รู้จัก "โพรไบโอติกส์" จุลินทรีย์จิ๋วสุดเจ๋ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านไวรัส

รู้จัก "โพรไบโอติกส์" จุลินทรีย์จิ๋วสุดเจ๋ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านไวรัส

กรมอนามัยแนะรับประทาน "โพรไบโอติกส์" สำหรับผู้ที่มีภาวะ "Long COVID" (Post COVID-19 Syndrome) เพื่อช่วยฟื้นฟูร่างกายและกระตุ้นระบบ "ภูมิคุ้มกัน" ชวนรู้จักเชื้อจุลินทรีย์จิ๋วกลุ่มนี้ว่ามีประโยชน์แค่ไหน? พบในอาหารประเภทใดบ้าง?

ช่วงนี้ "โควิด-19" กลับมาระบาดหนักในไทยอีกครั้ง แม้หลายคนจะรักษาจนหายแล้ว ก็ยังต้องระวังภาวะ "Long COVID" ที่อาจหลงเหลืออยู่ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ที่เพิ่งหายป่วยโควิดและมีอาการ Long COVID รับประทาน "โพรไบโอติกส์" (Probiotics) เสริมในมื้ออาหารด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่าประเทศไทยข้อมูลว่า ภาวะ “Long COVID” หรือ Post COVID-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เช่น หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง นอนไม่หลับ ปวดหัว มึนงง คัดจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30 - 50 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะ Long COVID จึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายตนเองอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย และควรบริโภคอาหารที่มี "โพรไบโอติกส์" ร่วมด้วย

แล้ว "โพรไบโอติกส์" มีประโยชน์อย่างไร? ทำไมจึงมีส่วนช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้คำตอบไปพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

 

 

  • โพรไบโอติกส์” กับประวัติศาสตร์เชื้อจุลินทรีย์ทางการแพทย์

ข้อมูลจากสำนักการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า “โพรไบโอติกส์” มาจากภาษากรีกของคำว่า pro และ biotos ซึ่งหมายถึง สำหรับชีวิต หรือ ส่งเสริมชีวิต จึงแปลรวมๆ ได้ว่า เป็นเชื้อจุลินทรย์ที่นำมาใช้เพื่อส่งเสริมชีวิตและสุขภาพ

แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์ของจุสินทรีย์ก่อนที่จะมาเป็นโพรไบโอติกส์นั้น เริ่มต้นจากแนวคิดของ Elie Metch-nikoff นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 

โดยในปี ค.ศ. 1908 นั้น Metch-nikoff ได้สังเกตว่าประชากร “บัลแกเรีย” มีอายุยืนยาว ประชากรส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 100 ปี ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวบัลแกเรียพบว่า พวกเขานิยมบริโภค “นมหมัก” (นมเปรี้ยว/โยเกิร์ต) ในปริมาณมาก ดังนั้นจึงได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการที่ชาวบัลแกเรียบริโภคนมหมักเป็นประจำ จึงน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอายุยืนได้

จากการศึกษาของ Metch-nikoff รวมถึงงานวิจัยอีกหลายๆ ชิ้น ที่สนับสนุนความรู้เกี่ยวกับจุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถสรุปภาพรวมได้ว่า โพรไบโอติกส์ ก็คือ เชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของโพรไบโอติกส์ในปริมาณที่เหมาะสม ก็สามารถส่งผลดีต่อสุขภาพผู้บริโภคได้เช่นกัน อ่านงานวิจัยอื่นๆ คลิกที่นี่

 

 

  • เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็น “โพรไบโอติกส์” คือชนิดไหนบ้าง? 

ปัจจุบันมีอาหารที่มีโพรไบโอติกส์เป็นส่วนผสม มีอยู่มากมายหลายอย่างและหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดทั่วไป เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ นอกจากนี้ ยังมีอาหารหมักอื่นๆ ที่อุดมไปด้วยโพรไบโอติกส์ แต่ยังไม่มีการศึกษามากนัก เช่น มิโซะหรือเต้าเจี้ยวญี่ปุ่น, เทมเป้, กะหล่ำปลีดอง, ขนมปังเปรี้ยว (Sourdough Bread) และแตงกวาดอง 

โดยเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย มีอยู่หลายชนิดได้แก่ Lactobacillus, Bifidobacteria, Saccharomyces Boulardii, Streptococcus Thermophilus แต่ไม่ใช่ว่าทุกชนิดจะเป็นโพรไบโอติกส์

รศ.วิมล ศรีศุข ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องนี้ไว้ในบทความวิชาการว่า หากต้องการบริโภคนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตชนิดที่มี “โพรไบโอติกส์” นั้น ก่อนซื้อต้องอ่านฉลากข้างขวดหรือข้างถ้วย หากพบว่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เป็นชนิดที่มีชื่อว่า

  • สเตร็ปโตค็อคคัส เทอร์โมฟิลัส (Streptococcus thermophilus)
  • แล็คโตแบซิลลัส เดลบรูคคิไอ (Lactobacillus delbrueckii)
  • แล็คโตแบซิลลัส บัลการิคัส (Lactobacillus bulgaricus) เหล่านี้เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ทำโยเกิร์ตธรรมดา ไม่จัดเป็นโพรไบโอติกส์! 

แต่ถ้าหากข้างๆ ถ้วยโยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวระบุว่า มีการผลิตโดยใช้เชื้อจุลินทรีย์ชนิดที่มีชื่อว่า

  • ไบฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium)
  • ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส (Bifidobacterium animalis DN173010)
  •  แล็คโตแบซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus casei)
  • แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส (Lactobacillus acidophilus) เหล่านี้เป็นโพรไบโอติกส์ ที่ให้ประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน

โดยโพรไบโอติกส์จะเป็นเกราะป้องกันด่านแรกที่ช่วยต่อต้านสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกร่างกาย ดังนั้น การรับประทานโพรไบโอติกส์จึงอาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหรือความผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น ลดภาวะการย่อยอาหารผิดปกติ เช่น ท้องเสียจากการติดเชื้อ ป้องกันโรคลำไส้แปรปรวน โรคภูมิแพ้ โรคตับ ไข้หวัด เป็นต้น

 

  • กิน “โพรไบโอติกส์” อย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด?

หากต้องการบริโภคโพรไบโอติกส์ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รศ.วิมล ศรีศุข แนะนำว่าให้ลองกินอาหารที่มีโพรไบติกส์ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ โดยกินทุกวัน วันละ 2 ครั้งเช้า-เย็น หลังจาก 2 สัปดาห์แล้ว ให้สำรวจตัวเองว่าขับถ่ายดีหรือไม่ รู้สึกสบายท้องขึ้นหรือไม่

ถ้าคำตอบคือ ใช่! ก็ให้กินโพรไบโอติกส์ชนิดเดิมต่อไปเรื่อยๆ เป็นประจำ (ไม่ต้องกินทุกวันก็ได้) ไม่ต้องเปลี่ยนชนิดไปมา แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็ลองเปลี่ยนไปกินโพรไบโอติกส์ชนิดใหม่ 

การกินโพรไบโอติคส์ให้ได้ผลดี ต้องกินสม่ำเสมอต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ห้ามกินๆ หยุดๆ เพราะต้องมีเชื้อตัวใหม่ที่มีชีวิต ไปทดแทนพรรคพวกเก่าที่เคยตั้งรกรากอยู่ในลำไส้แล้วหลุดหายตายจากไปตามระยะเวลา

อีกทั้ง นายแพทย์สุวรรณชัยก็ได้แนะนำในอีกมุมหนึ่งว่า วิธีการรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด จะต้องรับประทานร่วมกับ “พรีไบโอติกส์” หรือ อาหารที่มีกากใยไฟเบอร์สูง เช่น ธัญพืช, ถั่วเมล็ดแห้ง, กล้วย, หัวหอมใหญ่, กระเทียม เป็นต้น เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ส่งเสริมให้จุลินทรีย์แข็งแรงและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

---------------------------------

อ้างอิง : สำนักการแพทย์ทางเลือกaafp.org, pharmacy.mahidol, pobpad, สถาบันโภชนาการ mahidol