อนาคต ‘มนุษย์’ ในโลก ‘ยุคอุตสาหกรรม’

อนาคต ‘มนุษย์’ ในโลก ‘ยุคอุตสาหกรรม’

“อีริก ฟรอมม์” นักจิตวิทยาสังคมนิยม มนุษยนิยม เคยวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิดมาก ระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสมัยใหม่พัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพถึงจุดที่ว่า นอกจากชนชั้นผู้ปกครองจะรวมศูนย์การผลิต และการจัดองค์กรสมัยใหม่เพื่อผลิตให้ได้มาก ได้เร็ว ได้ถูกที่สุดแล้ว

พวกเขายังต้องการให้ประชาชนเป็นผู้บริโภคที่มีแบบวิถีชีวิตคล้ายๆ กัน เป็นผู้บริโภคที่พร้อมจะเชื่อฟังสิทธิอำนาจที่ไม่ปรากฏนาม เชื่อในภาพลวงตาว่า ประชาชนเป็นอิสระชน ผู้ไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิอำนาจใด ของใคร

มนุษย์สมัยใหม่แสวงหาผู้ช่วยเหลือจาก “แม่ใหญ่” ของบริษัทหรือของรัฐ กลายเป็นเด็กที่ติดแม่และรูปปั้นบูชาที่ทำหน้าที่คล้ายแม่แบบเด็กที่ไม่รู้จักโต มันทำให้มนุษย์รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาพอใจอย่างแท้จริง เพราะว่าการยึดติดในรูปปั้นบูชาแบบนี้ทำให้เขาไม่สามารถพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่

มนุษย์สมัยใหม่ไม่สามารถมีความสุขได้อย่างแท้จริง เพราะว่าโลกสมัยใหม่นั้นเศร้าหมอง น่าเบื่อหน่าย ทำให้สิ่งต่างๆ รวมทั้งชีวิตมนุษย์เป็นเพียงเศษธุลี ที่อยู่แยกตัดขาดจากสิ่งอื่นๆ และชีวิตมนุษย์กลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมาย

โลกยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมสร้างทั้งเรื่อง “ความแปลกแยก” ในการทำงานและการบริโภค ทำให้มนุษย์กลายเป็นสิ่งของ สูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเอง ถูกควบคุมโดยสิ่งของต่างๆ และสถานการณ์ต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น

โลกวันนี้ บางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างไปจากเดิมโดยขั้นพื้นฐานกำลังเกิดขึ้น มีความไร้มนุษยธรรมชนิดใหม่เกิดขึ้น นั่นก็คือ ความรู้สึกเมินเฉยไม่แยแส (Indifference) เป็นความแปลกแยกโดยสมบูรณ์ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากปรากฏการณ์ 2 เรื่องนี้

เมื่อไอชมานน์ เจ้าหน้าที่คนสำคัญของฮิตเลอร์ ผู้มีบทบาทในการสั่งฆ่าชาวยิวในค่ายอพยพถูกจับขึ้นศาลอาชญากรสงครามภายหลังจากที่เยอรมันแพ้ เขายืนยันว่าเขาเป็นเพียงข้ารัฐการ ผู้มีหน้าที่บริหารการเดินรถไฟและทำงานตามหมายกำหนดการเท่านั้น เรื่องที่เขาพูดเป็นความจริงส่วนหนึ่ง 

เราแต่ละคนในโลกยุคใหม่นี้ต่างมีความเป็นคนแบบไอชมานน์ (คนที่อ้างว่าทำตามหน้าที่โดยไม่แยแสผลกระทบ) อยู่ในตัวเราด้วยกันทั้งนั้น

โลกทุนนิยม

คำโต้แย้งของไอชมานน์ ไม่ต่างไปจากความคิดของเฮอร์มาน คาห์น นักวิจัยเรื่องอาวุธปรมาณูคนสำคัญของสหรัฐ ในยุคทศวรรษ 1960 เขากล่าวว่า ในช่วงแรกของสงครามปรมาณู (ระหว่างสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย) ถ้าคนอเมริกันต้องเสียชีวิต 60 ล้านคน เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าคนอเมริกันต้องเสียชีวิต 90 ล้านคน นั่นจะเป็นจำนวนที่มากเกินไป

เฮอร์มาน คาห์น หมายถึงว่า ถ้าสหรัฐไม่ทำสงครามก่อน ปล่อยให้โซเวียตรัสเซียเป็นฝ่ายยึดครองทำให้สหรัฐกลายเป็นสังคมนิยม คนอเมริกันจะสูญเสียมากกว่าการที่สหรัฐจะทำสงครามเพื่อเอาชนะโซเวียตรัสเซียให้ได้ก่อน

สิ่งที่น่ากลัวจริงๆ ก็คือ คนแบบนี้ไม่ได้เป็นคนที่ผิดปกติต่างไปจากคนอื่น มีคนอเมริกันหลายส่วนที่คิดคล้ายๆ กับเฮอร์มาน คาห์น ทัศนคติแบบมนุษย์ที่ขาดความเป็นมนุษย์ (Dehumazized Human) ไปแล้วนี้ ทำให้มนุษย์สมัยใหม่นอกจากไม่สนใจ ไม่เอาใจใส่ดูแลเพื่อนมนุษย์ในฐานะพี่น้องแล้ว ยังไม่สามารถดูแลได้แม้แต่ตัวเขาเอง ทัศนคติแบบเมินเฉยต่อการทำลายล้างเช่นนี้ คือบุคลิกอุปนิสัยของมนุษย์ในโลกสมัยใหม่

ทางเลือกคือการฟื้นฟูคติมนุษยนิยมขึ้นมาใหม่

สำหรับโลกปัจจุบัน ฟรอมม์มองว่า มนุษย์ทั้งโลกมีทางเลือกแค่ ถ้าเราไม่ฟื้นฟูคติมนุษยนิยม (Humanism) ขึ้นมาใหม่ เราก็จะกลับไปสู่สังคมอนารยชนผู้ป่าเถื่อน (Barbarism)

คติมนุษยนิยม เป็นขบวนการและทัศนะทางศีลธรรมและปัญญาของปัญญาชนชาวยุโรปในยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผลในศตวรรษที่ 18 ที่มุ่งให้ความสำคัญสูงสุดกับมนุษย์ผู้มีศักยภาพ/ความสามารถที่จะพัฒนาตนเอง มีความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และกำหนดชะตากรรมของตนเองได้อย่างเต็มที่ 

คติมนุษยนิยมต่อต้านอำนาจของคริสตจักรและระบบราชาธิปไตย/เจ้าขุนมูลนายแบบฟิวดัลที่ครอบงำให้มนุษย์อยู่ภายใต้สิทธิอำนาจและกฎเกณฑ์ของชนชั้นผู้ปกครองที่เป็นอภิสิทธิ์ชน

ทางเลือกในโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ที่ระบบเครื่องจักรกลของทุนนิยมครอบงำมนุษย์ให้เป็นเพียงสิ่งของ/สินค้าชนิดหนึ่ง คือการฟื้นฟูคติมนุษยนิยมที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะมนุษย์ผู้มีศักดิ์ศรีและความเป็นตัวของตัวเองขึ้นมาใหม่ 

คนที่ตื่นตัวมองเห็นปัญหาควรช่วยกันทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่เข้าใจ/มองเห็นสถานการณ์ปัจจุบัน ที่พวกเขาตกเป็นทาสการครอบงำของรูปปั้นบูชาของระบบทุนนิยม โดยไม่ตระหนักรู้ตัวว่าที่จริงแล้วนี่คือสถานการณ์ที่ไร้ความเป็นมนุษย์มากที่สุด และเป็นอันตราย ไม่ใช่เฉพาะในทางร่างกายเท่านั้น แต่เป็นอันตรายทางด้านความคิดจิตใจที่จะนำมนุษย์ไปสู่ความแตกแยกอย่างเต็มที่ด้วย

ถ้าหากมนุษย์เข้าใจปัญหาชีวิตทางสังคม ที่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมกำลังสร้างขึ้น มนุษย์เยียวยาสังคมได้เปรียบได้กับการเยียวยาสุขภาพจิตของปัจเจกชนให้พ้นจากครอบงำของภาพลวงตาและกลับมามีสุขภาพจิตปกติได้ 

การฟื้นฟูคติมนุษยนิยมควบคู่ไปกับการสร้างสังคมนิยมประชาธิปไตยในโลกยุคใหม่น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะการพัฒนาทางเทคโนโลยีและทางเศรษฐกิจสังคมในประเทศส่วนใหญ่ ทำให้มนุษย์สามารถผลิตอาหารและสิ่งจำเป็นต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้มากเพียงพอ จนมนุษย์ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานและเวลาในการหาเลี้ยงชีพอย่างมากมายเท่ากับในยุคก่อนหน้านี้ หากมีการจัดสรรผลผลิตอย่างทั่วถึง เป็นธรรม

มนุษย์ในโลกยุคใหม่ได้รับการศึกษา การรับรู้ข่าวสาร การติดต่อเชื่อมโยงกันมากยิ่งกว่ายุคใดๆ ถ้าหากมนุษย์เข้าใจโลกที่เป็นจริง (ซึ่งต่างจากภาพมายาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม) และตั้งเป้าหมายการพัฒนามนุษย์ในแนวใหม่ คือ มุ่งสร้างมนุษย์ที่มีวุฒิภาวะ สร้างสรรค์ รักใคร่คนอื่นและมีเหตุผล 

ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นให้ถือเป็นแค่แนวทาง/เครื่องมือเพื่อเป้าหมายใหม่ที่ว่านี้ มนุษย์จะก้าวข้ามพ้นครอบงำของภาพลวงตาของระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและสร้างสังคมที่มีสุขภาพจิตดีได้