การพัฒนาแบบบีบอัดกับ ด้านมืดของสังคมไทย

รัฐบาลชุดใหม่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แห่งพรรคเพื่อไทย มอบนโยบายและแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2567 มุ่งดันไทยเป็นประเทศรายได้สูง (รายได้ประชากรต่อหัวเฉลี่ย $20,000 ขึ้นไปต่อปี ขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ $6,909 ต่อปี หรือเติบโต 3 เท่า)

ตั้งเป้าจีดีพีขยายตัวร้อยละ 5 ต่อปี ตลอด 4 ปี แต่หลังจากประกาศได้เพียงวันเดียวก็เกิดเหตุการณ์วัยรุ่นอายุ 14 ปี กราดยิงในห้างสยามพารากอน ผู้คนแตกตื่นวิ่งหนีอลหม่านเป็นข่าวดังไปทั่วโลก สะท้อนการพัฒนาแบบบีบอัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาด้านมืดของสังคมพร้อมๆ กัน

เศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่ จะมีลักษณะการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบีบอัด (compressed industrialization) หรือกระบวนการย่นระยะในการพัฒนา (telescoping process) กล่าวคือ เร่งพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในช่วงเวลาสั้นๆ 30-40 ปีอย่างเข้มข้น เพื่อไล่กวดไล่ตามประเทศพัฒนาแล้ว

โดยมีดัชนีวัดคืออัตราการเติบโตของจีดีพีที่ต้องสูงอย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในตะวันตกต้องใช้เวลากว่าร้อยปีที่จะพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง จึงมีเวลาพัฒนาสังคมให้เจริญควบคู่ไปพร้อมกันได้ 

เหตุการณ์ที่สยามพารากอน ผู้เสียชีวิต 2 รายเป็นชาวจีนและชาวเมียนมา ผู้บาดเจ็บ 5 ราย หนึ่งในนั้นเป็นชาวสปป.ลาว จะด้วยความบังเอิญหรือไม่ สยามพารากอนที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ถือเป็นไอคอนของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

สะท้อนให้เห็นว่าไทยพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ และพึ่งพาแรงงานชาวเมียนมาและลาว ขณะที่มีการวิเคราะห์มูลเหตุจูงใจว่าเป็นปัญหาที่ตัวผู้ก่อเหตุเองและครอบครัว

แต่ทฤษฎีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวดได้ทำนายไว้ก่อนหน้านี้นานแล้วว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบบีบอัดจะมาพร้อมกับปัญหาด้านมืดของสังคม ซึ่งมีตัวอย่างชัดเจนในประเทศเอเชียตะวันออกที่ไล่กวดประเทศพัฒนา และประสบความสำเร็จไปก่อนหน้า ได้แก่ ญี่ปุ่น และสี่เสือแห่งเอเชีย

ปัญหาด้านมืดของสังคมมี 2 ปัญหาหลัก คือ เอเชียที่เหนื่อยล้า (Exhausted Asia) กับ เอเชียที่แก่ลง (Aging Asia)

ในส่วนเอเชียที่เหนื่อยล้านั้นพบว่าความยากจนลดลงจริง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลับเพิ่มสูงขึ้น โลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจยิ่งทำให้การแข่งขันระหว่างประเทศและระหว่างบริษัทร้อนแรงยิ่งขึ้น นำมาสู่สังคมที่รุมเร้าไปด้วยความเครียด ความกลัวและความหวั่นวิตกต่อชีวิตในอนาคตอย่างรุนแรง

จะพบอัตราการฆ่าตัวตายและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงขึ้น การกระทำต่อสังคมเพื่อระบายแรงกดดัน เช่น การบูลลี่ การยิงหรือเอามีดแทงคนที่ไม่รู้จัก

การพัฒนาแบบบีบอัดกับ ด้านมืดของสังคมไทย

ตัวอย่างเช่นสถิติการฆ่าตัวตายของนักเรียนมัธยมปลายที่ถูกกดดันให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลชั้นนำของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หวังว่าเรียนจบแล้วจะได้เข้าทำงานบริษัทชื่อดัง ในวันนี้ตัวเลขก็ยังไม่ลดลง 

ขณะที่ไทยใฝ่ฝันที่จะพัฒนาเศรษฐกิจซอฟต์พาวเวอร์ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจบันเทิง อยากจะผลิตซีรีย์ ละคร ภาพยนตร์ เพลง ประกาศศักดาในเวทีโลก เคียงบ่าเคียงไหล่ได้กับ K-POP ของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ดีเราคงไม่ลืมว่าอัตราการฆ่าตัวตายในแต่ละปีของดารานักแสดง นักร้องของเกาหลีใต้นั้นสูงเพียงใด ซึ่งวงการบันเทิงไทยเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาด้านมืดที่จะตามมาแล้วหรือยัง

ส่วนเอเชียที่แก่ลง คือ สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอัตราเร่ง ขณะที่ประเทศพัฒนาอื่นๆ จะใช้เวลานานหลายสิบปีกว่าจะเปลี่ยนจากสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (aged society) (ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด) ไปเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) (ร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด)

ตั้งแต่ปี 2563 ประเทศไทยเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่อีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้านี้จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งมีเวลาเตรียมตัวไม่มากนัก

ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไทยจะเป็นประเทศแรกของโลกที่จะเป็นสังคม “แก่ก่อนรวย” ก่อนหน้านี้มีการทำนายว่าไทยและจีนจะเป็นสังคมแก่ก่อนรวย

แต่ในวันนี้จีนได้พิสูจน์แล้วว่า จีนน่าจะ “รวยก่อนแก่” เหมือนประเทศพัฒนาอื่นๆ ได้ เพราะภาคเอกชนจีนมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองและมีแรงงานทักษะสูงจำนวนมาก ขณะที่ภาคเอกชนไทยยังขาดแคลนทั้งสองอย่าง โดยประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ไล่กวดตามมา อย่างเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และหรือฟิลิปปินส์นั้น คนหนุ่มสาวของเขายังนิยมแต่งงานและมีบุตรหลายคน

การพัฒนาแบบบีบอัดกับ ด้านมืดของสังคมไทย

ดังนั้น ทำนายได้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านมืดของสังคมแก่ก่อนรวยที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกเคยเผชิญมาก่อน ไทยจะพบกับปัญหาสังคมที่อาจไม่เคยเห็นบนโลกใบนี้

จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาและเยียวยาสังคม ควรได้รับการสนับสนุนให้เตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งอาจนำแนวคิดสังคมเข้มแข็ง (Strong Society) กลับมาใช้และต่อยอดอีกครั้ง เพราะสังคมไทยต้องใช้ภูมิปัญญาไทยแก้ปัญหาของตนเอง

การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อย่าหลงใหลไปว่าเราจะสุขสบาย รวยขึ้น มีเงินทองมากขึ้นเพียงอย่างเดียว หากการพัฒนาสังคมไล่ตามไม่ทัน แทนที่จะเป็นความสุขกลับกลายเป็นโศกนาฎกรรมที่ต้องอยู่กับสังคมที่เหนื่อยล้าและแก่ลง มาช่วยกันก่อนที่ “สยามเมืองยิ้ม” จะกลายเป็น “สยามที่สูญเสียรอยยิ้ม”

ดูเพิ่มเติมใน ทฤษฎีเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย: อนาคตของการไล่กวด วารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2565