แนะวิธีกิน"โพรไบโอติกส์"เลือกทานอย่างไร.. ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย

แนะวิธีกิน"โพรไบโอติกส์"เลือกทานอย่างไร.. ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย

“โพรไบโอติกส์ (probiotics)” เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่มีประโยชน์ เมื่อได้รับในปริมาณที่เพียงพอจะส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยในปี 2560-2563 มูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ในอาเซียน มีการเติบโตมากกว่า 300%

วันนี้ (2 พ.ย.2565) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด  ลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตใช้สิทธิ ผลงาน จุลินทรีย์ โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC39-1 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาสายพันธุ์ของรศ.ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์  อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มศว เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์  และกระตุ้นการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในไทย

ทำความรู้จัก โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย

“สายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC39-1” เป็นโพรไบโอติกส์ (Probiotic) สายพันธุ์ไทย และมีคุณสมบัติช่วย

ลดการอักเสบ

ลดการสะสมของไขมัน

ลดการอักเสบในตับ

ลดลำไส้อักเสบ

ยับยั้งเชื้อก่อโรค

ปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้

อีกทั้งเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่อนุญาตให้ใช้เป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ในอาหาร จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถือเป็นโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย ซึ่งจะคุ้นเคยกับผู้บริโภค และนี่เป็นครั้งแรกของการนำโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมาใช้ในเชิงพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"โพรไบโอติกส์" และ "พรีไบโอติกส์" กินจากไหน...ดีต่อสุขภาพอย่างไร

รู้จัก "โพรไบโอติกส์" จุลินทรีย์จิ๋วสุดเจ๋ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านไวรัส

ไขความลับ "พรีไบโอติกส์ - โพรไบโอติกส์" ดีต่อร่างกายอย่างไร

 

คุณสมบัติโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย

รศ.ดร.มาลัย ในฐานะของผลงานวิจัยวิจัยเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ กล่าวว่าเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ Bifidobacterium animalis TA-1 เป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ที่มีการพิสูจน์คุณสมบัติแล้วว่าเป็นโพรไบโอติกส์ที่ดี และอยู่ในการอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย. ) ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่ได้มาตรฐานเพื่อหาข้อพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติจำเพาะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย

“โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ดังกล่าว มีคุณสมบัติเด่นในการลดไขมัน คอเลสเตอรอล  และเป็นสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียง เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ไม่ใช่ยาหรือสารเคมี หากแต่เป็นสารอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในร่างกายของคนเรา หากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพื่อเติมสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพองค์รวม” รศ.ดร.มาลัย กล่าว

 

เช็กประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

ทั้งนี้ โพรไบโอติกส์  หรือจุลินทรีย์ขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนระบบทางเดินอาหาร รวมถึงในระบบอื่นๆ ของร่างกาย โพรไบโอติกส์ถือเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ เนื่องจากมีส่วนช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร ช่วยดูดซึมอาหาร ป้องกันโรค สังเคราะห์วิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้จุลินทรีย์ชนิดก่อโรคเกิดขึ้นในร่างกาย

โดยโพรไบโอติกส์ มีประโยชน์ดังต่อไปนี้

1. สร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย

โพรไบโอติกส์สามารถป้องกันและบรรเทาได้ทั้งอาการท้องเสียและท้องผูก เป็นตัวช่วยในการสร้างสมดุลให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายของร่างกาย โพรไบโอติกส์กลุ่มแลคโตบาซิลลัส ช่วยลดการอักเสบของลำไส้ ปรับสภาพของระบบทางเดินอาหารให้กลับมาสู่สภาวะปกติได้

2. กระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย

โพรไบโอติกส์สามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ การมีโพรไบโอติกส์ในระบบทางเดินอาหารที่เพียงพอจะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายป้องกันการติดเชื้อได้มากยิ่งขึ้น ลดการติดเชื้อในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ลดการติดเชื้อในบริเวณปอด เพิ่มภูมิคุ้มกันในลำไส้และกระแสเลือด

3. รักษาบรรเทาโรคกระเพาะ

การใช้โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ร่วมกันจะสามารถป้องกันและบรรเทาโรคในระบบทางเดินอาหารได้ โรคกระเพาะก็เช่นกัน ด้วยวิธีนี้จะสามารถป้องกันโรคกระเพาะและและกรดไหลย้อนซึ่งเป็นโรคในกลุ่มทางเดินอาหารที่มักจะพบร่วมกันได้

4. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่มีโอกาสสร้างสารก่อมะเร็งหรือเป็นตัวร่วมในการก่อมะเร็งได้ สารในกลุ่มไนโตรเจนและอะโรมาติคเอมีนจากอาหารประเภทไขมันและเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถเพิ่มขึ้นจากสะสมของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ การมีโพรไบโอติกส์จะช่วยเปลี่ยนสภาพแบคทีเรียในลำไส้ ป้องกันการเกิดสารดังกล่าวได้

5. ลดอาการอักเสบและภูมิแพ้

การมีโพรไบโอติกส์ในร่างกายที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีภูมิคุ้นกันต่อการติดเชื้อได้ดี โพรไบโอติกส์จะช่วยปรับสภาพภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดอาการอักเสบ ช่วยให้ปัญหาภูมิแพ้ลดลง แก้อาการภูมิแพ้ มีน้ำมูก ผื่นคัน หอบหืด หรือบรรเทาอาการเรื้อรังของโรคภูมิแพ้ได้

6. ช่วยเรื่องระบบทางเดินปัสสาวะ

แบคทีเรียแลคโตบาซิลลัสช่วยลดการอักเสบติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะส่วนปลาย ลดการสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคปัสสาวะอักเสบ รวมถึงป้องกันปัญหาการติดชื้อในช่องคลิดและปากช่องคลอดของผู้หญิงที่เป็นส่วนให้เกิดอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบอีกด้วย

พัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลีกเลี่ยงการใช้ยา

ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ทำให้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผู้ประกอบการของไทย สนใจนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์มาพัฒนาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  “บริษัท  วิโนน่า เฟมินิน จำกัด”  เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนผลงานของนักวิจัยไทย ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทย

นางนพรัตน์ สุขสราญฤดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด กล่าวว่าบริษัท วิโนน่า ได้มีการลงนามความร่วมมือกับทางมศว  เพื่อใช้สิทธิข้อมูลเทคโนโลยี จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (probiotics) สายพันธุ์ Lactobacillus paracasei MSMC 39-1  ซึ่งเป็นผลงานจากคณะนักวิจัยของ มศว เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์วิโนน่า และได้มีการเปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายไปเมื่อเดือน พ.ค. 2565

“ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ ดังนั้น การเลือกผลิตภัณฑ์จะมุ่งให้เห็นผลในแง่ของสุขภาพที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้ยา ซึ่งโพรไบโอติกส์ สายพันธุ์ไทย ซึ่งทางบริษัทได้นำผลงานวิจัยของคณะวิจัยมศว มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายใน 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ได้รับการตอบรับและมีการซื้อซ้ำจำนวนมาก เนื่องจากใช้แล้วได้เห็นผลจริง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ไม่ใช่มีเฉพาะเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น แต่มีผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้ชาย และสำหรับทุกเพศทุกวัยด้วย" นางนพรัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ โพรไบโอติกส์มีประโยชน์มากมายต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ต้านอักเสบ ปรับภูมิคุ้มกัน ลดสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ยิ่งได้นำผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยมีคุณภาพ และมาตรฐานมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค

ความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีการพัฒนาโพรไบโอติกส์ สายพันธุ์ที่ 2 ร่วมกันและจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นการช่วยดูแลลำไส้ใหญ่ และชะลอวัย เพื่อให้ทุกคนได้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ต้องใช้ยาเหมือนในอดีต

  • หนุนภาคเอกชนต่อยอดวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

มศว กับ วิโนน่า มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยความต้องการอยากเห็นคนไทย มีสุขภาพร่างกายที่สมดุล สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการบริโภคจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงการพึ่งพายา และสารเคมีเข้าในร่างกาย และลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคในบั้นปลาย ทำให้ผู้บริโภคมีคุณภาพชีวิตที่ดี

รวมทั้งช่วยเพิ่มดุลการค้าและลดความสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการนำเข้าสายพันธุ์หรือผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกจากต่างประเทศ ในขณะที่จุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย มีการคัดแยก พัฒนา และทดสอบกับกลุ่มประชาการไทย จึงมีความคุ้นเคยกับคนไทยมากกว่า ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่า ผลงานวิจัยเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย มีศักยภาพและขีดความสามารถเพียงพอที่จะแข่งขันกับผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมศว กล่าวว่ามหาวิทยาลัยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ และต่อยอดผลงานวิจัยที่มีศักยภาพเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ตลอดจนสร้างความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อันจะก่อให้เกิดการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีอยู่ภายในประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมในประเทศ

แนะนำอาหารที่มีโพรไบโอติก

ปัจจุบันจะได้เห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพิ่มโพรไบโอติกส์มากมาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการนำโพรไบโอติกส์จากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ไทยจะเหมาะกับคนไทยมากกว่า และจริงๆ จุลินทรีย์ในร่างกายมีจำนวนมาก แต่เมื่อใช้ก็ย่อมน้อยลง ดังนั้น การรับประทานอาหารก็เป็นอีกทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพ และเติมโพรไบโอติกส์ให้แก่ร่างกายได้ 

โดยอาหารที่มีไพรไบโอติกส์สูงมีดังนี้

1.โยเกิร์ต

ยเกิร์ตเป็นอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ รับประทานง่าย มีรสชาติอะไร ในการรับประทานโยเกิร์ตโพรไบโอติกส์ควรเลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์สดๆ ระบุฉลากผลิตภัณฑ์ชัดเจน เช่น Active Probiotic, Live Probiotic และควรเลือกโยเกิร์ตที่มีโพรไบโอติกส์สายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร เช่น Bifidobacterium,  Lactobacillus casei,  Lactobacillus acidophilus

 2. นมเปรี้ยว

นมเปรี้ยวคือนมที่ผ่านการหมักจนเกิดโพรไบโอติกส์ขึ้นในตัวนม ในการเลือกรับประทานนมเปรี้ยว ก็ควรเลือกรับประทานนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์สายพันธุ์เดียวกับที่มีในโยเกิร์ต เพราะเป็นสายพันธุ์ที่ทานแล้วช่วยเรื่องระบบทางเดินอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ควรเลือกนมเปรี้ยวที่มีโพรไบโอติกส์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น นมเปรี้ยวที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์

3. อาหารหมักดอง

การหมักดองอาหาร นอกจากเพื่อเพื่อมรสชาติ หรือถนอมอาหารให้มีระยะเวลาที่กินได้ยาวนานขึ้นแล้ว อาหารที่นำไปหมักดอง เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะมีเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เกิดขึ้นมา

4. ดาร์กช็อคโกแลต

ดาร์คช็อคโกแลตช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร ในดาร์กช็อคโกแลตจุลินทรีย์โพรไบโอติก สายพันธุ์แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) และไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)

ผู้ที่ทานดาร์คช็อตโกแลตจะมีสัดส่วนจุลินทรีย์ในกลุ่มคลอสทริเดียม (Clostridia) และสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ลดน้อยลงกว่าในผู้ที่ไม่ทาน จุลินทรีย์เหล่านี้เป็นต้นเหตุของอาการท้องเสียหรือท้องร่วงเฉียบพลันได้

5. น้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล

น้ำส้มสายชูหมักนั้นสามารถทำได้จากผลไม้แทบทุกชนิดที่มีรสหวาน แต่ผลไม้ที่นิยมที่สุดคือ แอปเปิ้ล เมื่อหมักผลไม้ น้ำ และจุลินทรีย์เข้าได้กัน จะได้น้ำส้มสายชูน้ำหมัก ซึ่งจะมีสภาพเป็นกรดน้ำส้ม มีสีน้ำตาลจากตะกอนตามธรรมชาติ และยังมีจุลินทรีย์ที่ยังมีชิวิตเพราะกระบวนการผลิตน้ำส้มสายชูหมักนั้นไม่ผ่านความร้อน หรือการกรองใดๆ ทำให้ได้โพรไบโอติกส์มานั่นเอง

6. ชีสบางประเภท

ชีสมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็จะมีขั้นตอนการผลิตและระยะเวลาการผลิตที่แตกต่างกันไป วิธีสังเกตชีสที่มีโพรไบโอติกส์คือ ฉลากผลิตภัณฑ์ของชีสชนิดนั้นจะต้องระบุไว้ว่า “live cultures” หรือ “active cultures” ชีสที่มีโพรไบโอติกส์ เช่น มอสซาเรลล่า เชดด้า คอทเทจ เกาด้า เป็นต้น

7. ถั่วนัตโตะ

ถั่วนัตโตะ หรือเรียกอีกชื่อว่า ถั่วเน่า หรือถั่วหมัก เป็นอาหารพื้นเมืองของประเทศญี่ปุ่น เกิดจากการนำถั่วไปหมักดอง จนมีเส้นใยเหนียวๆ ยืดได้ มีกลิ่น ถั่วนัตโตะเป็นแหล่งที่ดีของโพรไบโอติกส์ การกินนัตโตะอยู่เสมอๆ จะช่วยป้องกันโรคหัวใจและโรคกระดูกพรุนด้วยเช่นกัน

8. ซุปมิโซะ

ซุปมิโสะเป็นซุปญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ส่วนผสมหลักๆ คือน้ำสต๊อกดาชิและเต้าเจี้ยวมิโซะ มิโสะที่นำมาปรุงเป็นเครื่องปรุงรสที่ทำจากถั่วเหลืองหมักกับเหลือและเชื้อราชนิดดี จึงทำให้มีโพรไบโอติกส์สูง ถือเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี รับประทานง่าย คล่องคอ

9. เทมเป้

เทมเป้ เป็นอาหารที่มีที่มาจากประเทศอินโดนิเซีย เป็นอาหารที่เกิดจากการหมักถั่วเหลืองจนกลายเป็นแท่งคล้ายเค้ก โดยหมักกับเชื้อรา Rhizopus Oligosporus ซึ่งเป็นเชื้อราสายพันธุ์ดี จนได้โพรไบโอติกส์ออกมา มีโปรตีนสูง ทั้งยังช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง

10. ชาหมักคอมบูชา

คอมบูชาหรือชาหมักเกิดจากการหมักชาโดยใช้ชาเขียวหรือชาดำผสมกับน้ำตาล ยีสต์ และหัวเชื้อจุลินทรีย์ มีรสเปรี้ยวนำ มีรสหวานเล็กน้อย มีกลิ่นและรสชาติเป็นเอกลักษณ์ อุดมไปด้วยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ช่วยรักษาสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย

วิธีกินโพรไบโอติกส์อย่างปลอดภัย

พรีไบโอติกส์ ควรรับประทานก่อนอาหาร หรือระหว่างมื้อ เนื่องจากโพรไบโอติกส์จะถูกทำลายได้ด้วย น้ำย่อย แอลกอฮอล์ หรือยาบางชนิด ช่วงก่อนอาหารกระเพาะจะมีความเป็นกรดต่ำ ส่งผลให้โพรไบโอติกส์ถูกทำลายจากน้ำย่อยลดลง

นอกจากนั้น ควรรับประทานปริมาณ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน หรืออย่างต่ำ 10,000 ล้าน CFU โดย CFU คือ หน่วยที่ใช้ตรวจปริมาณจุลินทรีย์ที่อยู่ในสินค้าและอาหารไม่ว่าจะเป็น นมเปรี้ยว หรือ อาหารเสริม

อย่างไรก็ตาม หากรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินความจำเป็นต่อร่างกายในแต่ละวัน อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผลข้างเคียงของการรับประทานโพรไบโอติกส์มากเกินไป เช่น

  • เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • เกิดผื่นคันตามผิวหนัง
  • เกิดอาการปวดหัว จากสารเอมีน (Amines)
  • เกิดอาการต้านยาปฎิชีวนะ
  • เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ

หากรับประทานโพรไบโอติกส์แล้วมีอาการ หรือปฏิกริยา ควรหยุดรับประทานทันที และควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอาการต่อไป

อ้างอิง:โรงพยาบาลสมิติเวช