ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อย่ามองข้าม เขียนหนังสือ พิมพ์งาน พนง.ออฟฟิศต้องรู้

ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อย่ามองข้าม เขียนหนังสือ พิมพ์งาน พนง.ออฟฟิศต้องรู้

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยถึงอาการภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s cramp) อาการเกร็งที่กล้ามเนื้อมือและแขนเมื่อเขียนหนังสือ และเขียนได้ช้าลง หรือเวลานั่งพิมพ์เป็นเวลานาน เล่นดนตรี ชี้เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม และควรพบแพทย์

กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา เผยถึงอาการภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s cramp) อาการเกร็งที่กล้ามเนื้อมือและแขนเมื่อเขียนหนังสือ และเขียนได้ช้าลง หรือเวลานั่งพิมพ์เป็นเวลานาน เล่นดนตรี ชี้เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม และควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง (Writer’s cramp) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า task-specific dystonia ซึ่งเป็นอาการเคลื่อนไหวผิดปกติในรูปแบบของการบิดเกร็งผิดรูป ที่เกิดขึ้นเฉพาะบางท่าทาง เช่น เขียนหนังสือ พิมพ์ดีด เล่นดนตรี เล่นกีฬาบางชนิด เป็นต้น และอาการเกร็งจะหายไปเมื่อเลิกทำท่าทางนั้นหรือเมื่ออยู่เฉยๆ

โดยจะพบอาการเกร็งมือเวลาเขียนหนังสือได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มโรคนี้ ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกแน่นหรือเกร็งนิ้วมือ มือ ข้อมือหรือแม้กระทั่งอาจลามถึงแขนเวลาใช้มือข้างนั้นเขียนหนังสือ ส่งผลให้ลายมือเปลี่ยนไป เขียนหนังสือช้าลง จนกระทั่งไม่สามารถเขียนหนังสือได้ บางครั้งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องหัดเขียนหนังสือด้วยมืออีกข้างแทน ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยโดยตรง

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยประมาณ 10-20% อาจมีอาการของโรครุนแรงมากขึ้น จนมีอาการมือเกร็งเวลาทำกิจกรรมอื่นนอกจากเขียนหนังสือ เช่น จับช้อนหรือส้อมเวลาทานอาหาร ติดกระดุมเสื้อ เป็นต้น หรืออาจมีอาการเกร็งลามไปมืออีกข้างทำให้เป็นภาวะมือเกร็งทั้งสองข้างได้

ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อาจเป็นอาการนำของการเกิดโรคทางระบบประสาทอื่นๆได้อีกด้วย เช่น โรคกล้ามเนื้อบิดเกร็ง ทั่วตัวที่เป็นกรรมพันธุ์ เป็นต้น

สาเหตุของโรค

เกิดจากสมองที่มีวงจรทำงานผิดปกติ โดยส่งผลให้เกิดการบิดเกร็งของร่างกายส่วนนั้นๆ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยโดยการรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการเกร็ง แต่ผลการรักษามักมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร และมีผลข้างเคียงของยาเมื่อใช้ในปริมาณสูง ในปัจจุบัน

การรักษา

การรักษาที่เป็นมาตรฐานคือ การฉีดยาโบทูลินัม ในตำแหน่งของกล้ามเนื้อที่เกร็งเวลาเขียนหนังสือ ซึ่งภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยจากการฉีดยาโบทูลินัมคือ อาจมีกล้ามเนื้อมืออ่อนแรงชั่วคราวได้ในช่วง 1-2 สัปดาห์หลังฉีด จากนั้นมือ จะกลับมามีแรงตามปกติโดยที่ไม่มีอาการเกร็งได้นาน 2-3 เดือน ทำให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ

ดังนั้น หากมีอาการภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป

 

ภาวะกล้ามเนื้อมือเกร็ง อย่ามองข้าม เขียนหนังสือ พิมพ์งาน พนง.ออฟฟิศต้องรู้

 

ข้อมูลจาก สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์