั้งต่อไปผมจะเขียนถึงความสำเร็จในการควบคุม epigenetics ซึ่งทำให้สามารถเร่งให้หนูทดลองแก่ตัว และสามารถลบความแก่ชราออกไปจากหนูทดลองครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร