ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน? ทำงานไม่พักจน "อดนอน" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน? ทำงานไม่พักจน "อดนอน" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

วลีที่ว่า “ไม่มีใครตายเพราะทำงานหนัก” คงใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาพบวัยทำงานหลายเคสที่ทำงานหนักจน “อดนอน” “นอนไม่พอ” ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงมีโรคหัวใจ โรคความดันสูง และยังเสี่ยงต่อ "โรคคาโรชิ" (Karoshi) หรือ "โรคทำงานจนตาย" อีกด้วย

ในโลกของการทำงานประจำยุคหนึ่ง.. มีวลีสุดฮิตที่ถูกนำมาพูดปลอบใจระหว่างมนุษย์เงินเดือนด้วยกันว่า "งานหนักไม่ทำให้ใครตาย" ยังอายุน้อย ยังมีเรี่ยวแรงอยู่ก็สู้งานกันต่อไป แต่มาในยุคนี้ วลีดังกล่าวอาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะที่ผ่านมาพบ "วัยทำงาน" หลายๆ เคส ป่วยด้วยโรคร้ายแรง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการทำงานหนักจน "อดนอน" "นอนน้อย" และพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือเข้าข่ายเป็น "โรคคาโรชิ" (Karoshi) หรือ "โรคทำงานจนตาย" อีกด้วย

อ่านเพิ่ม : รู้ทันโรค "คาโรชิ" หรือโรคทำงานจนตาย แพทย์แนะ 7 วิธีป้องกัน

หลายคนอาจมีคำถามว่า คนเรา “เสียชีวิต” จากการ “อดนอน” ได้จริงหรือ? คำตอบคือ ใช่!  หากวัยทำงานสะสมพฤติกรรมอดนอนเป็นเวลานานหลายปี จะนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ยืนยันจาก The Harvard Gazette ได้รายงานถึงผลวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ศึกษาถึงความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับและการตาย (วิจัยในสัตว์ทดลอง เช่น หนู, แมลงวัน) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การอดนอนเป็นเวลานานติดต่อกัน ทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตก่อนอายุขัยโดยเฉลี่ย

แต่ทั้งนี้ ตัวอย่างของการเสียชีวิตจากการอดนอนในมนุษย์นั้นมีน้อยมาก ในทางการแพทย์จึงไม่สามารถกล่าวอย่างเป็นทางการได้ว่า การอดนอนของคนเราเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต แต่ที่แน่ๆ คือ การ “นอนไม่พอ” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ โรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ที่ทำให้วัยทำงานชาวอเมริกันเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก ดังนั้น “การอดนอน” จึงเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตได้จริง 

ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน? ทำงานไม่พักจน \"อดนอน\" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

อีกทั้ง มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ศึกษาถึงผลลัพธ์ด้านความเสื่อมของร่างกาย ที่เกิดขึ้นหลังจากคนเรา “อดนอนเฉียบพลัน” และ “อดนอนเรื้อรัง” ซึ่งแน่นอนว่าการอดนอนทั้งสองแบบดังกล่าว ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ที่นอนไม่พออย่างมาก ดังนี้ 

1. กรณี “อดนอนเฉียบพลัน” (อดนอนแค่บางช่วง ติดต่อกันไม่กี่วัน) ส่งผลกระทบเชิงลบ ได้แก่

  • ง่วงนอน อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด และใจร้อนมากขึ้น
  • ความคิด สมาธิ และประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง
  • การเปลี่ยนแปลงของการเผาผลาญและความอยากอาหาร
  • เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์

ในทำนองเดียวกัน Matthew Walker ผู้เขียนหนังสือ Why We Sleep ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ Rise Science ก็อธิบายถึงข้อเสียของการนอนน้อยไว้ในลักษณะคล้ายกันว่า สมองของคนเราจะสามารถทำงานได้ดีติดต่อกันไม่เกิน 16 ชั่วโมง หากเราไม่ได้พักผ่อนหลังจากนั้นและยังคงทำงานต่อไป สมองจะเริ่มเหนื่อยล้า การรับรู้ การตอบสนอง ความสามารถในการคิดการตัดสินใจต่างๆ จะลดลง ทำให้ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ถ้าสมองไม่ได้พักเลยภายใน 18 ชั่วโมงติดต่อกัน ก็จะทำให้เกิด "ความบกพร่องทางสติปัญญา" โดยสมองของคนที่ทำงานหนักมาเกิน 18 ชั่วโมง (แปลว่าอดนอน) จะมีลักษณะเหมือนกับคนที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) 0.05% ซึ่งในบางประเทศไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ระดับนี้ขับรถได้  เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ 

ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน? ทำงานไม่พักจน \"อดนอน\" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

2. กรณี “อดนอนเรื้อรัง” (อดนอนเป็นประจำ ติดต่อนานหลายเดือน) ส่งผลกระทบเชิงลบที่มักร้ายแรงถึงชีวิต ได้แก่

  • เพิ่มความเสี่ยงสูงต่อโรคความดันโลหิตสูง
  • เพิ่มความเสี่ยงสูงโรคหัวใจและหลอดเลือด และหัวใจวาย
  • เพิ่มความเสี่ยงสูงต่อ "ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ"
  • เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งบางชนิดสูงขึ้น
  • เพิ่มความเสี่ยงในการเพิ่มน้ำหนัก โรคอ้วน และโรคเบาหวานประเภท 2
  • อ่อนแอต่อปัญหาภาวะเจริญพันธุ์และความผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ

จากผลเสียข้างต้น คงทำให้หลายคนตระหนักได้ว่าการโหมทำงานหนักโดยขาดการพักผ่อนที่เพียงพอหรือการอดนอนเป็นประจำ อาจมีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้น ใครที่พบว่าตนเองกำลังตกอยู่ในสภาวะนอนน้อย คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ไว และหาเวลาพักผ่อนนอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

ในขณะเดียวกัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ได้แชร์ข้อมูลจากหนังสือ “จัดการเวลาให้มีมากกว่า 24 ชั่วโมง ไม่ยาก” ซึ่งระบุถึงวิธีจัดสรรเวลาทำงานและเวลาพักผ่อนในแต่ละวัน (24 ชั่วโมง) ให้มีความสมดุลและเหมาะสมตามสูตร 8-8-8 ดังนี้

  • 8 ชั่วโมงแรก : ใช้เพื่อพักผ่อนที่บ้าน
  • 8 ชั่วโมงที่สอง : ใช้เพื่อทำงานให้เต็มที่
  • 8 ชั่วโมงที่สาม : ใช้เพื่อเดินทางและทำกิจกรรมอื่นๆ

ใครว่างานหนักไม่ฆ่าคน? ทำงานไม่พักจน \"อดนอน\" เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สำหรับการจัดสรรเวลาทั้ง 3 ด้านดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดจนเกินไป แต่เราสามารถยืดหยุ่นได้ โดยอาจหยิบยืมเวลาในช่วงอื่นๆ มาใช้ร่วมกันได้ เช่น หากวันพรุ่งนี้มีความจำเป็นต้องใช้เวลาทำงานมากขึ้น 2 ชั่วโมง ก็อาจจะปรับแต่งช่วงเวลาใหม่ โดยการลดเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ ลงไป 2 ชั่วโมง แล้วนอนให้เร็วขึ้น หรือใช้วิธีตื่นเช้าไปทำงานให้เร็วขึ้น 2 ชั่วโมง เป็นต้น

หากสามารถบริหารเวลาให้สมดุลตามวิธี 8-8-8 ได้ ก็จะช่วยให้สามารถจัดสรรเวลาด้านต่างๆ ในชีวิตได้ง่ายขึ้น แถมยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ด้วย ทั้งนี้ จุดสมดุลที่ดีที่สุดคือการจัดสรรเวลาให้แต่ละด้านให้มีเวลาเท่าๆ กันในแต่ละวันนั่นเอง

--------------------------------------

อ้างอิง : Harvard.eduRise ScienceCedars-Sinai, สสส.

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์