"โรคอ้วน" ภยันตรายก่อเกิดโรคร้ายโรคมะเร็ง

"โรคอ้วน" ภยันตรายก่อเกิดโรคร้ายโรคมะเร็ง

มะเร็งเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases หรือ NCDs) ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2563 องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ทั่วโลก จำนวน 19 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงถึง 27 ล้านคน ในปี 2573

KEY

POINTS

  • "ความอ้วน" เกิดมาจากเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) ที่มากเกินไปปล่อยสารต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง
  • เมื่อฮอร์โมนสูงขึ้น รับประทานเนื้อแดงเนื้อแปรรู เนื้อสัตว์เป็นประจำ ไม่ค่อยทานพัก ไม่ออกกำลังกาย พฤติกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคอ้วน และเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้ทั้งสิ้น
  • ​การป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง สามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยการดูแลน้ำหนักตัว ไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น การนอน การรับประทานอาหาร 

WHO รายงานตัวเลขผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของไทยอยู่ที่ 190,636 คน หรือเท่ากับว่าคนไทย 1 ใน 6 คนป่วยด้วยโรคมะเร็ง และเสียชีวิต 124,866 คนต่อปี หมายความว่า ทุกหนึ่งชั่วโมงมีคนเสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคมะเร็งสูงถึง 14 คน นับเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของไทย

หมอ เคยเล่าให้ฟังในตอนก่อนว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็ง เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น พันธุกรรม การได้รับสารพิษและสารเคมี พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง และเป็นภัยร้ายที่น่ากลัวคือ ความอ้วน

โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งถึง 13 ชนิด เช่น มะเร็งมดลูก 7 เท่า, มะเร็งหลอดอาหาร 4.8 เท่า, มะเร็งตับ 2 เท่า และมะเร็งลำไส้ 1.3 เท่า เป็นต้น โดย 3.9 % หรือ 544,300 รายของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกเกิดจากความอ้วน (เพศหญิง 368,500 ราย เพศชาย 175,800 ราย) และความอ้วนยังเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 17 % รวมถึงโอกาสที่มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ สูงขึ้น 13 %

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

5 เคล็ดลับต่อสู้โรคอ้วน กับ "หมอแอมป์ ตนุพล"

'คนอ้วน' ใช่ว่าไม่รักตัวเอง เข้าใจทุกมิติ ลดเสี่ยงเกิดโรค

โรคอ้วนคืออะไร

โรคอ้วนคือ ภาวะที่มีไขมันในร่างกายมากเกินไป ถูกคัดกรองด้วยดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยชาวเอเชียที่มีน้ำหนักเกินจะมี BMI ตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป และคนอ้วนจะมี BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป แต่การใช้ดัชนีมวลกายอาจไม่แม่นยำนักในการชี้วัดโรคอ้วน

หมอแนะนำให้ทำการวัดองค์ประกอบร่างกายด้วย การทำ DEXA Scan หรือชื่อเต็มว่า Dual-Energy X-ray Absorptiometry เพื่อดูมวลไขมัน โดยเกณฑ์ของ American Council On Exercise (ACE) ชาวเอเชียอายุ 20–50 ปี ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน 32 % และผู้ชายไม่ควรเกิน 25 %

อีกวิธีหนึ่งที่ใคร ๆ ก็สามารถทำเองได้ คือ การวัดเส้นรอบเอว เพราะสามารถบ่งบอกมวลไขมันที่สะสมบริเวณในช่องท้อง (Visceral fat) ได้ โดยเส้นรอบเอวในผู้ใหญ่เพศชายชาวเอเชียไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และผู้ใหญ่เพศหญิงชาวเอเชียไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)

\"โรคอ้วน\" ภยันตรายก่อเกิดโรคร้ายโรคมะเร็ง

ความอ้วนเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งได้อย่างไร

สาเหตุเกิดมาจากเนื้อเยื่อไขมัน (Adipose tissue) ที่มากเกินไปปล่อยสารต่าง ๆ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง ได้แก่

  • ระดับฮอร์โมนเพศสูงขึ้น

เช่น การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งสัมพันธ์กับความเสี่ยงมะเร็งเต้านม เยื่อบุโพรงมดลูก รังไข่ และมะเร็งอื่น ๆ ที่มากขึ้นตามไปด้วยการสร้างฮอร์โมนอดิโพไคน์ (Adipokines) ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ ตัวอย่างเช่น ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่สูงขึ้นเร่งการเพิ่มจำนวนเซลล์ที่ผิดปกติ ในทางตรงกันข้าม ฮอร์โมนอะดิโพเนคติน (Adiponectin) มีส่วนในการต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก 

ซึ่งคนที่มีภาวะอ้วนนั้นมีฮอร์โมนชนิดนี้น้อยกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติเนื้อเยื่อไขมันเป็นตัวการทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง (Chronic inflammation) เกิดเป็นความเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) จากอนุมูลอิสระ (Free radicals) ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายของ DNAการสร้างฮอร์โมนไขมันที่ผิดปกติส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยลดประสิทธิภาพการทำงานเซลล์เพชฌฆาต หรือ NK-cell (Natural Killer cell) เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งช่วยค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็งผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักมีระดับฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance) เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่สอง และอาจส่งเสริมการพัฒนาสู่มะเร็งลำไส้ใหญ่ ไต ต่อมลูกหมาก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การหันมาดูแลเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

  • เนื้อแดงเนื้อแปรรูปตัวร้าย

หากใครยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นดูแลเรื่องอาหารจากตรงไหน หมอแนะนำให้เริ่ม ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูป พยายามรับประทานให้น้อยที่สุด จากข้อมูลของแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งประจำองค์การอนามัยโลก (The International Agency for Research on Cancer; IARC) เนื้อแปรรูป (Processed Meat) เช่น ซาลามี่ แฮม ไส้กรอก เบคอน ลูกชิ้น กุนเชียง หมูยอ อยู่ในกลุ่มที่ 1 คือ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ มีหลักฐานเพียงพอว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร ส่วนเนื้อแดง (Red Meat) ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู จัดอยู่ในกลุ่ม 2A มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์

 สาเหตุมาจากสาร ‘ไนเตรท’ หรือ ‘ไนไตร์ท’ ที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อถนอมอาหาร แต่งสีและรสชาติ เมื่อเข้าไปในร่างกายจะเกิดเป็น สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) เป็นกลุ่มของสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทางด้านเนื้อแดงเองที่มี ฮีม (Heme Iron) ถูกย่อยสลายในลำไส้เกิดเป็นสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (NOCs) ได้เช่นกัน การปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้ งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า การบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปวันละ 50 กรัม หรือเพียงแค่ 3 ช้อนกินข้าว เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 18 % อีกทั้งการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปในปริมาณมาก เสี่ยงต่อน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2

  • หันมารับประทานผักเพิ่มขึ้น

การบริโภคอาหารจากพืชเป็นแนวทางที่ได้รับการยืนยันว่าช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง และช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะ ผักมีเส้นใย (Fiber) มีวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ อยู่มาก เพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเรา คำแนะนำคือ ลองให้ 50% ของมื้ออาหาร มีพืชผักหลากหลายชนิด เช่น กลุ่มถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วลูกไก่) เต้าหู้ขาว เทมเป้ ธัญพืชไม่ขัดสี ผักหลากสี และผลไม้ในปริมาณที่เหมาะสม

  •  ออกกำลังกายเป็นประจำ และเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ

นอกจากการออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคอ้วนแล้ว ยังช่วยลดฮอร์โมนอินซูลิน ที่เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีความสำคัญในการลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด โดยการศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 1-3 รายงานว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิค อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด 

สอดคล้องกับงานวิจัยที่ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3 ที่แสดงถึงผลของการมีกิจกรรมทางกายที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งได้ถึง 40 % และลดอัตราการเสียชีวิตได้ 63 %

​ดังนั้น การออกกำลังกายจึงควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน ลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ควบคุมฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง และลดการสัมผัสต่อสารก่อมะเร็งในทางเดินอาหาร

​การป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง สามารถเริ่มต้นทำได้ด้วยการดูแลน้ำหนักตัว ไปพร้อมกับการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ อย่างการนอนหลับที่ดี การจัดการอารมณ์ความเครียด และการหลีกเลี่ยงสารอันตราย บุหรี่แอลกอฮอล์ และ ฝุ่น PM2.5 เพื่อการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนครับ

———————————————————————————————

แหล่งอ้างอิง

1. World Cancer Research Fund Diet, Nutrition, Physical Activity and Cancer. A Global Perspective. [(accessed on 1 September 2022)]. Available online: https://www.wcrf.org/wp-content/uploads/2021/02/Summary-of-Third-Expert-Report-2018.pdf

2. Bouvard V, Loomis D, Guyton KZ, Grosse Y, Ghissassi FE, Benbrahim-Tallaa L, et al. Carcinogenicity of consumption of red and processed meat. The Lancet Oncology. 2015;16(16):1599-600.

3. Rouhani M, Salehi‐Abargouei A, Surkan P, Azadbakht L. Is there a relationship between red or processed meat intake and obesity? A systematic review and meta‐analysis of observational studies. Obesity Reviews. 2014;15(9):740-8.

4. Brown JC, Rhim AD, Manning SL, Brennan L, Mansour AI, Rustgi AK, Damjanov N, Troxel AB, Rickels MR, Ky B, Zemel BS. Effects of exercise on circulating tumor cells among patients with resected stage I-III colon cancer. PloS one. 2018 Oct 17;13(10):e0204875.

5. Brown JC, Gilmore LA. Physical activity reduces the risk of recurrence and mortality in cancer patients. Exercise and sport sciences reviews. 2020 Apr 1;48(2):67-73.

6. Meyerhardt JA, Heseltine D, Niedzwiecki D, Hollis D, Saltz LB, Mayer RJ, Thomas J, Nelson H, Whittom R, Hantel A, Schilsky RL. Impact of physical activity on cancer recurrence and survival in patients with stage III colon cancer: findings from CALGB 89803. J Clin Oncol. 2006 Aug 1;24(22):3535-41.

7. Regmi S, Fu A, Luo KQ. High shear stresses under exercise condition destroy circulating tumor cells in a microfluidic system. Scientific reports. 2017 Jan 5;7(1):39975.