ปรับโฉม "รพ.อำเภอ"ทั่วประเทศ “สมศักดิ์”ประกาศนโยบายสธ.ปี67-68

ปรับโฉม "รพ.อำเภอ"ทั่วประเทศ “สมศักดิ์”ประกาศนโยบายสธ.ปี67-68

“สมศักดิ์”ประกาศ5+5 นโยบายสธ.ปี67-68 เร่งรัด 5 เรื่อง ปรับโฉมรพ.อำเภอทั่วประเทศ เชื่อมโยงข้อมูลประวัติรักษาทั่วประเทศ  ดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด  พรบ.อสม. จัดซื้อเครื่องมือให้อสม. เดินหน้าถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่น

KEY

POINTS

 

 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567  ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข(สธ.)  กล่าวมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 - 2568 อย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง โดยมี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเข้าร่วมทั้งแบบOnsiteและOnlineว่า  จะขับเคลื่อนนโยบายสธ. 5+5 เร่งรัดพัฒนาสานต่อ  โดยนโยบายสำคัญ เร่งรัดให้เห็นผลเป็นรูปธรรม 5 ด้าน  ประกอบด้วย

5 นโยบายสธ.เร่งรัดพัฒนา

 1.ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เดินหน้าเชื่อมโยงข้อมูลทั้งประวัติการรักษาทั่วประเทศ การเบิกจ่ายค่าบริการรักษาผ่านระบบ Financial Data Hub (FDH) เน้นบริการเจาะเลือดใกล้บ้าน นัดหมายออนไลน์ บริการส่งยาผ่าน Health Rider และทางไปรษณีย์ เพื่อลดความแออัดและลดการรอคอย รวมถึงการใช้ Thailand Health Atlas เข้าถึงกลุ่มเปราะบางในชุมชน

2.แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างบุรณาการ ทบทวนกฎกระทรวงฯ กำหนดปริมาณยาเสพติดที่สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ดึงกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเพื่อการแพทย์ รวมถึงยกระดับการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดและมินิธัญญารักษ์

3.การแพทย์ปฐมภูมิ เน้นบูรณาการภารกิจถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), เดินหน้าออก พ.ร.บ.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ Smart อสม. ,ใช้กองทุนสุขภาพตำบลสนับสนุนการดำเนินงานสาธารณสุขท้องถิ่น  และควบคุมและป้องกันวัณโรคและไข้เลือดออกเชิงรุก

4.เศรษฐกิจสุขภาพ อุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญที่จะผลักดันสู่ตลาดระดับโลก ,เน้นเสริมสร้างระบบนิเวศเพื่อส่งเสริมนโยบายอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสุขภาพ ,ยกระดับการขออนุมัติ/อนุญาตผ่าน E-Service,ศูนย์กลางการแพทย์มูลค่าสูง (Medical Hub and Advance Therapy Medicinal  Product : ATMPs) ยกระดับมาตรฐานการแพทย์แผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สร้างงานสร้างอาชีพ และจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขับเคลื่อนภารกิจเศรษฐกิจสุขภาพ

5.เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาลและปริมณฑล สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ปรับโฉมโรงพยาบาลชุมชนหรือรพ.อำเภอทั่วประเทศ มีระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อ และรถโมบายโรคหลอดเลือดสมอง

5 นโยบายสธ.สานต่อ

นอกจาก 5 นโยบายเร่งรัดแล้ว ยังมี 5 นโยบายสานต่อ ประกอบด้วย

1.โครงการพระราชดำริฯ / เฉลิมพระเกียรติ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 4 โครงการ คือ โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ, โครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ, โครงการยกระดับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลชัยพัฒน์ และหน่วยบริการปฐมภูมิ 72 แห่ง และโครงการดูแลสุขภาพพระภิกษุสงฆ์ฯ

2.การสร้างขวัญและกำลังใจบุคลากร เน้นการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์บุคลากร ผู้ป่วยและญาติ ปรับปรุงบ้านพักบุคลากรสาธารณสุข ลดภาระงาน ลดภาระหนี้สินของบุคลากร และการนำกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ.

3.ส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิต เชิญชวนประชาชนออกกำลังกายทุกวันจันทร์ ,เพิ่มการเข้าถึงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาใกล้บ้าน /ตรวจรักษาจิตเวชทางไกล (Telepsychiatry), จัดตั้งหน่วยงานบูรณาการดูแลสุขภาพจิตและยาเสพติด และจัดตั้งกองทุนบำบัดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด

 4.สถานชีวาภิบาล เดินหน้าผลิตผู้ดูแลผู้ป่วย (Caregiver) ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้าน (Home Ward/Hospital at Home) และจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลทุกอำเภอทั่วประเทศ

5.ทุกคนปลอดภัย ยกระดับระบบดิจิทัลในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค การจัดการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทุกมิติ ยกระดับบริการการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยวิกฤตอย่างครอบคลุม (UCEP) และจัดตั้งกองทุนความปลอดภัยนักท่องเที่ยว

“นโยบายกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 - 2568 ยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการสุขภาพและสาธารณสุขของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เน้นเสริมสร้างรากฐานระบบสาธารณสุข ด้วยเรื่องการแพทย์ปฐมภูมิ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลพัฒนาระบบ และการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยสุขภาพ”นายสมศักดิ์กล่าว 

ลงทุนเพิ่มอุปกรณ์ให้อสม.

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า  แค่นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว กลัวเงินไม่พอ ซึ่งรัฐให้มา 1.4 แสนล้านบาท แต่บอกรับผู้ป่วยไม่อั้น ขณะที่งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 30 บาทได้มาราว 3,600 บาทต่อคนต่อปี ต้องทำให้ไม่เกินโควต้าเงิน  ต้องช่วยกันให้มีคนเข้ามาหาบุคลากรทางการแพทย์น้อยลง

ปรับโฉม \"รพ.อำเภอ\"ทั่วประเทศ “สมศักดิ์”ประกาศนโยบายสธ.ปี67-68

โดยสนับสนุนอสม. ปัจจุบันมีราว 1.07 ล้านคน แบ่งทำงานเป็นคุ้ม โดย 1 คุ้มมีอสม.3-5 คน ดูราว 30-50 หลังคาเรือน จึงต้องทำกฎหมายที่เป็นพรบ.อสม.  เอาอสม.มาทำงาน ซื้อเครื่องมือใส่ถุงย่ามกระเป๋าอสม. เช่น อุปกรณ์ตรวจความดัน  ซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 3 แสนคุ้ม ถ้าลงทุนซื้อให้คุ้มละ 1,000 บาท เป็นเงิน 300 ล้านบาท ถ้าลงทุนให้ 1,000 เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท แต่ต้องคิดตัวเลขว่าลงทุนแล้วทำให้คนเข้ารพ.น้อยจริงหรือไม่ 

ลงทุนเพิ่มมูลค่ารพ.ชายแดนรับผู้ป่วยต่างชาติ

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจสุขภาพ  เมดิคัลฮับในเรื่องเมดิคัลเซอร์วิสฮับ ต้องดูที่เมืองท่องเที่ยว   กองเศรษฐกิจสุขภาพและประกันสุขภาพ ต้องประสานกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการเก็บเงินค่าบริการจากประกันสุขภาพของนักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากนี้ อาจจะไปมองที่ชายแดน ถ้ามีงบประมาณก็จัดไปลงทุนรพ.ชายแดนให้มีมูลค่ามากขึ้น รองรับผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านที่จะข้ามมารักษาในประเทศไทย 

ฝากนโยบายสธ. ให้ขวัญกำลังใจคนมีบุตร

ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า หากสธ.ใช้นโยบายการให้ขวัญกำลังใจกับครอบครัวใหม่ๆ หรือสุภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ให้ความมั่นใจกับเขา ถ้าเสียสละมีบุตรตามมาตรฐานแล้ว ทางรัฐบาลโดยสธ.ช่วยกันดูแล เพื่อให้เกิดความมั่นคง ในเรื่องการเลี้ยงบุตร คลอดบุตร เพราะจากที่ออกเยี่ยมประชาชนในชนบทและกทม. ได้ยินคำขอร้องจากครอบครัวใหม่ๆและสตรีวัยเจริญพันธุ์ว่า เมื่อตั้งครอบครัวแล้ว ไม่กล้ามีบุตรทั้งที่อยากมี เกรงจะไม่สามารถเลี้ยงบุตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ทำให้ประเทศมีปัญหาเรื่องการเกิดอย่างมาก

"ฝากรมว.สธ.เรื่องนโยบายการมีบุตร ด้วยการให้ขวัญกำลังใจครอบครัวใหม่และสุภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์  รวมถึง ฝากเรื่องการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อประชาชนทั่วประเทศ"นายสันติกล่าว