"คุณแม่ป้ายแดงต้องรู้"....ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

"คุณแม่ป้ายแดงต้องรู้"....ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

เมื่อเหล่าคุณแม่ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์แล้วนั้น สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การฝากครรภ์กับโรงพยาบาล ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะได้รับการตรวจติดตามการตั้งครรภ์ สุขภาพของลูกน้อยและคุณแม่ รวมถึงป้องกันและค้นหาโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อย

คุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่เพิ่งรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ อย่าลืมไปฝากครรภ์กัน เพราะว่าที่คุณแม่ป้ายแดงที่เป็นท้องแรก ยังไม่มีประสบการณ์ คงมีคำถามมากมายว่าต้องเตรียมตัวไปฝากครรภ์อย่างไรบ้าง เอกสารที่ใช้ ฝากครรภ์ครั้งแรกควรต้องตรวจอะไร วันนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวมทุกข้อสงสัยสำหรับคุณแม่ไว้เตรียมพร้อม

  • ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร?

"การฝากครรภ์"  เป็นการดูแลสุขภาพครรภ์ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงก่อนคลอด โดยว่าที่คุณแม่มือใหม่ที่เริ่มตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ และเข้ารับการตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ

การฝากครรภ์ถือว่าสำคัญมากเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด ไม่จำกัดแค่ว่าท้องแรก แต่ไม่ว่าจะเป็นท้องที่ 2 หรือ 3 ก็ควรต้องฝากครรภ์ทั้งสิ้น เพราะแพทย์จะช่วยดูแลให้สุขภาพของผู้ตั้งครรภ์และทารกแข็งแรงปลอดภัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์อย่างถูกต้อง การปฏิบัติตัวต่างๆ ในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งนี้การฝากครรภ์จะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ และสามารถรักษาได้ทันเวลา เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคลมชัก ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: อาหารช่วยเพิ่มน้ำนม..ใหญ่เล็ก เกี่ยวหรือไม่? กับปริมาณน้ำนม

                       โรงเรียนพ่อแม่ เพื่อลูกรัก "สุขภาพดี สมองดี อารมณ์ดี มีความสุข"

                       เคล็ดไม่ลับ..สำหรับ "คุณแม่" ที่อยากมีลูกน้อย

                      "วันแม่แห่งชาติ" วันหยุดยาว เช็กจุด-โซนจอดรถฟรี 5 วัน สนามบินสุวรรณภูมิ

                      "การ์ดวันแม่" ชี้เป้ารวมเว็บไซต์ออกแบบทำเองได้ง่ายๆ ฟรี

 

 

  • เมื่อสงสัยว่าตั้งครรภ์ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเองได้โดยการใช้อุปกรณ์ทดสอบการตั้งครรภ์ก่อนได้  และถ้าทราบว่าตั้งครรภ์แล้ว ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์ ว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ และมีอายุครรภ์เท่าไร โดยคุณหมอจะทำการซักประวัติและทำการอัลตราซาวนด์เพื่อดูอายุครรภ์

ทั้งนี้ ประโยชน์ของการฝากครรภ์ มีดังนี้ 

1. เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณแม่  โดยหวังจะทำให้คุณแม่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด เพราะหมอจะให้คำแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติในระหว่างการตั้งครรภ์

2.เพื่อตรวจสอบดูว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติหรือไม่  เพราะหมอจะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้ เช่น ครรภ์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ซิฟิลิส ติดเชื้อเอดส์ ฯลฯ รวมทั้งตรวจดูว่าท่านอนของลูกน้อยในครรภ์ดูผิดปกติหรือไม่ 

3.ช่วยป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์  เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติและคลอดลูกได้ตามปกติมากที่สุด  

4.ช่วยป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์  เพราะการฝากครรภ์นั้นสามารถช่วยลดอัตราการแท้งบุตร การคลอดลูกก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดลูกแล้วเสียชีวิตได้มาก และยังช่วยป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อยได้อีกด้วย

5. ช่วยดูแลทารกในครรภ์  ทำให้ลูกน้อยในครรภ์เติบโตสมบูรณ์ แข็งแรง และมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม

 

  • การเตรียมตัวไปฝากครรภ์

ในเรื่องของการฝากครรภ์สำหรับคุณแม่ป้ายแดง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาเลย คือ ควรไปฝากครรภ์ที่ไหนดีนะ ซึ่งหลักเกณฑ์ในการเลือกสถานที่นั้นไม่ได้กำหนดเอาไว้ตายตัว แต่สามารถพิจารณาตามความเหมาะสม และความสะดวก ได้ดังนี้

1. เลือกสถานที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อความสะดวกในการเดินทางเวลามีเหตุฉุกเฉิน

2. ฝากครรภ์กับคุณหมอที่เราไว้ใจ โดยพิจารณาจาก ประสบการณ์ของแพทย์ ประวัติการทำงาน

3. รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชนเลือกตามงบประมาณและความต้องการความสะดวกสบาย

สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก

1. บัตรประชาชนของคุณแม่ และคุณพ่อ

2. ประวัติการเจ็บป่วย การแพ้ยา การคลอดลูก โรคประจำตัว การแท้งบุตร ประวัติความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม

3.ข้อมูลการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

ฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอตรวจอะไรบ้าง ?

เมื่อเราไปฝากครรภ์ครั้งแรก จะมีการตรวจร่างกาย สุขภาพครรภ์ ดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะ สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปฝากครรภ์ ก็คือการตรวจปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะบ้างหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ และดูว่ามีโปรตีนหรือไม่ ถ้ามีจะบ่งว่าไตทำงานไม่ปกติ ถ้าตรวจพบในช่วงหลังของครรภ์ร่วมกับมีความดันโลหิตสูง แสดงว่ามีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีอาการครรภ์เป็นพิษ
  • ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง จะมีการวัดส่วนสูง ซึ่งเป็นการบอกคร่าวๆ ถึงขนาดเชิงกราน ถ้าคุณแม่ตัวเล็ก ก็อาจทำให้คลอดยากได้ ถ้าไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก และคุณแม่อาจต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้งเมื่อมาฝากครรภ์ เพื่อดูว่าน้ำหนักเพิ่มตามเกณฑ์หรือไม่
  • ตรวจเลือด เมื่อไปฝากครรภ์ คุณแม่จะต้องถูกเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับประมาณ 10 ซีซี.เพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือดโรคเลือดธาลัสซีเมีย และตรวจหาโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส หัดเยอรมัน และเอดส์
  • วัดความดันโลหิต จะมีการวัดความดันโลหิตทุกครั้งที่มาฝากครรภ์ โดยจะมีตัวเลข 2 ค่าค่าแรกเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัวดัน ให้โลหิตสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ส่วนค่าหลังเป็นความดันโลหิต ขณะที่หัวใจคลายตัวค่าความดันปกติจะราว 120/70 มิลลิเมตรปรอท และหากวัดค่าได้เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
  •  ตรวจทางหน้าท้อง หรือ อัลตราซาวด์ การฝากครรภ์จะมีการตรวจหน้าท้องของคุณแม่เพื่อดูท่าของทารกว่าอยู่ท่าใด ส่วนนำเป็นศีรษะหรือไม่ ประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพื่อตรวจให้แน่ใจว่าท่าของทารกไม่เป็นอันตรายต่อตัวทารกเองและตัวคุณแม่เองด้วย

เมื่อตรวจเสร็จเรียบร้อยคุณแม่ตั้งครรภ์จะรับวิตามินหรือยาบำรุงร่างกายคุณแม่ พร้อมกลับมาฝากครรภ์ตามนัด โดยแพทย์จะนัดให้มาตรวจครรภ์โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส โดยจะมีการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

ช่วงไตรมาสที่ 1 (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)

แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน โดยมีการตรวจดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะหรือเลือกเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
  • ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดหรือกระเพราะปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี หมู่เลือดและคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย)
  • ตรวจเลือดมารดาเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจเลือดวัดสารเคมีบ่งชี้ทารกดาวน์ซินโดรม
  • ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อกำหนดอายุครรภ์ และคัดกรองความผิดปกติของทารกเบื้องต้น

ไตรมาสที่ 2 (อายุครรภ์ 15-28 สัปดาห์)

แพทย์จะนัดตรวจทุก 1 เดือน โดยมีการตรวจดังนี้

  • ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (กรณีมีความเสี่ยง)
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อดูเพศของทารก และดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

ไตรมาสที่ 3 (อายุครรภ์ 29-42 สัปดาห์)

แพทย์จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ โดยมีการตรวจดังนี้

  • สอนนับลูกดิ้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
  • ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี และความเข้มข้นของเลือด)
  • ตรวจอัลตราซาวด์เพื่อคำนวนน้ำหนักตัวและตรวจสุขภาพทารกในครรภ์

ทั้งนี้ การตรวจครรภ์ในระยะสัปดาห์ท้ายๆ ของการตั้งครรภ์ จะตรวจดูเพื่อให้แน่ใจว่าศีรษะของทารกลงสู่อุ้งเชิงกรานของแม่แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อทารกและคุณแม่เอง คุณแม่จึงควรไปฝากครรภ์ทันทีที่รู้ว่ามีการตั้งครรภ์

  • รู้หรือไม่ว่า? สมุดฝากครรภ์สำคัญอย่างไร

ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์คุณหมอจะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกายของคุณแม่อย่างละเอียด โดยผลการตรวจทุกอย่างจะถูกบันทึกลงในสมุดฝากครรภ์ หรือใบฝากครรภ์ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประจำตัว หรือบัตรประชาชนของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรนำบัตรนี้ติดตัวไปด้วยเสมอ เมื่อต้องเดินทางไกลๆ หากเกิดภาวะฉุกเฉินจนต้องเข้าโรงพยาบาล

คุณหมอจะได้ดูแลรักษาคุณแม่ได้ถูกต้อง ตามข้อมูลที่บันทึกไว้ในสมุด แต่ถ้าคุณแม่ไม่มีสมุดฝากครรภ์พกติดตัวมาด้วย คุณหมอก็จะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคุณแม่ ไม่ทราบว่าคุณแม่มีปัญหาอะไรหรือไม่ รักษามาอย่างไร และมีผลเลือดอย่างไร ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ต้องเจาะเลือดใหม่และทำให้เสียเวลาได้

อ้างอิง:รพ.นครธน ,รพ.ศิครินทร์, รพ.เวชธานี