"อาหารคนท้อง" เลือกอย่างไร ให้เหมาะสมตามช่วง "อายุครรภ์"

"อาหารคนท้อง" เลือกอย่างไร ให้เหมาะสมตามช่วง "อายุครรภ์"

"หญิงตั้งครรภ์" ต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อให้สุขภาพทั้งแม่และลูกน้อยในครรภ์แข็งแรง ขณะเดียวกัน "อายุครรภ์" ในแต่ละช่วง ยังต้องการสารอาหาร การบำรุงที่แตกต่างกันอีกด้วย

ข้อมูล โภชนาการ หญิงตั้งครรภ์ โดย ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลศิริราช อธิบายว่า หญิงตั้งครรภ์จะมีความต้องการพลังงานและสารอาหารมากกว่าคนปกติ เพื่อจะนำไปสร้างเนื้อเยื่อของร่างกายและการเจริญเติบโตของทารก รวมทั้งบำรุงร่างกายของคุณแม่ ดังนั้น สารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ต้องการ ได้แก่ 

พลังงาน

  • หญิงตั้งครรภ์ ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 300 กิโลแคลอรี่ต่อวันโดยจะได้รับพลังงานรวม ประมาณ 2,000-2,300 กิโลแคลอรี่ต่อวัน

โปรตีน

  • มีมากในเนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ผลิตภัณฑ์นมและไข่ ถ้าขาดจะทำให้การเจริญเติบโตของทารกไม่เป็นปกติ การพัฒนาสมองไม่สมบูรณ์

แร่ธาตุเหล็ก

  • มีมากในเลือด ตับ เนื้อสัตว์ ไข่ ถ้าขาดทำให้แม่เป็นโลหิตจางมีผลกระทบต่อการพัฒนาสมองของทารก

ไอโอดีน

  • มีมากในอาหารทะเล เกลือเสริมไอโอดีน ถ้าแม่ขาดจะทำให้การพัฒนาสมองทารกผิดปกติ หูหนวกเป็นใบ้ การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน

วิตามินโฟเลท

  • มีมากในตับ และผักใบเขียว เช่น กุ่ยช่าย หน่อไม้ฝรั่ง หญิงตั้งครรภ์ต้องการโฟเลทเพื่อการสร้างเซลล์สมองของทารก โดยเฉพาะระยะครรภ์ช่วงเดือนแรก

แคลเซียม

  • สร้างการเจริญเติบโตและส่งเสริมการสร้างกระดูกในครรภ์มารดา อาหารที่มีแคลเซียมมากได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จาก นม ปลาเล็กปลาน้อย

แต่ละช่วง "อายุครรภ์" เลือกทานอาหารอย่างไร

 

สำหรับ การเลือกทานอาหารในแต่ละช่วง "อายุครรภ์" นั้น มีความแตกต่างกันไป โดยข้อมูลจาก "กรมอนามัย" มีคำแนะนำ ดังต่อไปนี้ 

 

อายุครรภ์ 0-3 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสแรก)
 

อายุครรภ์ ในช่วงนี้ทารกเริ่มมีการสร้างอวัยวะ แต่ยังไม่มีการขยายขนาดของร่างกายมากนัก น้ำหนักตัวคุณแม่อาจเพิ่มขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้อง ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงไปบ้าง พลังงานสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับในระยะนี้ใกล้เคียงกับก่อนตั้งครรภ์ หากแพ้ท้องมากจนทำให้กินอาหารได้น้อย วิธีแก้ไขคือแบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ ในปริมาณน้อยลง แล้วกินให้บ่อยขึ้น

เมนูแนะนำ: ควรเน้นรับประทานอาหารกลุ่มโปรตีนจากเนื้อสัตว์และเกลือแร่ เช่น ผัดผักใส่หมูสับ ต้มจืดตำลึง

 

อายุครรภ์ 4-6 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สอง)

 

อายุครรภ์ ช่วงไตรมาสที่ 2 คุณแม่จะเริ่มกินอาหารได้มากขึ้น ในขณะที่ระยะนี้ทารกกำลังสร้างอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักของทารกจะเพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารสำหรับสร้างระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก และอวัยวะต่างๆ ของทารก และสำหรับร่างกายของมารดาเองด้วย

 

"คนท้อง" ในระยะนี้ จึงจำเป็นต้องกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารสูงกว่าคนปกติ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์คือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน โดยช่วงนี้ร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ส่วนสารอาหารที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ ได้แก่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดเมนูอาหาร 'คนท้อง' ตามอายุครรภ์ เลือกกินยังไงให้ดีกับลูก?

  • โปรตีน จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อใช้สร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย
  • ธาตุเหล็ก จากเครื่องในสัตว์ เลือด เพื่อใช้สร้างเม็ดเลือดแดง
  • โฟเลท จากตับ เนื้อสัตว์ ผักใบเขียวเข้ม เพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิด และปากแหว่งเพดานโหว่ในทารก 
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส จากนม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และผักเขียวเข้ม ใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน
  • ไอโอดีน จากอาหารทะเล ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและเซลล์สมองของทารก

เมนูแนะนำ: ไข่ตุ๋น ต้มเลือดหมูใส่ผัก ปลานึ่งกับผักลวก (เน้นผักใบเขียวเข้ม เช่น ปวยเล้ง บร็อคโคลี เคล)

 

อายุครรภ์ 7-9 เดือน (ตั้งครรภ์ไตรมาสที่สาม)

 

อายุครรภ์ในระยะนี้ ร่างกายของคนแม่ ยังคงต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงที่ทารกมีการขยายขนาดร่างกายเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน คุณแม่จึงควรกินอาหารที่มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง เน้นอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดี เช่น ปลาทู ปลาจะระเม็ด

เมนูแนะนำ: ยำปลาทู แกงเลียง ยำหัวปลี ฟักทองผัดไข่ 

 

"สำหรับอายุครรภ์ในช่วงนี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 10 แก้ว เลือกกินอาหารที่สด สะอาด ปรุงสุกใหม่ และเลือกเมนูอาหารที่จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอเพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่และคุณลูก"

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง

  • อาหารรสจัด
  • หมักดอง
  • กาแฟ
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • บุหรี่

 

อาหารจำเป็น "คุณแม่มือใหม่" ให้นมลูก 

 

ทั้งนี้ เมื่อทารกคลอดออกมาในช่วงระยะ 6 เดือนแรก ทารกจะได้รับนมแม่เป็นอาหารหลัก การเจริญเติบโตของทารกจะขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของน้ำนม แม่จึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ได้รับสารอาหารให้เพียงพอเหมาะสมและหลากหลาย เพื่อใช้สร้างน้ำนมสำหรับลูกให้ได้ปริมาณที่เพียงพอและได้คุณภาพ ได้แก่

  • หัวปลี
  • ใบกระเพรา
  • ฟักทอง
  • เมล็ดขนุนต้ม
  • พริกไทย
  • ขิง
  • มะรุม
  • ใบแมงลัก
  • กุยช่าย
  • ตำลึง
  • มะละกอ
  • พุทรา

 

ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม 

 

ขณะเดียวกัน กลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม เป็นโรคความผิดปกติทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งซึ่งพบได้บ่อย ที่เกิดความบกพร่องของร่างกายและสติปัญญาโดยมีอุบัติการณ์ของกลุ่มอาการดาวน์เท่ากับ 1 : 800 ของทารกแรกเกิด พบได้กับทุกกลุ่มอายุของ หญิงตั้งครรภ์   

 

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ ปีละประมาณ 600,000 คน จะมีทารกแรกเกิดที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์  ประมาณปีละ 750 ราย ถ้าไม่มีระบบบริการตรวจคัดกรองในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากการเลี้ยงดูปกติสูงถึงรายละ 2,500,000 บาท โดยผู้ปกครองของเด็กต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ถือเป็นภาระที่หนักมากสำหรับครอบครัวที่ไม่พร้อม จึงควรมีการตรวจค้นหาแต่เนิ่น ๆ ว่า ทารกในครรภ์มีภาวะเสี่ยงอยู่ในกลุ่มอาการดาวน์หรือไม่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ครอบครัวด้วย

 

เงื่อนไข ตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม 

 

สำหรับ การเข้ารับบริการการตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ที่สามารถเบิกจ่ายตามสิทธิ์ได้นั้น จะต้องเข้ารับบริการตามเงื่อนไขของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้ 

1) กระบวนการในการเข้ารับการปรึกษาทางพันธุศาสตร์

2) การเข้ารับการตรวจเลือดคัดกรองโดย Quadruple Test ซึ่งหากมีความเสี่ยงต่ำจะเข้าสู่กระบวนการฝากครรภ์ตามปกติ หรือหากมีความเสี่ยงสูง จะเข้าสู่กระบวนการ  ตรวจวินิจฉัย ก่อนคลอด

3) รับการตรวจวินิจฉัยก่อนคลอด โดยการเจาะตรวจหาโครโมโซมของทารกจากน้ำคร่ำหรือเลือดจากสายสะดือทารก

 

"หากพบโครโมโซมผิดปกติ จะให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์และสามี ในการเลือกฝากครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งหากหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวต้องการตั้งครรภ์ต่อ ก็พร้อมให้คำแนะนำ ช่องทางการดูแลต่อเนื่องสำหรับเด็กกลุ่มอาการดาวน์ที่เหมาะสมต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด