รอไม่ไหว รีบร้อน ทำหลายอย่างพร้อมกัน สัญญาณเตือนภาวะ “ทนรอไม่ได้”

รอไม่ไหว รีบร้อน ทำหลายอย่างพร้อมกัน สัญญาณเตือนภาวะ “ทนรอไม่ได้”

หลายคนอาจคิดว่า การที่บางคนมีบุคลิกหรือนิสัยที่ทนรออะไรนานๆ ไม่ค่อยได้ ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นคนขยันหรือไม่ก็เป็นโรคสมาธิสั้น แต่ความจริงแล้วนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะ “ทนรอไม่ได้” ซึ่งเป็นหนึ่งในภาวะผิดปกติ ที่ “วัยทำงาน” ต้องรู้!

รู้หรือไม่? ภาวะ “ทนรอไม่ได้” หรือ Hurry Sickness เป็นภาวะผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในยุคที่มีคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต และมักเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานเป็นเวลานาน (ไม่ใช่โรคทางจิตเวช) โดยอาการของโรคคล้ายกับ “โรคสมาธิสั้น” ทำให้บางคนเข้าใจผิดและมองข้ามภาวะผิดปกติเหล่านี้ไป

สำหรับอาการของภาวะ “ทนรอไม่ได้” นั้น เป็นพฤติกรรมที่บุคคลที่มักจะมีอาการใจร้อน หงุดหงิด และฉุนเฉียวง่าย กับการรออะไรบางอย่าง  ซึ่งเป็นผลกระทบจากการทำงานกับคอมพิวเตอร์นานๆ หรือมักจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่ายอาการข้างต้น ควรสังเกตตนเอง หรือบุคคลรอบข้างว่ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหรือไม่ และควรหาทางแก้ไขเพราะหากปล่อยให้ภาวะนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นี้จะทำให้ร่างกาย และจิตใจผิดปกติได้

  • “ทนรอไม่ได้” ไม่ใช่ “โรคสมาธิสั้น” ต้องแยกให้ออก! 

หากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการเข้าข่ายภาวะทนรอไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมในขั้นตอนต่อมา คือ ต้องแยกให้ได้ก่อนว่าอาการที่กำลังเป็นอยู่นั้นคือ “โรคสมาธิสั้น” หรือภาวะ “ทนรอไม่ได้” โดยอาการและวิธีรักษามีความแตกต่างกันพอสมควร ดังนี้ 

- โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ :  ต้องมีพฤติกรรมชัดเจนในเรื่องขาดสมาธิ และใจร้อน รวมถึงอาจจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง โดยอาการดังกล่าวอาจเป็นมาตั้งแต่เด็ก หรือเพิ่มจะมามีอาการในวัยผู้ใหญ่ในระยะเวลามากกว่า 6 เดือน

- การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ สามารถรักษาโดย การรักษาด้วยยาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา

- โรคสมาธิสั้นในเด็ก :  เป็นโรคทางจิตเวชระบุชัดใน DSM – V เกิดจากความบกพร่องของสารสื่อประสาทในสมอง ต้องใช้ยาช่วยในการรักษา 

- ภาวะทนรอไม่ได้ :  เป็นอาการทางพฤติกรรมเกิดจากปัจจัยทางสังคม คือ การเลี้ยงดู การใช้สื่อโซเชียล และสิ่งแวดล้อม สำหรับวิธีรักษาต้องใช้พฤติกรรมบำบัด หรือ เทคนิคทางจิตวิทยา CBT (Cognitive behavioral therapy) ในการปรับความคิดและพฤติกรรม

  • สัญญาณบ่งชี้ความเสี่ยงภาวะ “ทนรอไม่ได้”

1. รีบร้อนกับทุกเรื่อง แม้กระทั่งบางเรื่องที่ไม่ควรรีบ เช่น การรับประทานอาหาร หรือ การอาบน้ำ

2. มักทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน มีแผนในหัวหลายเรื่องมาก เมื่อทำทุกอย่างที่คิดพร้อมกันผลงานก็ออกมาไม่ดีเท่าที่ตั้งใจไว้

3. หงุดหงิดกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากรีบทำทุกอย่าง และทำหลายเรื่องพร้อมกัน พอทำได้ไม่ดีหรือไม่สำเร็จ จึงทำให้เกิดอาการหงุดหงิด

4. พยายามเร่งตัวเองอยู่ตลอดเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และกดดันตัวเองจนเกิดความเครียด

5. มักตัดบท หรือพูดแทรกคู่สนทนาโดยไม่รู้ตัว หรือบางทีคู่สนทนายังพูดไม่จบ ส่งผลให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างแย่ลง

6. บังคับตัวเองให้ทำทุกอย่างให้ออกมาดีที่สุด ทำเร็วขึ้นไปอีก และทำพร้อมกันหลายๆ อย่างมากขึ้นกว่าเดิม

  • ผลกระทบจากภาวะทนรอไม่ได้ แบ่งเป็น 2 ส่วน 

ผลกระทบต่อสุขภาพ

- หัวใจเต้นเร็ว

- ปวดศีรษะ

- อ่อนเพลีย

- ความดันโลหิตสูง

- ภูมิต้านทานในร่างกายลดต่ำลง

- คลื่นไส้ อาเจียน

ผลกระทบในด้านจิตวิทยา

- ผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง

- มีความเสี่ยงก่อให้เกิดภาวะหมดไฟ (Burnout)

- มีปัญหาในด้านการตัดสินใจ จากความไม่ละเอียดรอบคอบ 

  • วิธีแก้ไขและบรรเทาอาการ “ทนรอไม่ได้” เบื้องต้น

1. สูดลมหายใจลึกๆ เรียกสติเมื่อรู้ตัวว่าเกิดอารมณ์ร้อน หงุดหงิด     

2. ปรับทัศนคติให้คิดบวก เช่น ลดความเร่งรีบในการใช้ชีวิต ขอความช่วยเหลือผู้อื่นบ้างหากจำเป็น     

3. หากิจกรรมผ่อนคลายตามที่ตัวเองชอบ เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ดูหนัง      

4. ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์   

5. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ 

6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-7 ชั่วโมง

7. หาช่วง Break down ถ้าอาการของโรค หรือพฤติกรรมทำให้ปวดหัว เช่น การงีบหลับ

8. วางแผนชีวิตเพื่อให้รู้ว่าเราต้องทำอะไรบ้าง รวมถึงสามารถจัดลำดับความสำคัญของรายการชีวิตได้เหมาะสมมากขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันภาวะ “ทนรอไม่ได้” ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่ถ้าประสบกับภาวะนี้ และยังไม่ทำการแก้ไข ก็จะส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคทางประสาทได้ และถ้าแก้ไขด้วยตนเองแล้วแต่ยังรู้สึกว่าไม่สบายใจ หรือยังไม่สามารถปล่อยวางอารมณ์ฉุนเฉียวลงได้ ก็ควรเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา
-----------------------------------------
อ้างอิง : iSTRONG, โรงพยาบาลเพชรเวช และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์