เหล้าเบียร์แกร่งแล้ว ถึงคิว ‘ไทยเบฟ’ รุกนอนแอลกอฮอล์ตลาดอาเซียน 


เหล้าเบียร์แกร่งแล้ว ถึงคิว ‘ไทยเบฟ’ รุกนอนแอลกอฮอล์ตลาดอาเซียน 


เจาะขุมทรัพย์ธุรกิจอาหาร - เครื่องดื่มไทยเบฟ แตกเพื่อโต ปักธงอาเซียน หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ใหม่ ประเดิมสร้างโรงงานแห่งแรก โออิชิ ชาพร้อมดื่มในกัมพูชา วางเกมรุกตลาดเต็มสูบ สร้างแบรนด์อยู่ในใจลูกค้าทั่วอาเซียน

เคลื่อนทัพธุรกิจครั้งสำคัญของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำทัพของ "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี 4 สายธุรกิจหลักได้แก่ สุรา เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร ซึ่งได้ประกาศเพิ่มกลุ่มอาหาร กลายเป็นเสาหลักที่ 4 ของบริษัทขึ้นมา

หากไปสำรวจกลุ่มนอนแอลกฮอลล์ โดยพอร์ตโฟลิโอกลุ่มเครื่องดื่ม ที่มีแบรนด์ในเครืออันดับต้นในตลาดทั้ง ชาเขียวโออิชิ เครื่องดื่มน้ำอัดลมเอส น้ำดื่มคริสตัล เครื่องดื่มอัดลม F&N และเครื่องดื่มเกลือแร่ 100PLUS ไปจนถึงเครื่องดื่มชูกำลัง แรงเยอร์

 

 

พอร์ตโฟลิโอกลุ่มอาหาร ที่มีอาหารพร้อมปรุงพร้อมทาน กับแบรนด์โออิชิ, โออิชิ บิซโทโระ, ชาบูชิ มีบริษัท ฟู้ด ออฟเอเชีย ที่มีธุรกิจแฟรนไชส์เคเอฟซี ธุรกิจร้านอาหารไทยหลากแบรนด์ รวมธุรกิจร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ ในไทย ผ่านบริษัทในเครืออย่าง บริษัท เอฟแอนด์เอ็น รีเทล คอนเน็คชั่น จำกัด ที่ได้เข้าไปลงทุนผ่านบริษัทร่วมทุนในชื่อ บริษัท คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ (ประเทศไทย) จำกัด

การแยกกลุ่มธุรกิจอาหาร กลายเป็นเสาหลักที่สำคัญของธุรกิจไทยเบฟในครั้งนี้ “โฆษิต สุขสิงห์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ย้ำว่า การปรับแยกโครงสร้างธุรกิจทั้งในกลุ่ม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหาร ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว โดยนับจากปี 2567 เป็นต้นไปจะเร่งเครื่องธุรกิจไปในตลาดอาเซียน ตามแนวทางการเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)

 

อีกทั้งไทยเบฟ ที่มีพาร์ทเนอร์ในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มแอลกอฮอล์ที่ได้เข้าไปรุกทำตลาดหลายปี จึงสามารถประสานพลังการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ปักธงโรงงานโออิชิแห่งแรกในกัมพูชา

ปักธงตลาดแรกอย่างเป็นทางการกับประเทศกัมพูชา ที่สร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิครั้งแรก วางแผนเริ่มผลิตในช่วงสองปีนับจากนี้ ถือเป็นโรงงานนอกประเทศครั้งแรกของแบรนด์ โออิชิ โดยในช่วงที่ผ่านมา โออิชิ เป็นเครื่องดื่มที่เข้าไปทำตลาดในกัมพูชามายาวนาน และเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในตลาดกัมพูชาติดต่อกันหลายปีแล้ว

“ในตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่ผู้บริโภคมีความคุ้ยเคยผลิตภัณฑ์ โออิชิ มีความเชื่อมั่นกับคุณภาพผลิตภัณฑ์และการตอบโจทย์ของผู้บริโภคด้วย”

โออิชิ ยังเป็นแบรนด์ที่มีการส่งออกและทำตลาดในหลากหลายประเทศ เช่น ลาว สร้างการเติบโตกว่า 50% มีคู่ค้าและพาร์ทเนอร์ในประเทศลาว รวมถึงที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมอย่างหนัก เหมือนกับประเทศไทย

อีกทั้งได้วางแผนรุกตลาดเข้มมากขึ้นใน เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งหลายตลาดมีความน่าสนใจ โดยหากไปสำรวจตลาด ชาเวียดนาม เป็นตลาดใหญ่อันดับท็อปทรีในภูมิภาคอาเซียน แต่การเข้าไปในเวียดนาม ก็อาจเข้าไปในรูปแบบใหม่ๆ สร้างความแตกต่างในตลาด และไม่ได้เน้นแข่งขันเรื่องราคา พร้อมเน้นเรื่อง อินโนเวชั่น  นอกจากนี้ยังมีการทำตลาดในประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีเครื่องดื่มโออิชิ วางจำหน่ายเช่นกันและมีราคาไม่ธรรมดาด้วย

หากไปสำรวจแบรนด์ โออิชิ ได้เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2546 และไทยเบฟ เข้ามาซื้อกิจการในปี 2551 โดยในไทย โออิชิ เป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่มมายาวนานติดต่อกันหลายปี ด้วยส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน 46% 

โฆษิต ประเมินถึง ทิศทางตลาดชาเขียวพร้อมดื่มในไทย ไม่ได้ชะลอตัวลง หรือมีทิศทางอิ่มตัว ยังมีแนวโน้มที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง

เครื่องดื่มเอส มาแรงหลังปรับโฉมใหม่

อีกตลาดที่น่าจับตามองของแบรนด์เครื่องดื่มในเครือ อย่าง “เอส” น้ำอัดลม ได้เข้ามาอยู่ภายใต้ ไทยเบฟ ตั้งแต่ช่วงปี 2554 แม้เป็นแบรนด์น้องใหม่ในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลม แต่ผู้ก่อตั้งแบรนด์อย่าง บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้วางรากฐานในตลาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมของไทย มานานกว่า 6 ทศวรรษ

ในปีนี้ เอส ได้มีการปรับโฉมใหม่ ด้วยการเปิดตัวรูปลักษณ์ตราสินค้าและปรับสูตรเครื่องดื่มใหม่ จึงสร้างผลตอบรับที่ดีกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงได้ดึงคนดังในเอเชีย จากหลากหลายวงการมาร่วมเป็นพรีเซ็นเตอร์ สร้างความสดใหม่ให้แก่แบรนด์ และขยายฐานกลุ่มใหม่ๆ สร้างแบรนด์เติบโตติดลมบน โดยเอส มีทำตลาดทั้งในประเทศจีน และมาเลเซีย

ไล่เลียงแบรนด์น้ำดื่ม คริสตัส และเกลือแร่อย่าง พาวเวอร์พลัส ที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องแรงเจอร์ กำหนดราคา 10 บาท สร้างการเติบโต 50% แสดงถึงทิศทางของตลาดเครื่องดื่ม กลับมาอย่างแข็งแกร่ง ผ่านพ้นช่วงชะลอตัวจากสถานการณ์โควิดไปแล้ว

ภาพรวมธุรกิจเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ในประเทศกลับมาเติบโตสองหลักหลังจากโควิดแล้ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ รายได้ 14,822 ล้านบาท ขยายตัว 15.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งภาพรวมแบรนด์หลักในช่วง 9 เดือนแรก เครื่องดื่ม เอส ขยายตัว 22% คริสตัล มีการขยายตัว 19.5% โออิชิ 15.5% มีการขยายตัวมากกว่าตลาด 

กลุ่มอาหาร เร่งวางยุทธศาสตร์โออิชิ

ขณะที่กลุ่มอาหาร ขุมพลังที่สำคัญของ ไทยเบฟ โดยได้มีการนำบริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เพิกถอนถอนหุ้น “OISHI” ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมได้ประกาศการปรับโครงสร้างโครงสร้างธุรกิจใหม่

โออิชิ ได้วางแผนพร้อมขยายไปในตลาดอาเซียน ภายในเวลา 1-2 ปีนับจากนี้ ที่จะนำแบรนด์หลักอย่าง ชาบูชิ และ โออิชิ บิซโทโระ เป็นหัวหอกสร้างแบรนด์สู่กล่มลูกค้า หลังจากนั้นพร้อมขยายแบรนด์ในเครืออื่นๆ เข้าไปรุกตลาดต่อไป

"นงนุช บูรณะเศรษฐกุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง การนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นในครั้งนี้ เป็นการทำให้บริษัทสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากธุรกิจอาหารต้องการสปีดที่เร็วมาก 

"ธุรกิจอาหารโดยรวม กลับมาคึกคักมากขึ้น จากเทรนด์ต่างๆ คนกลับมาทานนอกบ้านมากขึ้น คนออกมาใช้ชีวิตข้างนอก คนคาดหวังที่มากกว่าเดิม ต้องการประสบการณ์มากขึ้นกว่าเดิม" 

ภาพรวมตลาดฟู้ดเซอร์วิสมีมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดการณ์ว่าจะเติบโต 10% ในปีหน้า 2567 และบริษัทอยู่ในเชคเมนต์ที่เติบโตตามตลาด ซึ่งกลุ่มที่เติบโตมากเป็นอาหารบริการด่วน (QSR) และ ฟู้ดเซอร์วิส โดยได้รับแรงหนุนจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามา เทรนด์ของลูกค้าที่เป็น personize offer ไม่ใช่แบบ one size fit all รวมถึงจากดิจิทัล เอ็กซ์เพอเรียนซ์ โดยบริษัทได้นำเทรนด์นี้มาสร้างบริการให้แก่ลูกค้า เช่น การสั่งอาหารผ่านคิวคาร์โค้ด การจ่ายเงินแบบ cashless รวมถึงเทรนด์ Health & wellness และเทรนด์แบบยั่งยืน ที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้า 

สำหรับการขยายตลาดในประเทศ ก็เร่งเครื่องหนักเช่นกัน โดยแบรนด์ชาบูชิ ในช่วงที่ผ่านมา ได้ปรับรีเฟรชแบรนด์ใหม่ให้สดใสขึ้น และในเดือนหน้า จะเห็นการเปลี่ยนแปลงกับ แบรนด์ โออิชิ บุฟเฟต์ เพื่อให้ตอบโจทย์กับทุกความต้องการของกลุ่มลูกค้า 

อีกทั้งในสาขาเดิม ได้วางหมากที่จะเพิ่มเมนูใหม่ๆ และจัดกิจกรรมการตลาดแบบหลากหลาย เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการให้ถี่มากขึ้น

แผนลงทุนของ โออิชิ ในปีต่อไป 2567 วางงบลงทุนประมาณ 800-1,000 ล้านบาท ประกาศว่าเป็นปีที่มีการลงทุนขยายสาขาครั้งใหญ่ และมีแผนที่ขยายแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมต่อไป โดยในปัจจุบัน ธุรกิจอาหารมีสาขารวม 771 ร้านในไทย และมีการเปิดสาขาใหม่ในช่วง 9 เดือนแรก รวมประมาณ 43 ร้านค้า หรือเฉลี่ยเปิดสัปดาห์ละ 1 สาขา 

"ธุรกิจอาหาร ต้องมีอะไรตื่นเต้นตลอดเวลา อาจมีโปรดักส์อินโนเวชั่น ของใหม่ๆ แผนการตลาดใหม่ๆ แคมเปญ โปรโมชั่นที่แปลกใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าต่อเนื่อง" 

ภาพรวมธุรกิจอาหารในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจอาหารมีรายได้ 14,296 ล้านบาท ขยายตัว 19.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหลายกลุ่มของแบรนด์ธุรกิจอาหารขยายตัวมากกว่าในช่วงโควิดแล้ว

"จากการศึกษาโกลบอลแบรนด์อาหารในโลก ที่สร้างการเติบโตได้ดีมาจากทั้ง การขยายสาขาต่อเนื่องทำให้มีสาขาทั่วโลก และการขยายแฟรนไชส์ แบรนด์ที่จะเติบโตต้องสเกลและทำให้เร็ว เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มประสิทธภาพธุรกิจ" 

เป้าหมายระยะยาวของโออิชิในตลาดต่างประเทศ ได้วางแผนไว้ภายในปี 2568 จะสร้างแบรนด์ธุรกิจอาหารอยู่ในใจของกลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน

ต้องจับตา! ไทยเบฟ กับการเร่งเครื่องกลุ่ม นอนแอลกอฮอล์ ทั้งเครื่องดื่ม และอาหาร สู่ตลาดอาเซียนครั้งใหญ่ในปี 2567 จะสร้างการเติบโตและเข้ามาเปลี่ยนแปลงตลาดอาหารและเครื่องดื่มในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร รวมถึง ติดตามแผนการเข้าไปลงทุนในแบรนด์ใหม่ๆ จากที่ผ่านมา ไทยเบฟ สร้างความสำเร็จจากการทำ M&A ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมาหลายแบรนด์แล้ว