นักวิ่งต้องระวัง! “โรควูบ” อันตรายถึงชีวิต แม้ร่างกายแข็งแรง

นักวิ่งต้องระวัง! “โรควูบ” อันตรายถึงชีวิต แม้ร่างกายแข็งแรง

จากกรณีนักวิ่งหนุ่ม “วูบหมดสติ” ระหว่างซ้อมวิ่ง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งที่ผ่านมาออกกำลังกายเป็นประจำและมีสุขภาพแข็งแรง ถือเป็นอุทาหรณ์ให้ระวัง “โรควูบ” ภัยเงียบของนักกีฬา

หลังจากที่มีนักวิ่งหนุ่มไปซ้อมวิ่งที่สวนลุมพินีแล้วเกิดอาการ “วูบหมดสติ” ไป และสุดท้ายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นเรื่องน่าตกใจในวงการนักวิ่งพอสมควร เนื่องจากนักวิ่งคนดังกล่าวเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรงดี และออกกำลังกายด้วยการซ้อมวิ่งอยู่เป็นประจำ จึงไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น

แต่หลังจากนั้นได้มีการเปิดเผยโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของนักวิ่งก่อนเสียชีวิต 3 วัน ระบุว่า เจ้าตัวเคย “วูบหมดสติ” มาแล้วแต่ไม่เป็นอะไรมาก แต่เมื่อมีอาการอีกครั้งกลับเสียชีวิตทันที ทำให้มีหมอหลายคนออกมาเตือนว่าอาการนี้เกิดจาก “โรควูบ” ซึ่งเป็นภัยร้ายสำหรับนักกีฬาและคนออกกำลังกายเป็นประจำอาจมองข้ามไป

หนึ่งในหมอที่ออกมาพูดถึงประเด็น “โรควูบ” ก็คือ นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา อายุรแพทย์โรคหัวใจ ผู้ชำนาญการด้าน Sports Cardiology การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช อธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สำหรับนักกีฬา และ บุคคลทั่วไปที่ออกกำลังกาย อาการวูบขณะออกกำลังกาย ให้ถือว่าเป็นความผิดปกติ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้

การวูบเป็นลม ส่วนใหญ่จะมาจากการออกกำลังกายที่หนักเกินไป หรือนานเกินไป แต่ส่วนน้อยมาจากการมีโรคซ่อน โดยเฉพาะ โรคหัวใจ และ โรคสมอง ซึ่งอันตรายมาก สิ่งที่สำคัญคือต้องคัดกรองก่อนการออกกำลังกายอย่างจริงจังว่าเรามีโรคซ่อนที่ไม่รู้ตัวหรือไม่ และควรทำโดยรีบด่วน โดยเฉพาะถ้ามีอาการเตือนดังต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม

 

  • คนอายุน้อยและนักกีฬาทำไมถึงเสี่ยง?

“โรควูบ” บางคนอาจเข้าใจว่าเกิดขึ้นได้เฉพาะกับวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่จริงๆ แล้วสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย บางครั้งก็เกิดกับคนหนุ่มสาวที่อายุยังน้อยก็มี โดยสาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวเสี่ยงต่อโรควูบ ได้แก่ 

- หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวเกินไป หัวใจโต

- เส้นเลือดหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด

- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

  • อาการอย่างไรที่ควรไปตรวจอย่างละเอียด เพื่อป้องกัน “โรควูบ”

1. หากเครียดหรือเคยมีอาการหมดสติมาก่อน หรือเจ็บหน้าอก หรือเคยหน้ามืดเวลาออกกำลังกาย

2. สมาชิกในครอบครัวมีประวัติหมดสติแบบหาไม่มีสาเหตุ หรือเสียชีวิตเฉียบพลัน แนะนำให้ไปตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด

  • เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับการวูบหมดสติ

1. หากระบบพร้อม ทีมพร้อม การเข้า CPR ให้แก่ผู้ที่วูบหมดสติ ก็จะทำด้วยความรวดเร็ว โอกาสรอดชีวิตจะเยอะ ไม่เฉพาะในสนามแข่งและสวนสาธารณะเท่านั้น​ แต่รวมถึงตึกต่างๆ เริ่มมีกฎหมายกำหนดให้มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ตามจุดต่างๆ แล้ว

2. การวูบหมดสติทันที ต่อให้ยังแขนขายังเกร็งอยู่ ก็ให้คิดว่าหัวใจผู้ป่วยหยุดเต้นไว้ก่อน จนพิสูจน์​ได้ว่าไม่ใช่ ห้ามรอ หรือเสียเวลาใดๆ 

3. ถ้าเป็นโรคที่รุนแรงมากๆ เช่น หัวใจขาดเลือดเยอะๆ โอกาสที่จะรู้สึกตัวตอนออกจากสนามน้อยมาก ภาพจะเป็นการกดหน้าอกไปเรื่อยๆ จนไปถึงโรงพยาบาล

4. คนทั่วไปควรให้ความสำคัญและสังเกต “อาการวูบ” ของตนเองและคนรอบข้าง ให้มากขึ้น ถ้ามีห้ามปล่อยผ่าน ตรวจให้พบ ตรวจให้เจอ เพราะอันตรายมาก

5. ทุกคนที่แข่งกีฬา ควรตรวจเช็คและคัดกรองทางกีฬา ปีละครั้ง เพื่อลดอันตรายจากการเล่นกีฬา ยิ่งออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก ยิ่งนาน ยิ่งต้องเช็คร่างกาย

ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วการออกกำลังกายก็ยังถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งสามารถทำที่ไหนก็ได้ไม่ว่าจะที่บ้านหรือสวนสาธารณะ แต่ผู้ที่ออกกำลังกายก็จำเป็นอย่างมากที่จะต้องตรวจเช็คสุขภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ อย่าเพิ่งมั่นใจว่าในเมื่อออกกำลังกายเป็นประจำแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางสุขภาพขึ้น

อ้างอิงข้อมูล : นพ.อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา (หมอแอร์), Nation TV, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม และ Avarinshop