40 % ไม่เคยเข้ารับบริการ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค

40 % ไม่เคยเข้ารับบริการ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค

ยังมีคนอีก 40 % ไม่เคยเข้ารับบริกาารบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค โจทย์ใหญ่ของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อจากนี้ คือ การขับเคลื่อนสู่ความมั่นคง ยั่งยืน หลักการ “SAFE” ขณะที่ภาคประชาชนเสนอ 4 เรื่องด่วนที่ต้องเร่งพัฒนา ข้อแรก “รวม 3 กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพประเทศ”

Keypoints:

  • 20ปี บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค  มีความครอบคลุมประชากรไทยกว่า 47 ล้านคน ช่วยให้ครัวเรือนที่ประสบภาวะวิกฤติทางการเงินด้านสุขภาพลดลง 3.2 เท่า และครัวเรือนที่ยากจนจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ลดลง 10 เท่า
  • แนวทางการขับเคลื่อนบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ภายใต้หลักคิดเรื่อง SAFE
  • 4 เรื่องด่วนที่ภาคประชาชนมองว่าควรจะเร่งดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพ เรื่องแรกต้องรวม 3 กองทุน บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ 

     เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์  ในการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ.2566 “ ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” รศ.นพ.เชิดชัย  ตันติศิรินทร์  ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทบทวนความก้าวหน้าสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย :อะไรคือความสำเร็จและความท้าทายว่า  ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในปี 2545 ซึ่งมีการขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องภายใต้ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่  เพิ่มความครอบคลุมการมีหลักประกันสุขภาพ ,เพิ่มความสะดวก เพิ่มการเข้าถึงบริการ และคลายความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

SAFE หลักพัฒนาสู่ความยั่งยืน 

     ทั้งนี้ แนวทางเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ “SAFE” ประกอบด้วย 

S (Sustainability) ความยั่งยืนของการคลังสุขภาพ

A (Adequacy) งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดบริการสุขภาพถ้วนหน้า

F (Fairness) ความเป็นธรรมของระบบสุขภาพ

และE (Efficiency) ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร

     ในรัฐบาลปัจจุบันมุ่งเน้นพัฒนา สร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนและมั่นคง ด้วยการให้เข้ารับบริการที่ใดก็ได้ ,เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ,มีทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อย่างเช่น การพลิกโฉมระบบบริการแบบดิจิทัล ในการใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ระบบเทเลเมดิซีน  และตรวจแล็ป ส่งยาใกล้บ้าน  เป็นต้น 

      ส่วนระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของประเทศในปี 2576 มี 6 เรื่อง ได้แก่ 1.เน้นสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 2.คนไทยคิดเป็นแยกแยะได้ 3.มีสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย 4.ดีเอ็นเอช่วยเตือนไม่เจ็บป่วย ลดหย่อนภาษีได้ 5.สุขภาพดีทุกช่วงวัย และ6.ยกระดับบริการด้วยเทคโนโลยี

40 %ไม่เคยรับบริการบัตรทอง

        นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า หนึ่งในแผนปฏิบัติราชการของสปสช.ฉบับที่ 5 พ.ศ.2566-2570 มีการระบุถึงการทบทวน ปรับชุดสิทธิประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการและปกป้องการล้มละลายได้จริง ซึ่งประชาชนที่มีสิทธินั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.ประชาชนที่ได้รับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำ มีราว 40 % 2.คนที่เคยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ นานๆมาทีไม่ได้มาต่อเนื่อง ราว 20 %

3.คนที่ไม่เคยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯราว 40 %

       “การมองถึงสิทธิประประโยชน์ในตอนนี้จึงมุ่งไปที่กลุ่มคนที่เคยและไม่เคยเข้ารับบริการ ที่ประสบปัญหาที่สุดในการเข้าถึงบริการ  อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19 การรับบริการสาธารณสุขของประชาชนก็เปลี่ยนไป เช่น ไปคลินิกใกล้บ้าน รับยาใกล้บ้าน ตรวจแล็ปใกล้บ้าน หรือเทเลเมดิซีนก่อนไปรพ.มากขึ้น ดังนั้น ระบบที่ต้องใช้กลไกในการหาสิทธิประโยชน์ใหม่ๆเข้ามาก็เปลี่ยนไปด้วย”นพ.จเด็จกล่าว 
8กลไกเพิ่มสิทธิประโยชน์

     แนวทางพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี 8 กลไก คือ 

1.เสนอหัวข้อผ่าน Green Channel ปัญหาสุขภาพเร่งด่วน เช่น โรคระบาด โรคอุบัติใหม่หรือนโยบายที่สำคัญของภาครัฐ

2.เป็นรายการ/ข้อเสนอใหม่ที่ใช้แทนของเดิม การรักษาเดิม มีประสิทธิผลดีขึ้น แต่ราคาเท่าเดิมหรือถูกลง สามารถเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

3.การประเมินแบบรวดเร็วรับผิด (Rapid assessment)

4.ผ่านกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ตามระบบปกติ

5.โรคหายาก

6.เป็นการเจรจากับผู้ผลิตโดยใช้งบประมาณเท่าเดิมหรือถูกลง

7. การใช้ Coverage with Evidence development(CED) เป็นกระบวนการคัดเลือกยาหรือเทคโนโลยีใหม่เข้าเป็นสิทธิประโยชน์ 

และ8.การแพทย์ขั้นสูงสุดเพื่อยกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ในระบบบริการ
40 % ไม่เคยเข้ารับบริการ บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค

งบฯคิดเป็น 9 %ของงบฯประเทศ

       ขณะที่ น้อง เจริญนาค  ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านสังคม 3  สำนักงบประมาณ กล่าวว่า งบประมาณด้านสาธารสุขของประเทศในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งรวมของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ที่ 3.48 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 9% ของงบประมาณประเทศ โดยยังต่ำกว่าคำเสนอของบประมาณราว 30 %
     แต่หากเทียบกับหน่วยงานอื่นสิ่งที่ได้ตามที่เสนอไปอยู่ที่ราว 50-60 % แต่ด้านสาธารณสุขได้ 70% ทั้งนี้ การอภิบาลระบบให้ได้บรรลุเป้าหมายสาธารณสุข สุขภาพประชาชน แต่เม็ดเงินเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นในอัตราที่ประเทศรองรับได้เป็นเจตจำนงค์ที่อยากให้เกิดขึ้น

       เป้าหมายสุดท้ายของสำนักงบประมาณที่คุมกระเป๋าเงินของทั้งประเทศ อยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่า โดยด้านสาธารณสุขมีปัญหาและความท้าทาย ได้แก่ 1.งบประมาณมีจำกัด แต่ความต้องการใช้งบประมาณมีอย่างไม่จำกัด 2.การให้ความสำคัญจำเป็น หรือการลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ 3.ความซ้ำซ้อนของการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานของรัฐ 4.การบริหารงบประมาณไม่ทันในห้วงปีงบประมาณนั้นๆ และ5.การรั่วไหลของงบประมาณที่เกิดจากการทุจริต

 4 เรื่องต้องพัฒนาเร่งด่วน

        สำหรับมุมมองของภาคประชาชน นิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนมี 4 เรื่องใหญ่  ประกอบด้วย

      1.ต้องเกิดระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียวในประเทศไทย ด้วยการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมรวมกัน จะเกิดความเป็นธรรม ประหยัดในเชิงงบประมาณ พัฒนาเรื่องคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ 

       2.ต้องทำให้ระบบบริการ หน่วยบริการทุกแห่งได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าใปรับบริการที่ไหนก็เหมือนกัน 

         3.ระบบต้องดูแลทุกคนในประเทศไทย ไม่เฉพาะคนไทย  ด้วยการแก้มาตรา 5 ในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุให้อำนาจระบบหลักประกันฯดูแลทุกคนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนจะมีการดูแลแบบไหนจะต้องมีการสมทบเงินหรือไม่ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)กำหนด

และ4.ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯมีอำนาจบริหารจัดการ ต่อรองราคายา ซื้อยาได้ด้วยกองทุนเอง เป็นกลไกสำคัญการันตีว่าเมื่อป่วยจะได้ยาที่สำคัญ จำเป็นและทันเวลา เมื่อมีงบประมาณที่จำกัดสามารถซื้อยาที่สำคัญและจำเป็นได้ในงบฯที่จำกัด