รู้จัก "มะเร็งหัวใจ" สังเกตอาการ วินิจฉัย รักษาอย่างไร

รู้จัก "มะเร็งหัวใจ" สังเกตอาการ วินิจฉัย รักษาอย่างไร

"โรคมะเร็งหัวใจ" นับเป็น โรคมะเร็งที่เราไม่ค่อยได้ยินกันมากนัก แม้จะพบผู้ป่วยทั่วโลก แต่ก็มีจำนวนที่น้อยมาก อีกทั้ง ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรค และ ปัจจัยเสี่ยง แล้วเราจะสังเกตอาการตัวเองอย่างไร ให้สามารถรักษาได้ทัน

มะเร็งหัวใจ (Cardiac cancer หรือ Heart cancer)  ถือเป็นโรคที่พบได้ทั่วโลกในทุกอายุ แต่พบได้น้อยมาก  โดยเฉพาะในเด็ก ส่วนใหญ่ในวัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ หญิงและชายพบได้ใกล้เคียงกัน และเนื่องจากพบได้น้อย ปัจจุบันจึงยังไม่ทราบสาเหตุเกิด รวมถึงยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรค ส่วนมากแพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น เช่น ปอด เต้านม ลำไส้ เป็นต้น 

 

นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งหัวใจเองส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดเลือดที่เรียกว่า Angiosarcoma ส่วนที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจเรียกว่า Rhabdomyosarcoma ซึ่งมะเร็งหัวใจของทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่ค่อยตอบสนองต่อการฉายแสงและยาเคมีบำบัด จึงต้องใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเอามะเร็งออกให้หมด

 

โรคมะเร็ง หัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

 

  • มะเร็งหัวใจปฐมภูมิ ได้แก่ มะเร็ง Angiosarcoma, Rhabdomyosarcoma, Fibrosarcoma, Malignant schwannoma, Mesothelioma
  • มะเร็งหัวใจทุติยภูมิ (Secondary cardiac cancer หรือ Metastatic cardiac cancer) ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา มะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น

 

อาการของมะเร็งหัวใจ

 

ทั่วไปไม่มีอาการเฉพาะ แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับอาการของโรคหัวใจทุกโรค ร่วมกันกับอาการของโรคมะเร็งทุกๆชนิด

อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจที่เป็นอาการเหมือนโรคหัวใจทั่วไป 

  • เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะจะเหนื่อยมากขึ้นเมื่อมีการออกแรง
  • ไอมีเสมหะ มักเป็นเสมหะสีขาว
  • บวมรอบตา
  • บวมเนื้อตัว
  • ขา เท้า บวม
  • ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง
  • ขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นช้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด


 

 

อาการพบบ่อยของมะเร็งเกิดที่หัวใจด้านซ้าย

ห้องด้านซ้ายของหัวใจมีหน้าที่หลักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เมื่อมีก้อนเนื้อในห้องด้านซ้ายจะก่อให้เกิดการอุดตันในกระบวนการสูบฉีดโลหิต อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • เหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเมื่อออกแรง/ เคลื่อนไหว
  • อาการของหัวใจวาย

 

อาการพบบ่อยของมะเร็งเกิดที่หัวใจด้านขวา

ห้องด้านขวาของหัวใจมีหน้าที่รับเลือดดำจากทุกอวัยวะทั่วร่างกายแล้วส่งต่อไปยังปอดเพื่อคายคาร์บอนไดออกไซด์ จากเลือดดำให้ออกนอกร่างกายทางการหายใจออก และฟอกเลือด/รับออกซิเจนจากอากาศ/การหายใจเข้า มาแทนที จากนั้นจึงส่งกลับเลือดแดงมายังหัวใจด้านซ้าย อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจด้านขวา คือ

  • ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งหัวใจด้านขวา อาจเพียงเหนื่อยง่าย และไม่ค่อยเป็นสาเหตุเกิดหัวใจวาย

 

อาการพบบ่อยของมะเร็งหัวใจที่เกิดที่หลอดเลือดแดงปอดส่วนที่จะออกจากหัวใจด้านขวา

เป็นตำแหน่งพบเกิดมะเร็งได้น้อยมาก ทั่วโลกมีรายงานประมาณ 250 ราย อาการพบบ่อยคือ

  • หายใจลำบาก
  • มีอาการของภาวะสิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด
  • มีอาการของความดันหลอดเลือดปอดสูง

 

อาการทั่วไปของโรคมะเร็งที่พบบ่อย 

  • อ่อนเพลีย
  • รู้สึกมีไข้ต่ำๆ
  • เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะเหงื่อออกกลางคืน
  • ผอมลงมาก โดยไม่ทราบสาเหตุ

 

การวินิจฉัย 

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค รวมถึงยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคที่แน่ชัด โดยอาการของมะเร็งหัวใจมักจะมาด้วยอาการเหล่านี้ ได้แก่ เหนื่อยง่าย หอบ ไอเรื้อรัง มีไข้ต่ำๆ หน้าบวม คอบวม หลอดเลือดดำที่คอโป่ง ตับโต ท้องมานเพราะมีน้ำในช่องท้อง หรือขาบวมกดบุ๋มทั้งสองข้าง 

 

สำหรับการตรวจวินิจฉัยมะเร็งหัวใจทำได้โดยการตรวจประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญคือ ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจสัญญาณชีพ การตรวจฟังเสียงเต้นของหัวใจด้วยหูฟัง การตรวจร่างกาย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอคโคหัวใจ

 

การตรวจสืบค้นอื่นๆ เพิ่มเติมตามดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งเป็นการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การตรวจภาพหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และหรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI) การตรวจภาพและหลอดเลือดหัวใจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดแดง (Cardiac angiography) และการตรวจก้อนเนื้อหรือรอยโรคด้วยการดูดเซลล์มาตรวจที่เรียกว่า การตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

มะเร็งหัวใจรักษาอย่างไร 

 

มะเร็งกลุ่มนี้ตอบสนองต่อการฉายแสง และยาเคมีบำบัดไม่ดี จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดถ้าทำได้ โดยปกติผนังหัวใจด้านขวาบนและล่างอาจตัดออกได้ แต่ถ้าลุกลามมาถึงหลอดเลือดแดงหัวใจ ก็อาจต้องต่อทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจจึงจะเป็นการปลอดภัยต่อชีวิตคนไข้ป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลักของการผ่าตัดต้องผ่าตัดมะเร็งออกให้หมด มิฉะนั้นมะเร็งจะลุกลามมาใหม่


ในระยะเวลาอันสั้นมาก การฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดยับยั้งการกลับมาของมะเร็งที่ตัดไม่หมดได้น้อยมาก เพราะฉะนั้นโอกาสหายขาดก็จะมีเพียงทางเดียว คือ ต้องตัดมะเร็งออกให้หมด ในคนไข้บางราย ที่มะเร็งอยู่ที่ผนังหัวใจห้องขวาบนหรือซ้ายบน อาจลุกลามที่ลิ้นหัวใจหรือหลอดเลือดแดงหัวใจบางส่วนก็อาจตัดออกได้โดยต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจและทดแทนผนังด้านนอกหัวใจห้องบนด้วยเยื่อบุหัวใจของคนไข้เอง หรือที่นำมาจากสัตว์ เช่น เยื่อบุหัวใจวัวซึ่งมีบริษัทผลิตมาจำหน่ายทางการแพทย์

 

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเป็นมะเร็งหัวใจ

 

การดูแลตนเองของผู้ป่วยมะเร็งหัวใจ เช่นเดียวกับการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด

 

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด

 

  • เมื่ออาการต่างๆ เลวลง
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก
  • กังวลในอาการ

 

การพยากรณ์โรค "มะเร็งหัวใจ"

  • ผลการรักษาจะขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • การลุกลามของโรค/ระยะโรค
  • การผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด
  • และการตอบสนองของเซลล์มะเร็งต่อยาเคมีบำบัด
  • ในภาพรวม ทั่วไป ผู้ป่วยมะเร็งหัวใจ มักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 5-6 เดือน
  • แต่ถ้ากรณี ที่โรคยังลุกลามอยู่เฉพาะในหัวใจ ยังไม่แพร่กระจาย และผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หมด มีรายงานผู้ป่วยรอดชีวิตได้ประมาณ 15-25 เดือน

 

 

อ้างอิง : รพ.บำรุงราษฎร์ , หาหมอ , กรมการแพทย์