ธุรกิจ 'อาหารเพื่อสุขภาพ' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

ธุรกิจ 'อาหารเพื่อสุขภาพ' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

ตลาด 'อาหารเพื่อสุขภาพ' เรียกได้ว่ายังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่หันมาดูแลสุขภาพ รวมถึงสังคมสูงวัย เราจึงได้เห็นผู้ประกอบการใหม่ๆ ที่เข้ามารุกตลาดนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ อาหารฟังก์ชัน เป็นต้น

จากความรู้ด้านสุขภาพที่มากขึ้น ทำให้คนยุคใหม่หันมาใส่ใจการออกกำลังกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งประชากรสูงวัยมีมากขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในปัจจุบัน จึงไม่เพียงแค่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพเท่านั้น แต่ยังต้องมีทางเลือกให้กับกลุ่มที่หลากหลายอีกด้วย

 

ที่ผ่านมา บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า มูลค่าการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่มูลค่าประมาณ 88,731 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบจากปี 2561 ที่มีมูลค่าประมาณ 86,648 ล้านบาท โดยปี 2563 กลุ่มชาติอาเซียนจะเน้นไปในเรื่องสุขภาพและโปรตีนทดแทนเป็นหลัก

 

ขณะเดียวกัน วิกฤตการณ์การระบาดโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือแม้แต่สถานการณ์โลกที่กำลังเข้าสู่ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ ล้วนเป็นตัวเร่งให้ประชาชนหันมาตระหนักถึงการใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ข้อมูลจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ เทรนด์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ และ อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย สร้างโอกาสทองให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพออกมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

อาหารสุขภาพตอบโจทย์ทุกวัย

 

เพ็ญศิริ ศรัทธาธรรม Project Manager ร้านอาหารสุขภาพสำหรับทุกคนในครอบครัว Soft Food ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ ว่า เทรนด์ยุคใหม่คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น จากการสื่อสารในปัจจุบัน และคนเริ่มตระหนักว่าอยากมีสุขภาพที่ดี Soft Food ในฐานะร้านอาหารเพื่อสุขภาพน้องใหม่ที่เปิดให้บริการมาราว 3 เดือน มองว่าความท้าทายไม่เพียงแค่การทำอาหารเพื่อสุขภาพอย่างไรให้อร่อยเท่านั้น แต่ต้องมีความใส่ใจ ตอบโจทย์ลูกค้าทุกวัย คาแรคเตอร์ต้องชัด ควบคุมคุณภาพ เพราะ 60-70% คือ ลูกค้าเก่า

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

“แม้ความตั้งใจแรก คือ การเปิดเป็นร้านอาหารผู้สูงอายุ แต่จากการสำรวจคนไทย พบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับที่ทานอาหารของผู้สูงอายุ ต้องอยู่ในระดับที่ดูแลตัวเองไม่ได้แล้ว และคนไทยส่วนใหญ่ลูกหลานจะมาลองทานก่อน แล้วค่อยพาพ่อแม่มาทาน เพราะฉะนั้น หากอาหารไม่อร่อย เขาก็ไม่อยากให้พ่อแม่มาทานไม่ว่าจะดีแค่ไหน ดังนั้น เราอยากทำให้ร้าน Soft Food เป็น Healthy for family ทุกคนกินได้ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ”

 

จากการสำรวจโดยใช้เวลากว่า 1 ปี พบว่า ด้วยความที่ร้านอาหารสุขภาพมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ จึงอาจไม่ถูกปากลูกค้าทั่วไป โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่การสร้างคาแรคเตอร์ที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยมีทั้งอาหารผู้สูงอายุ และอาหารของคนทั่วไปกินได้ด้วย

 

ผู้สูงอายุมีหลายระดับ พอเปิดร้านมาทำให้เรียนรู้จากกลุ่มลูกค้าได้ว่า การทำอาหารเคี้ยวง่าย ข้าวต้ม ข้าวตุ๋น จริงๆ แล้วผู้สูงอายุที่อยู่ในระดับที่ดูแลตัวเองได้เขาไม่ทาน แต่จะไปทานเมนูสุขภาพอื่นๆ แทน และกลายเป็นว่าเมนูข้าวต้ม ข้าวตุ๋น คนรุ่นใหม่กลับทานเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากและท้าทาย”

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

สุขภาพดีเริ่มต้นที่วัตถุดิบ

 

สำหรับร้าน Soft Food ในปัจจุบัน ถึงแม้จะเปิดได้เพียง 3 เดือน แต่มีลูกค้าแวะเวียนและใช้บริการอย่างต่อเนื่องโดยส่วนใหญ่เป็นคนไทย จับกลุ่ม Middle – High ซึ่งเป็นกลุ่มที่เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ จากในช่วงแรกที่มีเชฟและพนักงานเพียง 4 คน รองรับลูกค้าเพียง 3 โต๊ะ เนื่องจากเน้นขายเดลิเวอรี่ แต่ขณะนี้ มีพนักงานรวมทั้งหมด 11 คนแล้ว และมีลูกค้าแวะเวียนมาใช้บริการที่ร้านมากขึ้น ซึ่งหากขยายเต็มที่จะรองรับได้ราว 30-40 ที่นั่ง

 

เพ็ญศิริ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน เมนูที่ร้านครอบคลุมเมนูอาหาร เครื่องดื่ม คอร์สเมนูอาหารสุขภาพเดลิเวอร์รี่ สดใหม่ทุกวัน ส่งถึงบ้านลูกค้าในระแวกใกล้เคียง และ Healthy café โซนคาเฟ่ที่พัฒนาสูตรชา กาแฟ ขนมปังไม่นม ไม่เนย ไม่ไข่ ยีสต์เลี้ยงเอง ให้เป็นคาเฟ่ทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ ใช้น้ำตาล LOW GI (Glycemic Index : ดัชนีน้ำตาล) โดยกว่า 90% เป็นน้ำตาลหล่อฮังก๊วย คนเป็นเบาหวานสามารถทานได้ ไม่กระทบกับรสชาติ

 

อาหารของร้านทั้งหมดเริ่มต้นที่วัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นซอสหอยนางรม ซีอิ๊ว น้ำปลา ใช้เครื่องปรุงที่ได้รับการพัฒนาจาก มหาวิทยาลัยมหิดล Low sodium และดอกเกลือจากเพชรบุรี เน้นผักปลอดสารพิษ โดยรับตรงจากฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงใช้น้ำกรองในการปรุงอาหาร ผักผลไม้ทั้งหมด ผ่านการล้างด้วยระบบโอโซนฆ่าเชื้อ

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

ตลาดยังเติบโตได้อีก

 

Project Manager ร้าน Soft Food กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ดังนั้น ในอนาคตวางแผนจับมือกับเนอร์สซิงโฮมส์ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทำอาหารแช่แข็งเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงจับกลุ่มคนต่างจังหวัดที่ไม่มีเวลาทำอาหารให้ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียง คนที่เคี้ยวไม่ได้ และลูกอาจจะไม่มีเวลา Soft Food จึงอยากจะมาเติมตรงนี้ และมองว่าอาจจะผลิตอาหาร ที่สามารถเก็บได้โดยไม่ต้องแช่แข็ง ไม่ต้องแช่เย็น สามารถวางบนชั้นอาหารตามห้างสรรพสินค้าได้เลย

 

“ก่อนที่จะขยายสาขาเราให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพก่อน เช่น ซุป ต้องวัดปริมาณความหนืด และพยายามเลือกเฟ้นวัตถุดิบที่ควบคุมได้ อยากทำให้ตรงนี้เสถียร และหากเป็นไปได้ คาดว่าต้นปีหน้าจะเริ่มขยายสาขา หรือ จับตลาดเนอร์สซิงโฮม ตามความเหมาะสม”

 

“ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ยังเติบโตไปได้อีกมาก เพราะตอนนี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนแก่จะอายุมากขึ้นเรื่อยๆ หากเราคาแรคเตอร์ชัด สร้างมาตรฐานได้ดี เราจะอยู่ได้ แม้ในตลาดที่เริ่มมีผู้เล่นรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ” เพ็ญศิริ กล่าวทิ้งท้าย

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

เมนูอาหาร 4 ระดับจาก Soft Food

 

เพราะหัวใจสำคัญของอาหาร คือ การที่สมาชิกทุกคนได้ทานอาหารในแบบที่เหมาะกับตัวเอง ร้าน Soft Food จึงแบ่งความนุ่มของเนื้อสัมผัสอาหารเพื่อให้ออกมาเป็นอาหารที่ย่อยง่ายดีต่อสุขภาพ ดังนี้ 

Level 1 :สามารถเคี้ยวได้ง่าย คนทั่วไปสามารถทานได้ เช่น เมนู Healthy Bowl อกไก่, Healthy Pumpkin Salad

Level 2 : มีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม สามารถใช้เหงือกบดอาหารกลืนได้ เช่น เมนู Donburi หมูตุ๋น, Donburi สตูว์หมูว์แดง,Donburi ฮังเลหมู, Ochatsuke หน้าไก่เทริยากิ เมนู Signature จาก Soft Food

Level 3 :สามารถใช้ลิ้นบดอาหารได้ เช่น เมนูข้าวตุ๋นซุปไก่มะเขือเทศ และข้าวตุ๋นพะโล้ สูตรลับเฉพาะของที่นี่ ใช้การเคี่ยวน้ำซุปกว่า 6 ชั่วโมงเพื่อให้ได้น้ำซุปที่หอม อร่อย

Level 4 :สามารถกลืนได้เลย โดยไม่ต้องเคี้ยว เช่น น้ำสมูตตี้ปั่นจากผักและผลไม้สด น้ำสกัดเย็นสูตรไม่เหมือนใครดีต่อสุขภาพพร้อมเสริมด้วย Collagen

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย

 

8 เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

 

Immunity Boosting คือ การเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายกลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ร่างกายอ่อนแอ เช่น การรับประทานกิมจิเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบย่อยอาหาร)

Personalized Nutrition คือ การออกแบบโภชนาการให้เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน โดยประเมินจากรูปแบบการใช้ชีวิต สุขภาพ และสารพันธุกรรม

Well-Mental Eating คือ การกินเพื่อสุขภาพจิตใจ ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ประกอบไปด้วยสารที่ช่วยลดความเสียหายของอนุมูลอิสระและการอักเสบของสมอง

Gastronomy Tourism คือ อาหารพื้นบ้าน หรืออาหารประจำถิ่น โดยการท่องเที่ยวเชิงอาหารนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเดินทาง นักท่องเที่ยว 53% มักเลือกสถานที่ท่องเที่ยวจากอาหารและเครื่องดื่ม

Elderly Food คือ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าปี 2025 ตลาดอาหารสำหรับผู้สูงอายุจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 25%

Biodiverse Dining คือ การรับประทานอาหารในหมวดหมู่เดียวกันที่มีความแตกต่างทางสายพันธุ์

Newtrition คือ โภชนาการรูปแบบใหม่ ที่จะช่วยลดการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในอนาคต โดยไม่บริโภคอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์ เลือกบริโภคเฉพาะอาหารที่มาจากผัก ผลไม้ และธัญพืช 100%

Food Waste Rescue คือ การแก้ปัญหาขยะอาหาร ซึ่งอาหารที่รับประทานในชีวิตประจำวันกลายเป็นขยะมากถึง 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก โดยจะมีอาหาร 30-50% ไม่ถูกรับประทาน สูญเสียไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : ว.การแพทย์บูรณาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ (CIM DPU)

 

ธุรกิจ \'อาหารเพื่อสุขภาพ\' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย