“ยาแก้แพ้” ไม่ใช่ยานอนหลับ! กินมากเกินไปอาจเสี่ยงโรควิตกกังวล

“ยาแก้แพ้” ไม่ใช่ยานอนหลับ! กินมากเกินไปอาจเสี่ยงโรควิตกกังวล

ปัญหา “นอนไม่หลับ” ถือเป็นเรื่องใหญ่ของใครหลายคนในปัจจุบัน แต่ยังมีหลายคนเลือกกิน “ยาแก้แพ้” เพื่อหวังผลให้ง่วงนอนและหลับง่าย แทนที่จะหาสาเหตุหรือปรับพฤติกรรมการนอน ซึ่งหากกินยาแก้แพ้มากเกินไป (Overdose) จะส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายด้าน

Key Points:

  • การกินยาแก้แพ้เพื่อให้นอนหลับได้ตามปกติถือเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพเพราะอาจทำให้เกิดการดื้อยาตามมาได้
  • วิธีสำคัญที่จะทำให้สามารถนอนหลับได้ปกติคือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและการเลือกกินอาหารที่มีส่วนช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่าย เช่น ผัก หรือ ถั่ว
  • หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและวิธีแก้ไขต่อไปอย่างถูกต้อง

สำหรับปัญหาการ “นอนไม่หลับ” เรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนวัยทำงานมีประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง เนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นหลายคนจึงแก้ปัญหาด้วยการกิน “ยาแก้แพ้” ชนิดที่ทำให้ง่วงแทนการกินยานอนหลับ เพื่อให้ตัวเองสามารถนอนหลับได้ง่าย เพราะยาแก้แพ้เป็นยาสามัญประจำบ้านและหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยา ไม่จำเป็นต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เหมือนกับยานอนหลับ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิด! พราะเป็นการใช้ยาผิดประเภทที่อาจส่งผลเสียกับร่างกายมากกว่าที่คิด

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ายาแก้แพ้นั้น เป็นยาสำหรับกินเพื่อลดอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง เช่น ไอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จากอาการแพ้อากาศ แพ้ฝุ่นละออง แพ้เกสรดอกไม้ หรือขนสัตว์ รวมถึงอาการลมพิษ ผื่นคัน ที่เกิดจากการแพ้อาหาร หากกินแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อรักษาตามอาการได้อย่างตรงจุด

  • “ยาแก้แพ้” แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. ชนิดที่ทำให้ง่วง เช่น คลอร์เฟรามีน (Chlorpheniramine) และ ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) สามารถใช้รักษาอาการเยื่อจมูกอักเสบเนื่องจากภูมิแพ้ ที่มีอาการคัน, จาม, น้ำมูกไหล และมักให้ร่วมกับยาชนิดอื่นตามอาการ ไปจนถึงบรรเทาอาการเมารถ เมาเรือได้ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงซึม จึงควรระวังการใช้ในผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักร ขับรถ และห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

2. ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วงนอน ยากลุ่มนี้สามารถใช้รักษาอาการได้คล้ายกับยากลุ่มดั้งเดิมที่ทำให้ง่วง แต่จะให้ผลดีกว่าในการลดผื่นลมพิษแบบเฉียบพลัน และลดอาการคันได้เร็วกว่ายาอื่นในกลุ่มเดียวกัน เพราะออกฤทธิ์เร็ว แต่อาจบรรเทาอาการน้ำมูกไหล อาการเมารถเมาเรือ ได้ไม่ดีเท่ากลุ่มที่กินแล้วง่วง

แม้ว่ายาแก้แพ้เหล่านี้จะทำให้ง่วงนอนและมีหลายคนเข้าใจผิดว่าสามารถนำมาใช้เป็นยานอนหลับได้ แต่รู้หรือไม่? ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง!! เนื่องจากหากใช้ยาแก้แพ้แบบผิดๆ บ่อยเกินไป อาจทำให้ดื้อยาได้และเมื่อจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ดังกล่าวรักษาอาการป่วยจริงๆ ก็อาจทำให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร

  • อันตรายจากการกิน “ยาแก้แพ้” แทนยานอนหลับบ่อยเกินไป

- เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง จมูกแห้ง คอแห้ง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปัสสาวะลำบาก ท้องเสีย หรือท้องผูก

- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อาจมีอาการ ตาแห้ง และมองไม่ชัด

- เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงมากขึ้น เช่น มีปัญหาในการมองเห็น มองเห็นไม่ชัด ปัสสาวะลำบาก ปัญหาในการหายใจ อาการกระวนกระวาย ตื่นเต้น วิตกกังวล นอนไม่หลับ (พบมากในเด็ก) หน้ามืดวิงเวียนคล้ายจะเป็นลม หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ใจสั่น หรือเจ็บแน่นหน้าอก การชัก การเกร็งของกล้ามเนื้อและใบหน้า

- เกิดอาการดื้อยา ทำให้ไม่สามารถใช้ยาแก้แพ้เมื่อเกิดอาการแพ้ขึ้นจริงๆ

ดังนั้นสำหรับผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับต่อเนื่องกันเป็นเวลานานและเลือกใช้ยาแก้แพ้เพื่อให้ง่วงนอนนั้น นอกจากจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาที่มาของอาการดังกล่าวแล้ว ก็จำเป็นต้องปรับพฤติกรรมหรือเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้สามารถเข้านอนได้ง่ายขึ้น

  • แหล่งรวมสารอาหารที่ช่วยให้ “นอนหลับ” ง่ายขึ้น

- กรดอะมิโนจาก แอล-ทริปโตเฟน (L-Tryptophan) และสารกาบา (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง พบมากในข้าวหรือแป้งที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้องงอก หรือ จมูกข้าว รวมไปถึง เผือก มัน งา สาหร่ายทะเล และนม

- ผลไม้ เช่น กล้วย อินทผลัม ลูกพรุน เนื่องจากมีกรดอะมิโน L-Tryptophan โดยสมองจะนำกรดอะมิโนดังกล่าวไปสร้างสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งถ้าร่างกายมีสารตัวนี้เพียงพอ ก็จะเพิ่มการหลั่งของฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งช่วยในการควบคุมการนอนหลับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจนอนหลับได้ง่ายขึ้น

- เมลาโทนิน (Melatonin) พบมากในอาหารจำพวก ปลา ไข่ เชอร์รี ที่วอลนัท ฯลฯ เหล่านี้เป็นอาหารที่มีฮอร์โมนเมลาโทนินสูงทำให้การนอนหลับดีขึ้น

- แมกนีเซียม แร่ธาตุที่ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย พบมากใน ถั่วต่างๆ และ ผักใบเขียว

นอกจากการกินอาหารที่มีส่วนช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นแล้ว การออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าหากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถเข้านอนได้ตามปกติ ก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาสาเหตุและวิธีการแก้ไขต่อไป ไม่ใช่หาซื้อยาแก้แพ้มากินเอง

อ้างอิงข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, รพ.พญาไท, สถาบันวิจัยสาธารณสุข และ รพ.สมิติเวช