ส่อง Top 10 ประเทศ "ประชากรสูงสุด" ภายในปี 2593

ส่อง Top 10 ประเทศ "ประชากรสูงสุด" ภายในปี 2593

“สหประชาชาติ” เผยแพร่ข้อมูล “ประชากรโลก” ล่าสุด “อินเดีย” จ่อเตรียมขึ้นแท่นประเทศที่มีประชากรสูงสุดในโลกแซงหน้า “จีน” ภายในปี 2569 และในสิ้นปีนี้ประชากรโลกจะแตะ 8,000 ล้านคน

สหประชาชาติ หรือ UN ได้เผยแพร่ข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับแนวโน้มประชากรโลกทุก 2 ปี โดยได้เผยแพร่ข้อมูลแนวโน้มประชากรโลก” ฉบับที่ 27 เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา เนื่องใน “วันประชากรโลก” (World Population Day) โดยกรุงเทพธุรกิจได้สรุปสาระสำคัญมาให้อ่านอย่างครบถ้วนดังนี้

 

อินเดียจะมีจำนวนประชากรแซงหน้าจีน

แม้ว่าจีนครองตำแหน่งอันดับ 1 ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกมาอย่างยาวนานด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน แต่อัตราการเติบโตของประชากรในจีนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทั้งด้วย “นโยบายลูกคนเดียว” ที่ริเริ่มในปี 2522 ในยุคของรัฐบาล “เติ้ง เสี่ยวผิงเพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป ทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะไปทำแท้งเมื่อรู้ว่ากำลังจะได้ลูกสาว ตามความเชื่อของคนจีนที่มักอยากจะได้ลูกชายไว้สืบสกุลมากกว่า

นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวยังส่งผลกระทบในระยะยาวให้แก่จีน ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน จำนวนประชากรชายที่มากกว่าหญิงหลายเท่าตัว ตลอดจนการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้จีนยกเลิกนโยบายลูกคนเดียวไปเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2559

ต่อมาในปี 2564 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนได้อนุมัตินโยบายนโยบาย “ลูก 3 คน” แทน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีลูกด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การให้เงินโบนัสในการมีบุตร การอุดหนุนการคลอดบุตรและการช่วยเหลือค่าเรียนการศึกษาของเด็ก แต่ดูเหมือนว่านโยบายนี้จะมาช้าไป 

จากข้อมูลอัตราการเกิดประจำปี 2564 ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีนพบว่า ในหลายมณฑลของจีนมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และบางพื้นที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี โดยมีอัตราการเกิดเฉลี่ยเพียง 7.52 คนต่อประชากร 1,000 คน

"กวางตุ้ง" ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมณฑลที่ร่ำรวยและมีประชากรมากที่สุดในจีนนั้น เป็นเพียงมณฑลเดียวจาก 31 มณฑลที่มีเด็กเกิดใหม่ในปีที่แล้วมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนมณฑลหูหนาน มีอัตราการเกิดต่ำกว่า 500,000 คนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 60 ปี ขณะที่มณฑลเจียงซี ทางภาคตะวันออกของประเทศ มีอัตราการเกิดใหม่ต่ำกว่า 400,000 คนเป็นครั้งแรกนับจากทศวรรษ 1950

หยาง เหวินจ้วง หัวหน้าฝ่ายกิจการประชากรและการวางแผน ของคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติของจีน บอกว่า คาดว่าประชากรจีนจะเริ่มหดตัวลงอีกในระหว่างปี 2564-2569 เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่มีลูก ด้วยเหตุผลด้านค่าครองชีพและภาวะความกดดันจากการทำงาน

ขณะที่อินเดีย แม้ว่าจะมีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงจาก 5.7 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในทศวรรษที่ 1950 เหลือเพียง 2 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปัจจุบัน แต่อัตราอัตราการลดลงนี้เป็นอย่างช้า ๆ ซึ่งแตกต่างจากที่มีนโยบายลูกคนเดียว โดยจากข้อมูลของสหประชาชาติพบว่า ในปี 2568 จำนวนประชากรของจีนและอินเดียจะมีเท่ากันที่ 1,430 ล้านคน ก่อนที่อินเดียจะแซงหน้าจีนในปี 2569 ด้วยจำนวนประชากร 1,440 ล้านคน ส่วนจีนยังคงอยู่ที่ 1,430 ล้าน

นอกจากนี้ รายงานยังพบว่า การเติบโตของประชากรโลกมากกว่าครึ่งตั้งแต่ปัจจุบันจะถึงปี 2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สหรัฐ และแทนซาเนีย

สำหรับ 10 อันดับประเทศที่มีประชากรสูงสุดของโลกในทศวรรษ 2050 นั้นประกอบไปด้วย

  1. อินเดีย 1,670,490,601 คน เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2565
  2. จีน 1,312,636,324 คน ลดลง 8% จากปี 2565
  3. ไนจีเรีย 377,459,883 เพิ่มขึ้น 73% จากปี 2565
  4. สหรัฐ 375,391,965 เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2565
  5. ปากีสถาน 367,808,468 คน เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2565
  6. อินโดนีเซีย 317,225,212 คน เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2565
  7. บราซิล 230,885,728 คน เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2565
  8. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 217,494,004 เพิ่มขึ้น 120% จากปี 2565
  9. เอธิโอเปีย 214,812,308 คน เพิ่มขึ้น 74% จากปี 2565
  10. บังกลาเทศ 203,904,891 คน เพิ่มขึ้น 19% จากปี 2565

ส่วนประเทศไทย คาดว่าจะมีประชากรอยู่ที่ 67,880,087 คน ภายในทศวรรษดังกล่าว ลดลง 5% จากปี 2565

ส่อง Top 10 ประเทศ \"ประชากรสูงสุด\" ภายในปี 2593

 

ประชากรโลกจะเกิน 8,000 ล้านคนภายในสิ้นปี

ตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา ประชากรจะเพิ่มขึ้น 1,000 ล้านคนในทุก 12 ปี ซึ่งในปีนี้สถิติยังคงเป็นเช่นเดิม โดยในสิ้นปี 2554 โลกมีประชากรครบ 7,000 คน และในสิ้นปีนี้ (2565) ทั่วโลกจะมีประชากร 8,000 ล้านคน แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตสัมบูรณ์จะใกล้เคียงกับในทศวรรษก่อนหน้า แต่อัตราการเติบโตของประชากรโลกยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา อัตราการอัตราการเติบโตของประชากรลดลงเหลือต่ำกว่ากว่า 1% โดยในปี 2564 เหลือเพียง 0.82% ซึ่งน้อยกว่ายุคทศวรรษ 1960 ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรสูงกว่า 2.3% กว่าครึ่ง

 

โควิด-19 คร่าชีวิตคนไปกว่า 15 ล้านราย

การแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรโลกและแนวโน้มการย้ายถิ่น แม้จะมีการเปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลแต่ละประเทศ แต่มีแนวโน้มที่จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากการตรวจผลโควิด-19 นั้น ทำได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก

ดังนั้นวิธีหนึ่งที่สหประชาชาติใช้ตรวจสอบยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั่นคือ ตรวจสอบจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับ ปีก่อนหน้าที่ยังไม่เกิดการแพร่ระบาด นั่นคือปี 2562 ที่มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกราว 57,940,000 ราย 

ขณะที่ปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 63,170,000 ราย เพิ่มขึ้นราว 5,230,000 ล้านราย และในปี 2564 มีผู้เสียชีวิต 69,250,000 ราย เพิ่มขึ้น 11,310,000 ราย จึงอนุมานได้ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยประมาณ 15 ล้านราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับการประเมินของหน่วยงานอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลก ราว 14,900,000 ราย ส่วน หนังสือพิมพ์ The Economist ประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 17,600,000 ราย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้มีความไม่แน่นอนสูง แต่มีแนวโน้มสูงที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะมากกว่าการรายงานจริงที่มีเพียง 5,400,000 รายทั่วโลก

 

จำนวนประชากรโลกพุ่งสูงสุด 10,400 ล้านคน ในปี 2629

ก่อนหน้านี้ “แนวโน้มประชากรโลก” ฉบับที่ 26 ได้คาดการณ์ว่าในปี 2643 จะมีประชากรโลกราว 10,880 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นอีก แต่ในการรายงานครั้งล่าสุดสหประชาชาติระบุว่า ประชากรโลกจะพุ่งสูงสุดในปี 2629 มีประชากรเพียง 10,400 ล้านคน โดยสาเหตุที่ตัวเลขประชากรสูงสุดต่ำกว่าและมาเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมนั้นมีสาเหตุมาจาก สหประชาชาติคาดว่าอัตราการเจริญพันธุ์ (fertility rates) ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำจะลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ในกลุ่มประเทศรายได้สูงจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในช่วงครึ่งศตวรรษหลังนั่นเอง

 

อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลงต่อเนื่อง

อัตราการเจริญพันธุ์ เป็นตัวเลขที่ระบุว่าในตลอดชีวิตของผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตรกี่คน ซึ่งจะส่งผลต่อปัจจัยกำหนดอัตราประชากรโลก ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์นั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษแล้ว ในทศวรรษ 1950 โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงจะให้กำเนิดบุตร 5 คนตลอดช่วงชีวิต แต่อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกในครึ่งปีหลังของปี 2564 ลดลงเหลือเพียง 2.3 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากดูอัตราการเจริญพันธุ์ในรายประเทศ จะพบว่า ประเทศส่วนใหญ่นั้นจะมีอัตราการเจริญพันธุ์อยู่ในเกณฑ์เทียบเท่าหรือต่ำกว่าระดับทดแทน (Replacement level) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้สูงหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สเปน หรืออิตาลี มีอัตราการเกิดต่ำเพียง 1.3 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน อีกทั้งประชากร 2 ใน 3 ของโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.1 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน


ที่มา: ศิลปวัฒนธรรมGlobal TimesMatichonOur World in DataWorld Economic ForumWorld Population Prospects 2022World Population Review