ต้องทำอย่างไร? หากไม่ต้องการให้ประชากรไทยเหลือเพียงครึ่งประเทศ

ต้องทำอย่างไร? หากไม่ต้องการให้ประชากรไทยเหลือเพียงครึ่งประเทศ

บทความนี้ต้องการนำเสนอ เกี่ยวกับวิธีที่เป็นไปได้ในการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์รวมของประชากรไทย เพื่อตอบคำถามที่ว่า “ต้องทำอย่างไร หากไม่ต้องการให้คนไทยเหลือเพียงครึ่งประเทศ”

จากข้อมูลคาดการณ์จำนวนประชากรที่ถูกเขียนบนบทความพิเศษเรื่อง “จะเป็นอย่างไรหากสังคมไทย ‘ตายมากกว่าเกิด’     ไปเรื่อย ๆ” พบว่า ภายในปี ค.ศ. 2083 ประชากรในประเทศไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน โดยในจำนวนนี้จะมีเพียง 14 ล้านคนที่เป็นประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15 – 64 ปี) จากปัจจุบันที่มีประชากรวัยแรงงานอยู่ถึง 46 ล้านคน 

ยิ่งไปกว่านั้นเราจะพบว่า ประชากรผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคน เป็น 18 ล้านคน โดยจากสัดส่วนนี้จะเห็นว่า ในปี ค.ศ. 2083 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรในประเทศ ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวสู่สังคมสูงวัยระดับสูงสุดของประเทศไทย 

นอกจากนี้ จากการที่ประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยมีจำนวนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงความอยู่รอดของภาคธุรกิจ ความเป็นอยู่ของคนในชาติ หรือแม้แต่ความมั่นคงระดับประเทศได้ 

ในบทความนี้จึงต้องการนำเสนอเกี่ยวกับวิธีที่เป็นไปได้ในการเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์ของประชากรไทย เพื่อตอบคำถามที่ว่า “ต้องทำอย่างไรหากไม่ต้องการให้คนไทยเหลือเพียงครึ่งประเทศ” 

จากสาเหตุดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้เขียนจึงได้ทำการรวบรวมเหตุผลสนับสนุนที่อาจช่วยในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของอัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศ ได้แก่

การเสริมสร้างทัศนคติ และค่านิยมคนรุ่นใหม่ ในการสร้างครอบครัว และบุตรในวัยอันควร เนื่องจากในปัญหาเรื่องของการคาดการณ์จำนวนประชากรไทย

ในปี ค.ศ. 2083 พบว่าประชากรจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงอัตราการเกิดที่ลดลง และเมื่อดูจากผลงานวิจัยของ พวงประยงค์ (2018) ในเรื่องของความต้องการมีบุตรในอนาคต

โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงในช่วงอายุ 15-49 ปีที่แต่งงานแล้ว จำนวน 15,661 ราย มีเพียงร้อยละ 18.8 เท่านั้นที่ต้องการมีลูก การที่เราเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมให้กับคนรุ่นใหม่ในเรื่องของการมีบุตรและการสร้างครอบครัว จึงเป็นการแก้ปัญหาได้ที่ต้นเหตุ

การผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ปี โดยผลการสำรวจจากนิด้าโพล (2566) เรื่องของการอยากมีลูกของคนกลุ่มอายุ 18-40 ปี พบว่า คนที่ไม่อยากมีลูกมีความกังวลในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกมากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 38.32

และนอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่ามาตรการที่คนต้องการรัฐสนับสนุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือต้องการให้มีการสนับสนุนการศึกษาฟรี ต้องการให้รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูก และ ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก ซึ่งถ้ารัฐมีมาตรการตรงส่วนนี้อาจจะทำให้ประชาชนมีความสนใจในการมีลูกมากยิ่งขึ้น

ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน สำหรับครอบครัวที่พ่อแม่ออกไปทำงาน (หลายบริษัทที่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย คนทำงานมีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพมากว่าไม่มีสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย

เนื่องจากพ่อแม่ทำงานได้เต็มที่ไม่ต้องพะวงกังวลใจเรื่องดูแลลูกในช่วงเวลาทำงาน) หรือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาระมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษา  โดยเฉพาะสตรีที่อายุยังน้อย เพื่อลดภาวะการมีบุตรยากในคู่สมรสที่อายุสูงขึ้น

 โดยแนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาการแทนอธิบดีกรมอนามัย ที่ต้องการให้กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในเรื่องของการมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรจังหวัดละ 1 แห่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาภาวะมีบุตรยากได้เร็วขึ้นในอายุที่น้อยลง  และเพื่อเพิ่มโอกาสในการมีบุตร  

พญ.อัจฉรา  ยังได้เสนอแนะเพิ่มอีกว่า การมี child care ในทุกบริษัท  หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ อาจช่วยลดประเด็นบทบาทที่ขัดกันระหว่างการทำงานกับการเลี้ยงดูบุตรได้  โดยการมี child care ดังกล่าว ถือเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้ถือเป็นการสิ้นเปลือง 

นอกจากนี้ จากที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ได้ให้สัมภาษณ์บน The Coverage (2566) มีการเสนอให้ทุกโรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป สนับสนุนบุคลากรในโรงงานของตน โดยการทำศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในทุก ๆ โรงงาน รวมไปถึงศูนย์เลี้ยงเด็กพื้นฐานในตำบล ซึ่งอาจเกิดจากการร่วมมือระหว่างรัฐกับนายจ้าง

นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน (เกษตรกรประมาณ 12 ล้านคน อาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย ประมาณ 8 ล้านคน) ต้องเผชิญกับความจริงที่ว่า แม้เกษตรกรจะสามารถสร้างผลผลิตได้ แต่คนงานจะอยู่ได้ด้วยการซื้อขายเพียงอย่างเดียว การแจกหรือบริจาคจึงเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของการพัฒนา การส่งเสริม หรือดึงดูดให้คนอยากมีลูกจึงถือเป็นหนทางที่ดีและยั่งยืน 

กล่าวโดยสรุปคือ ปัจจุบันสังคมไทยที่กำลังเผชิญกับปัญหาการลดลงของประชากร  ซึ่งอาจก้าวไปสู่วิกฤตด้านเศรษฐกิจและสังคมได้หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน  

ซึ่งในบทความนี้ได้นำเสนอแนวทางที่หลากหลาย เพื่อแก้ไขปัญหาลดลงของจำนวนประชากรของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีบุตร  และการสนับสนุนด้านโครงสร้างทางสังคมในทุกขั้นตอนและทุกช่วงวัยของชีวิต  

ตลอดจนถึงการส่งเสริมทัศนคติและค่านิยม ที่สนับสนุนการสร้างครอบครัวและการมีบุตรในสังคมไทย และแม้มีแนวทางการแก้ปัญหาหรือผลักดันการมีบุตร

อย่างไรก็ตามทุกท่านต้องไม่ลืมตระหนักถึงความจริงที่ว่า    “ถ้าอยากให้ประชากรเพิ่ม  ก็ต้องคิดว่ามาตรฐานการดำรงชีวิตที่สามารถเพิ่มประชากรได้คืออะไร เมื่ออยากจะใช้ประโยชน์จากมนุษย์ แต่ไม่ยอมลงทุนกับมนุษย์ แบบนี้หมายความว่าอย่างไร

อยากมีกำไร เพียงแค่ลงทุนก็ได้กำไร แต่กำไรนั้นก็มาจากมนุษย์ แล้วจะไม่ลงทุนกับมนุษย์อย่างนั้นหรือ...” ดังบทสัมภาษณ์ที่ถูกเผยแพร่ของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ บน The Coverage (2566)

Add Reference
The Coverage. (2566). นี่คือความบัดซบที่เราไม่เข้าใจ ในสังคม ‘การค้าอุตสาหกรรม’ ที่สัมพันธ์กับ ‘เด็กเกิดน้อย’. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566
นิด้าโพล. (2566). มีลูกกันเถอะน่า. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม 2566
พวงประยงค์ ก. (2018). ความต้องการมีบุตรในอนาคต: หลักฐานเชิงประจักษ์จากสตรีที่สมรสในประเทศไทย (FUTURE DESIRE FOR CHILDREN: EMPIRICAL EVIDENCES FROM MARRIED WOMEN IN THAILAND). Srinakharinwirot Research and Development Journal of Humanities and Social Sciences, 10(19, January-June), 1–19. 

บทความนี้เขียนโดย
- ศาสตราจารย์ ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน
นักวิชาการอิสระ อดีตศาสตราจารย์วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาฯและสถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์
- รศ.ดร ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์
- รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส 
หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่องานวิจัยด้านบรรษัทภิบาลและการเงินเชิงพฤติกรรม สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์
- ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์