พักก่อน! ประชุมเยอะติดๆ กัน เสี่ยงสมองเหนื่อยล้า เครียดสูง โฟกัสงานไม่ได้

พักก่อน! ประชุมเยอะติดๆ กัน เสี่ยงสมองเหนื่อยล้า เครียดสูง โฟกัสงานไม่ได้

"ชาวออฟฟิศ" ที่มีประชุมเยอะติดๆ กันหลายรอบต่อวัน ต้องพักก่อน! รู้ไหม? นอกจากจะทำให้สมองเหนื่อยล้า และไม่สามารถโฟกัสได้ ยังไปเพิ่มระดับความเครียดสะสมในสมอง จนอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องกับสุขภาพจิต

หลายคนลงความเห็นว่า หนึ่งในความทรมานของการเป็น “มนุษย์ออฟฟิศ” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การประชุมที่มากเกินจำเป็น ซึ่งบางครั้งอาจกินเวลาทำงานระหว่างวันไปจนหมด ทำให้ในวันนั้นๆ ไม่ได้งานเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากจะทำให้เกิดงานค้างสะสมแล้ว การอัดประชุมติดๆ กันหลายรอบ (โดยเฉพาะการประชุมออนไลน์) ภายในวันเดียว ส่งผลเสียต่อระบบประสาทและสมองมากกว่าที่คิด

ยืนยันด้วยงานวิจัยจาก Human Factors Lab ของ Microsoft ที่ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของสมองในขณะที่คนเราประชุมติดๆ กันหลายรอบโดยไม่พัก ซึ่งทำการทดสอบกับอาสาสมัคร 14 คน โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 วัน

ในวันแรกให้กลุ่มผู้ร่วมทดลองเข้าประชุมผ่านทางวิดีโอ 4 ครั้งๆ ละ 30 นาที โดยไม่พัก จากนั้นในวันที่สองก็ให้เข้าประชุมผ่านทางวิดีโอ ในจำนวนครั้งและระยะเวลาเท่าเดิม แต่ให้เพิ่มการพักระหว่างประชุมครั้งละ 10 นาที และทำกิจกรรมผ่อนคลายสมองด้วยแอปฯ Headspace แล้วจึงค่อยเริ่มประชุมครั้งถัดๆ ไป ทั้งนี้ กลุ่มผู้ร่วมทดสอบจะสวมเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ระหว่างทำการทดสอบด้วย

โดยผลการวิจัยเชิงเปรียบเทียบครั้งนี้ แสดงให้เห็นสิ่งที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นกับสมองของคนเราขณะประชุมติดๆ กันหลายรอบต่อวัน โดยเห็นผลแตกต่างกันของการประชุมทั้งสองวันอย่างชัดเจน 3 ประการ ได้แก่ 

1. การพักระหว่างประชุมช่วยให้สมองรีเซ็ต และลด “ความเครียดสะสม” ได้

ในการทดลองวันแรกที่ให้ประชุม 4 ครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 2 ชั่วโมงนั้น ผลการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองพบว่า กิจกรรมเฉลี่ยของคลื่นเบต้าซึ่งเกี่ยวข้องกับความเครียดในสมองจะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือพูดงว่ายๆ ก็คือมันทำให้เกิด “ความเครียดสะสม

แต่เมื่อผู้เข้าร่วมได้รับโอกาสในการพักผ่อน 10 นาที ก่อนจะเข้าประชุมครั้งถัดไป ก็พบว่ากิจกรรมคลื่นเบต้าในสมองก็ลดลง แปลว่าความเครียดสะสมในสมองลดลงตามไปด้วย ทำให้สมอง “รีเซ็ต” ได้ หมายความว่าผู้เข้าร่วมเริ่มการประชุมครั้งต่อไปในสภาวะที่ผ่อนคลายมากขึ้น จึงสรุปได้ว่า “สมองของคุณจะทำงานแตกต่างออกไปเมื่อคุณหยุดพักระหว่างการประชุม”

2. การประชุมติดๆ กันแบบไม่พัก ทำให้สมองโฟกัสไม่ได้ ไม่มีสมาธิ 

ในการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองนั้น ยังทำให้พบว่าในขณะที่ประชุมติดๆ กันแบบไม่พักนั้น ทำให้คลื่นสมองส่วนหน้าหยุดนิ่ง ซึ่งแปลว่าสมองเหนื่อยล้าจนไม่โฟกัสเนื้อหาใดๆ แต่เมื่อผู้ร่วมทดลองได้พักผ่อนคั่นระหว่างประชุม ก็พบว่าในช่วงการประชุมคลื่นสมองส่วนหน้าพุ่งขึ้นสูง แปลว่ามีการโฟกัสเนื้อหาได้และมีส่วนร่วมในการประชุมได้ดี จึงทำงานได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อสมองประสบกับความเครียด การมีสมาธิและการมีส่วนร่วมจะทำได้ยากขึ้น

พักก่อน! ประชุมเยอะติดๆ กัน เสี่ยงสมองเหนื่อยล้า เครียดสูง โฟกัสงานไม่ได้

3. เมื่อจบการประชุมหนึ่งแล้วเข้าประชุมถัดไปทันที โดยไม่พัก อาจเป็นสาเหตุของความเครียดสูง

นักวิจัยสังเกตเห็นว่าผู้เข้าร่วมทดลองที่ประชุมติดๆ กันแบบไม่พัก มีระดับความเครียดพุ่งสูงขึ้นขณะที่จะเปลี่ยนเข้าสู่การประชุมครั้งถัดไป นั่นอาจเป็นเพราะว่า เมื่อคุณกำลังจะสิ้นสุดการประชุมครั้งที่ 1 โดยรู้ว่าคุณมีการประชุมครั้งที่ 2 3 4 กำลังจะมาถึง ทำให้คุณจะต้องเปลี่ยนโฟกัสใหม่และใช้สมองคิดอย่างหนักเกี่ยวกับสิ่งอื่นจนทำให้ยิ่งรู้สึกเครียดและกังวล

สะท้อนจากผลตรวจที่พบว่ากิจกรรมคลื่นเบต้าในสมองจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตอนเริ่มต้นและสิ้นสุดการประชุม โดยไม่มีการหยุดพัก ซึ่งบ่งชี้ถึงความเครียดที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การหยุดพักสักครู่ระหว่างประชุมจึงช่วยป้องกันความเครียดที่พุ่งสูงขึ้น และทำให้สมองทำงานได้อย่างราบรื่น โฟกัสได้ดี มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

นักวิจัยสรุปได้ว่า ความเครียดที่เกิดจากการประชุมนานๆ ถี่ๆ แบบไม่พักนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นนามธรรม แต่ตรงกันข้าม มันมีการแสดงผลทางวิทยาศาสตร์ของความเครียดและความเหนื่อยล้าที่ผู้คนได้รับจากพฤติกรรมเหล่านี้อย่างชัดเจนและตรวจวัดได้จริง

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องยกเลิกการประชุม เพราะอย่างไรก็ตามการประชุมทีมก็มีความจำเป็นและเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานทุกสายงาน แต่ควรจะมีการปรับเวลาให้เหมาะสมขึ้น โดยทีมนักวิจัยมีข้อแนะนำและแนวทางปฏิบัติ สำหรับ “ชาวออฟฟิศ” ในการผ่อนเวลาในการประชุม นั่นคือ ตั้งกรอบเวลาการประชุมใหม่ ลดเวลาการประชุมแต่ลงครั้งละ 5-10 นาที เพื่อให้มีช่วงเวลาพักสมองก่อนที่จะเริ่มประชุมวงถัดไป

พักก่อน! ประชุมเยอะติดๆ กัน เสี่ยงสมองเหนื่อยล้า เครียดสูง โฟกัสงานไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น อาจปรับเวลาการประชุมจาก 30 นาทีลดลงเหลือ 25 นาที หรือ หากเดิมเคยใช้เวลาประชุม 1 ชั่วโมงให้ตัดทอนเวลาสั้นลงเหลือ 55 นาที นั่นหมายถึงการประชุมครึ่งชั่วโมงที่เริ่มเวลา 11.00 น. จะกลายเป็นการประชุม 25 นาทีที่เริ่มเวลา 11.05 น. เป็นต้น

ไม่ใช่แค่การวิจัยทางสมองเท่านั้นที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ที่ผ่านมาก็มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ค้นพบว่าผู้คนยุคหลังโควิด กำลังเผชิญปัญหาในโลกการทำงานที่เรียกว่า “Digital Overload” ที่เกิดขึ้นกับการทำงานในรูปแบบ Work from home หรือการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งวัยทำงานบางกลุ่มระบุว่าพวกเขารู้สึกว่าทำงานหนักเกินไป และอีกหลายคนบอกว่าตนเองหมดแรงโดยสิ้นเชิง

ดังนั้น การพักผ่อนระหว่างวันทำงาน หรือพักสมองสักครู่ก่อนที่จะประชุมในรอบถัดไป จึงมีความสำคัญต่อสุขภาพวัยทำงานและชาวออฟฟิศทุกคน เพื่อทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพ ขจัดความเครียดสะสม ลดผลกระทบจากความสนใจตกค้างจากการประชุมก่อนหน้านี้ และช่วยให้มีพลังในการทำงานมากขึ้นด้วย

---------------------------------------

อ้างอิง : MicrosoftSahil Bloom