"วันมะเร็งโลก" กับนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็ง

"วันมะเร็งโลก" กับนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็ง

4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล (UICC) ได้กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็ง โรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) และสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล (UICC) ได้กำหนดให้เป็น วันมะเร็งโลก เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ โรคมะเร็ง โรคร้ายที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับต้น ๆ ของคนทั่วโลกและยังคงเป็นความท้าทายของวงการแพทย์มาอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติพบว่า ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว 10 ล้านคนทั่วโลก และนี่เป็นเหตุผลที่บริษัทยายักษ์ใหญ่ และองค์กรทางการแพทย์จากหลากหลายประเทศทั่วโลกต่างเร่งวิจัยและพัฒนา ตั้งแต่วิธีการวินิจฉัยโรค ไปจนถึงยารักษาเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็ง เช่น Pfizer บริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ที่มียา Ibrance สำหรับรักษามะเร็งเต้านม และยา Xalkori สำหรับรักษามะเร็งปอด บริษัท Roche บริษัทยาจากสวีเดนที่มียาสำหรับรักษาโรคมะเร็งที่หลากหลาย ตั้งแต่ Herceptin สำหรับรักษามะเร็งเต้านม และ Avastin ที่ใช้รักษามะเร็งได้หลายชนิด ตั้งแต่มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งไต

ล่าสุด BioNTech บริษัทยาสัญชาติเยอรมัน กำลังเร่งพัฒนา วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง ด้วยเทคโนโลยี mRNA ที่เรารู้จักกันดีจากวัคซีนโควิด ซึ่งเดิมที BioNTech วิจัยและพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อใช้สำหรับป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เทคโนโลยี mRNA จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างเร่งด่วน โดยหลักการทำงานของวัคซีน mRNA คือ เมื่อฉีดวัคซีน mRNA เข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะสร้างโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายกับโปรตีนหนามของเชื้อโควิด แต่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมาต่อสู้กับเชื้อโควิดได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับที่จะนำมาใช้เพื่อ รักษาโรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยี mRNA แตกต่างจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ตรงที่หากเป็นเคมีบำบัดจะไม่สามารถแยกได้ว่าให้โจมตีเฉพาะเซลล์มะเร็ง แต่จะเป็นการโจมตีเซลล์อื่นที่ไม่ผิดปกติไปด้วย และแน่นอน ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดจะค่อนข้างมาก เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย มีจุดเลือดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้ร่างกายอ่อนแอลงและอาจไม่สามารถรับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ แต่การรักษาแบบ mRNA จะมีความเฉพาะเจาะจงกว่า เพราะจะต้องนำรหัสพันธุกรรมจากเซลล์มะเร็งของแต่ละบุคคลมาฉีดเพื่อให้ร่างกายเรียนรู้และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อสู้กับเชื้อนั้น

โดยเฉพาะ BioNTech จะเริ่มทำการทดลอง รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วย mRNA ในสหราชอาณาจักรเป็นประเทศแรก โดยจะเริ่มในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ และตั้งเป้าจะรักษาได้ราว 10,000 ภายในปี 2030 การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้ BioNTech เข้าใจการทำงานของ mRNA มากขึ้น และสามารถผลิตวัคซีนได้เร็วขึ้น ซึ่งหากการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วย mRNA ประสบผลสำเร็จ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการแพทย์ทั่วโลก และจะสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อีกจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วย เทคโนโลยี mRNA ที่ใช้วิธีการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยแต่ละราย ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษามีโอกาสที่จะอยู่ในระดับสูง ซึ่งเราสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการทำประกันสุขภาพ โดยปัจจุบันมี ประกันคุ้มครองโรคมเร็ง โดยเฉพาะ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพให้ได้มากที่สุด

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ณัฐพร ธรวงศ์ธวัช AFPT Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้