ต้องกังวลแค่ไหน? เสี่ยงเป็น “โรควิตกกังวล”

ต้องกังวลแค่ไหน? เสี่ยงเป็น “โรควิตกกังวล”

“ความวิตกกังวล” เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อเจอสถานการณ์ที่ส่งผลต่อความรู้สึก แต่หากเกิดขึ้นนานผิดปกติก็อาจเสี่ยงเป็น “โรควิตกกังวล” ได้

ความวิตกกังวล หรือ Anxiety สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัน เมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ผิดแปลกไปจากปกติ หรือ เกิด “ความเครียด” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะ มีเรื่องต้องตัดสินใจเร่งด่วนเกิดขึ้นกระทันหัน, เกิดอุบัติเหตุ, การส่งลูกไปโรงเรียนวันแรก, เริ่มงานใหม่วันแรก หรือต้องไปในสถานที่ที่ไม่เคยไปมาก่อนคนเดียว เป็นต้น ซึ่งความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นเพียงไม่นาน และคนส่วนมากสามารถใช้เวลาระยะสั้นจัดการความรู้สึกให้กลับมาปกติได้

แต่สำหรับผู้ที่ป่วยหรือเข้าข่ายเป็น โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชนั้น หากเกิดความกังวลขึ้นแล้วจะจัดการความรู้สึกเหล่านี้นานกว่าคนปกติ หรือในบางรายไม่สามารถจัดการได้เลย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในเวลาต่อมา

ข้อมูลล่าสุดจากกรมสุขภาพจิตได้เปิดเผยถึง ตัวเลขผู้ป่วยโรควิตกกังวลในไทยว่า อยู่ที่ประมาณ 1.4 แสน คน ถือว่ามากพอสมควรกับจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66 ล้าน คน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย ทำให้ไปพบจิตแพทย์ได้ช้า เพราะหลายคนมองว่าตัวเองเพียงแค่กังวลแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้เป็นอะไรมาก จึงมองข้ามไป แต่ที่จริงแล้วอาจเข้าขั้นป่วยและต้องเข้ารับการรักษา “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” สรุปข้อมูลความแตกต่างระหว่าง โรควิตกกังวล และ ความรู้สึกวิตกกังวล มาให้ทราบกันดังนี้

  • เมื่อมี “ความวิตกกังวล” เราจะรู้สึกอย่างไร ?

ใครหลายคนเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้รู้สึกเครียด สับสน คาดเดาผลลัพธ์ไม่ได้ ก็จะมีผลให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกาย เช่น มือสั่น ปวดปัสสาวะบ่อย รู้สึกปั่นปวนในท้องคล้ายคลื่นไส้ แต่อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่นานและหายไปเอง หรือสามารถจัดการให้หายไปได้ด้วยตัวเองโดยไม่ปล่อยให้มีอาการเหล่านี้มารบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

  • กังวลแค่ไหนถึงเข้าข่าย “โรควิตกกังวล” ?

โรควิตกกังวล เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่กรมสุขภาพจิตระบุว่าพบได้บ่อยมากขึ้นในสังคมไทยปัจจุบัน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะไม่สามารถแก้ไขหรือรับมือความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งมีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลทั่วไปมากเนื่องจากส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเกิดจากสาเหตุหลัก ได้แก่

1. ปัจจัยทางพันธุกรรม หมายถึง DNA กรรมพันธุ์ เช่น พ่อ แม่ คนในครอบครัว หรือเครือญาติที่มีอาการป่วนทางจิตเวช ก็จะส่งผลต่อเนื่องมายังตัวผู้ป่วยด้วย และเรื่องของสารเคมีในสมอง ฮอร์โมน และสภาพจิตใจส่วนบุคคล ก็เป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมเช่นเดียวกัน

2. ปัจจัยสภาพแวดล้อม หมายถึง การเลี้ยงดูทั้งจากครอบครัวและจากการเข้าโรงเรียน นำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อ แม่ ครู หรือคนใกล้ชิด นอกจากนี้การประสบกับเหตุการณ์ทางจิตใจขั้นรุนแรง เช่น อุบัติเหตุ, การถูกทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ, ประสบกับเหตุสะเทือนใจ ก็ถือเป็นปัจจัยที่มาจากสภาพแวดล้อม

  • โรคทางจิตเวชประเภทใดบ้าง ที่อยู่ในตระกูล “โรควิตกกังวล”

1. โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) มีความกังวลที่มากกว่าปกติในเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ โดยกังวลในเรื่องเดิมนานเกินกว่า 6 เดือน อาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียง คือ อ่อนล้า อ่อนเพลีย เหนื่อย  ไม่มีสมาธิ หงุดหงิด มีปัญหาเรื่องการนอน และการกินอาหาร รวมถึงปัญหาในการควบคุมอารมณ์

2. โรคแพนิค (Panic Disorder) มีความวิตกกังวลโดยไม่มีสาเหตุ ตื่นตระหนกจากความกังวลว่าจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ประกอบกับอาการทางกายเมื่อมีความวิตกกังวล คือ เหงื่อออกหนักมาก ใจเต้นแรง ใจสั่น รู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก หายใจติดขัด รู้สึกจะเป็นลมตลอดเวลา เป็นต้น

3. โรคกลัวสังคม (Social Phobia) มีความวิตกกังวลเวลาอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือกลัวการแสดงออกต่อหน้าคนอื่น มักรู้สึกประหม่า เมื่อออกนอกบ้าน หากต้องทำอะไรต่อหน้าคนอื่นจะเครียดมาก คลื่นไส้ หัวใจเต้นแรง ปวดศีรษะ เป็นต้น

4. โรคกลัวแบบเฉพาะ (Phobia) จะมีความวิตกกังวลมากในบางเรื่อง หรือบางสิ่งบางอย่างแบบเจาะจง เช่น กลัวสัตว์บางชนิด กลัวอาหารบางอย่าง และไม่สามารถควบคุมความกลัวด้วยตัวเองเอง ทำให้มีปัญหาอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน

5. โรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) คิดย้ำๆ ทำซ้ำๆ ในเรื่องเดิม ผู้ที่เป็นโรคนี้จะหยุดคิดกังวลไม่ได้ หากไม่คิดและไม่ทำ จะไม่สบายใจ

6. โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (Post-Traumatic Stress Disorder ; PTSD) ถือเป็นความวิตกกังวลมากเกินปกติ มักเกิดขึ้นหลังประสบกับเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น อุบัติเหตุครั้งใหญ่ สูญเสียคนที่รัก เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการหวาดกลัวเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกับตอนที่เคยเกิดเหตุการณ์นั้น ทำให้ตกใจง่าย เสียสมาธิ ฝัน หรือคิดถึงเหตุการณ์เดิมซ้ำไปมาโดยควบคุมไม่ได้

แม้ว่าโรควิตกกังวลจะเป็นโรคที่พบว่าเกิดขึ้นมากในไทย แต่ผู้ป่วยส่วนมากกลับไปพบแพทย์ช้า หรือปฏิเสธการไปพบแพทย์ เนื่องจากมองว่าเป็นเพียงอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ความจริงแล้วอาการเหล่านี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของตนเองแล้ว ยังส่งผลกระทบไปที่คนรอบตัวอีกด้วย เช่น เผลอหงุดหงิดใส่เพื่อนร่วมงาน หรือ ไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามกำหนดได้เนื่องจากไม่มีสมาธิ ดังนั้น หากใครที่คิดว่าตัวเองและคนใกล้ตัวมีโอกาสเป็น โรควิตกกังวลควรรีบไปพบจิตแพทย์ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

 

อ้างอิงข้อมูล : กรมสุขภาพจิต, iSTRONG และ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์