Next Step เด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 มุ่ง 5 H

Next Step เด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21  มุ่ง 5 H

6 กระทรวงดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย แบบบูรณาการไร้รอยต่อ Next Step เด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ยึดกรอบพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต มุ่ง 5 H

     ตั้งแต่ปี 2560 กรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเด็กปฐมวัยร่วมกัน และในปี 2565 ขยายความร่วมมือเพิ่มอีก 2 กระทรวง คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือ 6 กระทรวง เพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต กลุ่มเด็กปฐมวัย ครอบคลุมตั้งแต่ปี 2565 – 2569ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579)

         การขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยแบบบูรณาการไร้รอยต่อ 6 กระทรวง มุ่งเน้นการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยอย่างครอบคลุม มีเป้าหมายที่สำคัญคือการดูแลเด็กให้มีร่างกายเจริญเติบโตแข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย เพื่อให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพ
ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เติบโตขึ้นเป็นคนไทยที่พึงประสงค์ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศ โดยมี 5 H  ประกอบด้วย 

1. Heart : จิตใจดีมีวินัย

2. Head : เก่งคิด วิเคราะห์เป็น

3. Hand : ใฝ่เรียนรู้มีทักษะ

4. Health : สุขอนามัยดีสุขภาพแข็งแรง

5. Hi-tech : ทันสมัย ก้าวหน้า รู้เท่าทันเทคโนโลยี
          เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานพิธีเปิด การประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาเด็กปฐมวัย แบบบูรณาการไร้รอยต่อ 6 กระทรวงว่า ยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมายพัฒนาและสร้างเสริมศักยภาพคนไทยทุกช่วงวัย ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพราะเป็นช่วงเวลาสร้างรากฐานแห่งการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์สังคม สติปัญญา ภาษา จริยธรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

มาตรฐานศูนย์เด็กเล็ก
          ภายในงานมีการอภิปราย เรื่อง “Next Step งานพัฒนาเด็กปฐมวัยไทย”  โดยพัชราพรรณ กฤษฎาจินดารุ่ง  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นมาตรฐานกลางของประเทศใช้แทนมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กแห่งชาติ เพื่อให้ทุกหน่วยงานและสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลการดําเนินงานและยกระดับคุณภาพ
     ประกอบด้วยมาตรฐาน 3 ด้าน ได้แก่

  • มาตรฐานด้านที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • มาตรฐานด้านที่ 2 ครู/ผู้ดูแลเด็กให้การดูแลและจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย
  • และมาตรฐานด้านที่ 3 คุณภาพของเด็กปฐมวัย

       จากการติดตามตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พบว่า  ยังมีปัญหาดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการ จำนวนเด็กต่อครูไม่สัมพันธ์กัน วุฒิการศึกษาผู้ดแลเด็กไม่ได้จบด้านการดูแลเด็กปฐมวัยโดยตรงและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้มีปัญหาอยู่หลากหลาย 
      เพราะฉะนั้น ในปี 2567 จะมีการติดตามการดําเนินงานตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับต้นสังกัดจํานวน 21 แห่ง และติดตามการดําเนินงานตามมาตรฐานฯของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาค : มาตรฐานด้านที่ 1 การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยรวม8 จังหวัด (8 ภูมิภาค)

พัฒนาเด็กตามบริบทพื้นที่

       สุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวว่า องค์กรปกครองท้องถิ่น(อปท.)มี 7,850 แห่ง มีศูนย์เด็กเล็กราว 18,000 แห่ง โดยเฉพาะอบต.และเทศบาล จึงมีความหลากหลายของบริบท  จึงไม่ควรจัดเสื้อโหลส่งไปให้ทั่วประเทศ ซึ่งมท.พยายามไม่ให้มีรอยต่อ  จะเดินไปสู่การมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดมาตรฐานกลาง ส่วนที่เหลือเป็นการออกแบบตามบริบทของพื้นที่ เช่น การมีสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เพื่อให้มีพัฒนาการเด็กปฐมวัยได้ตามาตรฐานที่กำหนด เป็นต้น

       “Next Step ส่วนของมท.จะขับเคลื่อนมาตรฐานศูนย์เด็กเล็กในแต่ละสังกัดอปท.ให้มีความใกล้เคียงกัน จากที่ปัจจุบันมาตรฐานต่างกันมาก เพราะเม็ดเงินงบประมาณของอปท.แต่ละระดับต่างกัน ซึ่งหากศูนย์เด็กเล็กทำดีเมื่อส่งต่อเด็กไประดับที่สูงขึ้น เช่น ประถมฯ มัธยมฯ อาชีวะก็จะไปได้ดีตามแต่ละพื้นที่”สุรพลกล่าว       
Next Step เด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21  มุ่ง 5 H
ศูนย์ฯระดับปรับปรุงกว่า 4,000 แห่ง 
     อุเทน ชนะกุล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กล่าวว่า กรมรับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็กเอกชน และระบบสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเด็กของประเทศ ขณะนี้ผลการประเมินในปีการศึกษา 2565 จากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ 50,000 กว่าแห่ง มีการประเมินตนเองของศูนย์ผ่านระบบของกรม 40,000 กว่าแห่ง พบว่า  ยังมีอีก 10,000 กว่าแห่งที่ไม่ประเมินตนเองเข้าระบบ หมายความมาตรฐานอาจจะยังไม่ได้ขับเคลื่อนในบางศูนย์ หรือขับเคลื่อนแล้วแต่ยังไม่ได้ประเมิน

        และใน 40,000 กว่าแห่งที่ประเมินตนเอง พบว่า 4,000 กว่าแห่งได้ระดับดี  และระดับปรับปรุงซึ่งเป็นระดับต่ำสุด 4,000 แห่ง  ซึ่งจะมีการรายงานข้อมูลส่งไปยังส่วนราชการที่ดูแลศูนย์เด็กเล็ก เพื่อกระตุ้นเตือนให้ไปเสริมเติมกับศูนย์ที่ยังไม่ได้ประเมินหรืออยู่ระดับปรับปรุง

         ส่วนการกำกับมาตรฐานของศูนย์เด็กเล็กเอกชน 1,000 กว่าแห่ง มีกติกาว่า จะต้องมีการต่อใบอนุญาตปีต่อปี  เพราะฉะนั้นถ้าศูนย์ไหนดำเนินการเรื่องมาตรฐานเป็นเงื่อนไขเรื่องของการต่อใบอนุญาต ส่วนคนที่มาขออนุญาตใหม่จะต้องให้ขับเคลื่อนเรื่องการประเมินตนเองผ่านระบบนี้ด้วย  ซึ่งผลการประเมินจะจัดเป็นระดับ เอ บี ซีและดี ในส่วนของซีและดีจะต้องเข้าไปดูว่าตกมาตรฐานตัวใดแล้ว จะไปช่วยเสริมและขับเคลื่อนเพื่อให้ยกระดับที่สูงขึ้น 
นำร่องดูแลเด็กเล็กในนิคมอุตฯ
        ธานินทร์ พุ่มอรุณ ผู้อำนวยการกองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า  ปัจจุบันศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการทั่วประเทศมี 82 แห่ง ใน 15 จังหวัด  และ 1 พื้นที่กทม. พยายามผลักดันให้เป็นศูนย์เด็กเล็กต้นแบบที่ถูกต้อง มีการส่งเสริมโภชนาการที่ดี มีมาตรฐานของการศึกษาทั้งครูเด็กเล็กที่ได้มาตรฐาน โดยจะต้องมีการจูงใจและช่วยเหลือสถานประกอบการที่ต้องลงทุนในส่วนนี้  
       ซึ่งกระทรวงแรงงานมีเงินสนับสนุนอยู่ 800 บาทต่อเด็ก 1 คน ขั้นต่อไปจึงจะต้องจับมือกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  เช่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่จะรับทั้งเด็กในและนอกเขตอปท. โดยเฉพาะในนิคมอุตสาหกรรมที่มีสถานประกอบการมาก และมีแรงงารย้ายถิ่นเข้ามา โดยเด็กกลุ่มนี้จะไม่มีทะเบียนบ้านและที่อยู่ตั้งในเขตท้องถิ่นนั้นๆ

     “อยากจะร่วมมืออปท.แต่ละพื้นที่ในการรับลูกของแรงงานเหล่านี้ โดยจับมือกับนิคมอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ ให้สนับสนุนเรื่องทุนอาหารกลางวัน เป็นต้น อยากนำร่องใน56 นิคมอุตสาหกรรม 15 จังหวัด มี56 นิคม”ธานินทร์กล่าว