ไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง

ไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง

การประชุมระดับโลกเรียกร้องนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็ง ชื่นชมลิทัวเนียเป็นต้นแบบห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ ด้านเจ้าภาพแอฟริกาใต้เสียใจกฎหมายถูกดองกว่า 7 ปี หวังประชุมครั้งนี้รัฐบาลจะทำให้เกิดจริง ส่วนไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจะถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง

เมื่อวันที่ 24-26 ตุลาคม 2566 คณะผู้แทนประเทศไทยได้ร่วมงานประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก ครั้งที่ 7 (Global Alcohol Policy Conference 2023) เมืองเคปทาว์น ประเทศแอฟริกาใต้ ในหัวข้อหลัก 'ประชาชนมาก่อนกำไร - รวมพลังผลักดันอนุสัญญาควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์' ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติครั้งสำคัญของโลกที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 521 คน จาก 55 ประเทศทั่วโลก 

ศ.พญ.สาวิตรี  อัษณางค์กรชัย  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ทุกประเทศมีฉันทามติร่วมกันคือ ต้องการอนุสัญญาเพื่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับโลก เพื่อให้มีมาตรการที่เข้มแข็งในระดับเช่นเดียวกับที่องค์การอนามัยโลกได้ใช้ในการควบคุมยาสูบมาก่อน เนื่องจากธุรกิจแอลกอฮอล์มุ่งทำตลาดเพื่อสร้างกำไรอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด โดยเฉพาะการทำตลาดผ่านออนไลน์ การตลาดข้ามพรมแดน การตลาดมุ่งเป้ากลุ่มผู้หญิงและเด็กเยาวชน การตลาดในกีฬางานประเพณีเทศกาล การใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการโฆษณาแอลกอฮอล์ 0% ซึ่งสมาชิกแต่ละประเทศต้องไปผลักดันให้รัฐบาลของประเทศสนับสนุนให้เกิดขึ้นต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย แต่ละปีสร้างได้ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ

ผ่าแผน 'ไทยเบฟ' ขยายธุรกิจเครื่องดื่มยึดตลาดโลก

 

ไทยนำเสนอบทเรียนแนวทางควบคุมแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ ในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการนำเอานโยบายแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็งมาปฏิบัติในประเทศที่มีความก้าวหน้า โดยเฉพาะนโยบาย SAFER Initiative ที่เป็นชุดนโยบายแอลกอฮอล์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ

นอกจากนั้น ยังมีการนำเสนอเครื่องมือในการเฝ้าระวังการตลาดในโชเชียลมีเดียโดยใช้ระบบ AI (Artificial Intelligence) มาจัดการกับโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสุขภาพและกระทรวงสารสนเทศของประเทศเวียดนามเป็นสองกระทรวงหลักร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมที่พัฒนาเครื่องมือและนำผลการตรวจจับนี้ไปดำเนินการต่อ

ไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง

การแลกเปลี่ยนการใช้มาตรการภาษีซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ให้กับรัฐและลดการดื่มและปัญหาจากแอลกอฮอล์ การควบคุมสถานที่ดื่มสถานที่ขายในชุมชน การติดข้อความคำเตือนในภาชนะบรรจุ และการแก้ปัญหาโดยพลังชุมชน สิทธิมนุษยชนกับแอลกอฮอล์ กลุ่มชาติพันธ์กับปัญหาแอลกอฮอล์ กลุ่มผู้หญิงและเด็กที่สัมพันธ์กับปัญหาแอลกอฮอล์ เป็นต้น

โดยประเทศไทย ได้มีการนำเสนอบทเรียน ได้แก่ แนวทางการประเมินผลนโยบายแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด การประเมินยุทธศาสตร์การสนับสนุนการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์ และสารเสพติดของ สสส. และสถานการณ์การแก้ไขมาตรา 32 แห่งกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเทศไทย เป็นต้น


การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัญหาสังคมโดยรวม

ด้าน นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายงดเหล้า กล่าวว่า บทเรียนจากประเทศลิทัวเนีย ซึ่งใช้เวลากว่า 10 ปีในการแก้ปัญหาดื่มหนัก สูงเป็นอันดับหนึ่งในประเทศยุโรป (อัตรา 16.3 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธ์ต่อคนต่อปี ข้อมูลปี 2022) ได้แสดงให้เห็นว่า หากมีผู้นำรัฐบาลที่ตระหนักถึงปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ และนำนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็งมาใช้

รวมทั้ง นโยบายการห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ (Total Ban) และการเพิ่มภาษี สามารถลดปัญหาได้อย่างชัดเจน แสดงให้เห็นว่า มาตรการควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็ง (Best Buy) เป็นสิ่งที่ทำได้จริง และไม่ได้เป็นนโยบายที่สุดโต่ง แต่เป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสังคมไทยว่า กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ปี 2551 เป็นนโยบายที่สุดโต่ง และเป็นอุปสรรคต่อการทำรายได้ของผู้ประกอบการ

แต่จากผลการศึกษาทั่วโลกระบุว่า การควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์ จะลดปัญหาสังคมโดยรวม ทำให้รายจ่ายของประเทศลดลง รายจ่ายของประชาชนครอบครัวลดลง ซึ่งทำให้รัฐไม่ต้องสูญเสียรายจ่ายเหล่านี้ โดยรัฐบาลที่ประเมินแล้วว่า ผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่มีความสำคัญมากกว่าผลประโยชน์ของผู้ประกอบการส่วนน้อย จะเลือกการดำเนินนโยบายที่เข้มแข็ง ซึ่งกระแสการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ปี 2551 ให้อ่อนแอลง เป็นเรื่องหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมไทยต้องร่วมกันตัดสินใจ

ไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง

นอกจากนั้น จากที่นายธีระได้คุยกับดร.ซุงซู ชุน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยไคโร ประเทศอียิปต์ อดีตกรรมการนโยบายแอลกอฮอล์ประเทศเกาหลีใต้ ว่า ตอนนี้ในประเทศไทยมีผู้เรียกร้องให้ลดหย่อนการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอยากให้สามารถโฆษณาได้ ขายได้ 24 ชั่วโมง และสามารถผลิตได้ง่ายเหมือนประเทศเกาหลีใต้

ศ.พญ.สาวิตรี กล่าวว่า คณะผู้แทนจากประเทศไทยจะรวบรวมข้อค้นพบ บทเรียน และโอกาสที่ได้จากการประชุมครั้งนี้มาพูดคุยและปรับประยุกต์ใช้ในประเทศต่อไป รวมทั้ง การได้รับโอกาสให้ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานให้เกิดเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ในภูมิภาคเอเชีย เช่นเดียวกับที่ภูมิภาคแอฟริกามีเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่จะต้องไปสานต่อ

ไทยกังวลที่นโยบายควบคุมแอลกอฮอล์อาจถูกเปลี่ยนแปลงให้แย่ลง