สถิติ 9 ปีย้อนหลัง พ.ศ.2557-2565 ไทย ประกาศเข้า 'ฤดูหนาว' วันไหนบ้าง

สถิติ 9 ปีย้อนหลัง พ.ศ.2557-2565 ไทย ประกาศเข้า 'ฤดูหนาว' วันไหนบ้าง

พาไปย้อนดูสถิติ 9 ปีล่าสุด ระหว่าง พ.ศ.2557-2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ 'ฤดูหนาว' วันไหนบ้าง โดยในปีนี้ 2566 จะเป็นปีที่ลมหนาวมาช้าที่สุด แต่ กรมอุตุฯ ยืนยันว่ามาชัวร์

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาไปย้อนดูสถิติ 9 ปีล่าสุด ระหว่าง พ.ศ.2557-2565 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ 'ฤดูหนาว' วันไหนบ้าง โดยในปีนี้ 2566 จะเป็นปีที่ลมหนาวมาช้าที่สุด แต่ กรมอุตุฯ ยืนยันว่ามาชัวร์ ซึ่งในช่วง 14 -20 พฤศจิกายน 2566 คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอบน ทำให้ลมหนาวแรงขึ้น

สถิติ 9 ปีย้อนหลัง ไทย ประกาศเข้าฤดูหนาว ตามประกาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา มีดังต่อไปนี้

  • พ.ศ.2557 วันที่ 14 ตุลาคม
  • พ.ศ.2558 วันที่ 22 ตุลาคม
  • พ.ศ.2559 วันที่ 30 ตุลาคม
  • พ.ศ.2560 วันที่ 23 ตุลาคม
  • พ.ศ.2561 วันที่ 27 ตุลาคม
  • พ.ศ.2562 วันที่ 17 ตุลาคม
  • พ.ศ.2563 วันที่ 22 ตุลาคม
  • พ.ศ.2564 วันที่ 2 พฤศจิกายน
  • พ.ศ.2565 วันที่ 29 ตุลาคม

ขณะที่ ฤดูหนาว 2566 รอประกาศอย่างเป็นทางการจาก กรมอุตุนิยมวิทยา โดยในช่วงวันที่ 16–19 พ.ย.2566 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 5-7 องศาเซลเซียส ภาคเหนืออุณหภูมิจะลดลง 4–6 องศาเซลเซียส ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 2–4 องศาเซลเซียส

ส่วนช่วงวันที่ 16 -23 พ.ย.2566 คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงถึงแรง แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอบนเป็นระลอกๆ ทำให้ลมหนาวที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น ฝนบริเวณประเทศไทยตอนบนเริ่มลดลงชัดเจน อาจจะยังมีฝนเกิดขึ้นได้บ้างช่วงที่มวลอากาศเย็นแผ่ลงมาระยะแรก แต่หลังจากนั้นอุณหภูมิจะเริ่มลดลง แต่ละภาคลดลงไม่เท่ากัน ต้องเฝ้าระวังสุขภาพช่วงที่อากาศหนาวเย็นลง เป็นสัญญาณการเริ่มต้นฤดูหนาวเริ่มชัดขึ้นในช่วงนี้ เตรียมวางแผนไปสัมผัสเย็นถึงหนาวได้ โดยเฉพาะตามยอดดอย ยอดภู อากาศหนาวถึงหนาวจัด (17-20 พ.ย.2566) พื้นราบอากาศเย็น

 

ขณะที่ในช่วง 21-23 พ.ย.2566 มวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมาเริ่มกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศอุ่นขึ้นบ้าง ยอดดอย ยอดภูอากาศยังหนาว และมีหมอก ส่วนภาคใต้ตั้งแต่ จ.ชุมพร ลงไปต้องระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง คลื่นลมแรงขึ้น


ข้อควรระวัง: ในช่วงวันที่ 16 – 19 พ.ย.2566 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และลมแรง สำหรับเกษตรกรควรระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย 

ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17 - 19 พ.ย.2566

เกณฑ์การพิจารณาการเข้าสู่ฤดูหนาวของไทย มี 3 ข้อดังนี้

1. อุณหภูมิต่ำสุดบริเวณประเทศไทยตอนบน อยู่ในเกณฑ์อากาศหนาวเย็นเกือบทั่วไป (อุณหภูมิต่ำสุด น้อยกว่า 23.0 องศาเซลเซียส) อย่างต่อเนื่อง

2. ลมระดับล่าง (ที่ความสูงประมาณ 100-3,500 ม.) เป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ลมตะวันออก ส่วนลมระดับบน (ที่ความสูง 5,000 ม. ขึ้นไป) เป็นลมตะวันตก

3. ปริมาณและการกระจายของฝนบริเวณประเทศไทยตอนบน เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง