เทคนิค 'เก็บเงิน'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

เทคนิค 'เก็บเงิน'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

‘แก่ก่อนรวย’ กลายเป็นวลีที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของคนไทยได้อย่างดีที่สุด เพราะตอนนี้แม้เหล่าวัยทำงาน มนุษย์เงินเดือนดิ้นรนในการทำมาหากิน เพื่อสะสมความมั่งคั่งในวัยเกษียณ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ไม่ทันได้มีเงินออมก็กลายเป็น คนสูงวัยที่รอภาวะพึ่งพิงเสียแล้ว

Keypoint:

  • การออมเงิน เก็บเงิน เป็นเรื่องที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก และเชื่อว่าใครๆ ก็อยากจะมีเงินออม เงินเก็บ แต่เมื่อค่าครองชีพ สินค้าและบริการต่างๆ ราคาสูงขึ้นขณะที่เงินเดือนไม่ขยับขึ้น การออมเงินใช้ว่าจะเป็นเรื่องง่าย
  • วิธีการออมเงินต้องเริ่มจากความตั้งใจจริงในการเก็บเงินแต่ละเดือน เก็บเพียง 10% ของเงินเดือน ไม่ฟุ่มเฟือย และควรลดภาระหนี้สิน ไม่ก่อหนี้เพิ่ม
  • เก็บก่อนใช้ หักผ่านบัญชีเงินเดือน ทำรายรับ-รายจ่าย เก็บเงินตามลำดับวัน ใส่กระปุก ผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเก็บจากแบงก์50 บาท Rare Item  มีหลายวิธีให้เลือกเก็บเงิน

สถิติการออมเงินของคนไทย ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หากเทียบก่อนเกิดการระบาดของโควิด 19 ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ สัดส่วนการออมของคนไทยมี 74.1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และครัวเรือนที่ไม่มีการออมมีถึง 25.9% แต่ปัจจุบัน พบว่า ระดับครัวเรือนที่ไม่มีการออม การเก็บเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะปัญหารายได้ไม่พอกับรายจ่าย และยังต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น  ส่งผลต่อความสามารถการชำระหนี้

คนไทยต้องนำเงินออม ออกมาชำระหนี้ และบางรายยกเลิกการออม รวมถึงไร้แรงจูงใจในการออม หลังจากที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีในการลงทุนเพื่อการออมระยะยาว ทำให้กลุ่มรายได้ปานกลางลดการออมลง หรือ หยุดการออมลง

การออมเงิน’ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ใครหลายๆ คนพบเจอ เพราะต่อให้ทำงานมาทั้งชีวิต พอเปิดตัวเลข หรือค้นหาเงินออมกลับมีเพียงน้อยนิด หรืออาจจะไม่มีเลย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ครม.หนุนกองทุน กอช. ตั้งเป้า 3 ปี เพิ่มคนออมเงิน 2.76 ล้านคน

ออมให้ตายก็ไม่รวย มหาเศรษฐีแนะ อยากรวย ต้อง 'ลงทุน'

"อาชีพอิสระ" อายุ 50 ปีขึ้นไป ออมเงินรับเงินเพิ่มจากรัฐ สูงสุด 1,200 บาท/ปี

 

วิธีออมเงินง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้

วันนี้ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวม และนำเสนอแผนการออมเงิน การเก็บเงินที่ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจจริง และเลือกวิธีให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และรายรับของตัวเองได้  เริ่มด้วย

1. เก็บก่อนใช้ ได้

สมมติถ้าเรามีเงินเดือน 15,000 ให้กันเงินไว้ 1,500 (คิดเป็น 10% จากเงินเดือน) จากนั้น เงินเหลือค่อยหักลบหนี้สิน และรายจ่ายคงที่ (Fixed Cost) ในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าโทรศัพท์ ค่ารถ แล้วจึงเหลือเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน วิธีนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายๆ คน แต่ถ้าทำได้ ทุกคนจะมีเงินเก็บที่แน่นอนในทุก ๆ เดือน อย่างน้อย ๆ ก็ได้เดือนละ 1,500 บาท ตกปีหนึ่งก็ได้มา 18,000 บาทกันเลยทีเดียว

2.หักบัญชีอัตโนมัติ

การตั้งหักบัญชีอัตโนมัติ ถือเป็นตัวช่วยด้านวินัยอย่างหนึ่ง ให้สามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและตรงต่อเวลา อย่าง ค่าผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ และค่างวดที่ฝากประจำต่างๆ ซึ่งการที่เราสามารถชำระค่าบริการต่างๆ ได้ตรงเวลา นอกจากจะไม่โดนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชำระล่าช้าแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างเครดิตและความน่าเชื่อถือให้กับตัวเราเอง

เทคนิค \'เก็บเงิน\'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

3. เก็บเงินตามลำดับวันใน 1 ปี

เก็บเงินโดยไล่ตามลำดับวันใน 1 ปีไปเรื่อยๆ เช่น วันที่ 19 เก็บ 19 บาท วันที่ 350 เก็บ 350 บาท ซึ่งหากเก็บได้ครบทุกวันจะมีเงินเก็บถึง 66,795 บาทเลยทีเดียว

การเก็บเงินในรูปแบบ ช่วงแรกๆ จะเก็บได้อย่างสบาย เพราะเป็นจำนวนเงินที่น้อย และทำให้มีแรงจูงใจในการเก็บเงิน แต่เมื่อถึงช่วงเดือนท้ายๆ ต้องเก็บเงินเยอะ อาจเก็บต่อเนื่องยาก และไม่เหมาะกับคนที่รายได้ยังไม่มาก

 

ทำบัญชีรายรับรายจ่าย แบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน4. 

4.แบงก์ 50 เป็นของต้องห้าม

แบงก์ 50 ค่อนข้างจะเป็น Rare Item เพราะมันมีน้อยกว่าจำนวนแบงก์อื่นๆ ที่ใช้กัน การที่จะเก็บมันไว้โดยไม่ใช้ ก็ไม่น่าจะกระทบกับชีวิตประจำวันของเรามากนัก ดังนั้น ให้มองว่า เจ้าแบงก์สีฟ้านี้เป็นของต้องห้าม หมายถึง ต้องห้ามนำออกมาใช้เด็ดขาด นั่นแหละ สะสมเอาไว้หลายใบเข้า

5.ทำบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้เก็บเงินได้มากขึ้น

อีกหนึ่ง เทคนิคการเก็บเงินสำหรับผู้ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็แก้นิสัยเก็บเงินไม่อยู่ไม่ได้สักทีก็คือ เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพราะส่วนใหญ่แล้วคนที่เก็บเงินไม่ค่อยได้นั้นมักจะเป็นคนที่รู้สึกว่า 'ฉันยังพอมีเงินอยู่ ฉันจ่ายได้' ทำให้รู้ตัวอีกทีก็ใช้เงินหมดบัญชีแล้ว แถมยังไม่รู้เหตุผลที่เก็บเงินไม่อยู่อีก

เพราะจ่ายนั่นนิด จ่ายนี่อีกหน่อย ทำให้เงินหายไปทีละนิด ๆ จนหมดในที่สุด ดังนั้นการทำบัญชีรายรับรายจ่ายจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะการจดบันทึกรายจ่ายและรายรับทุกอย่างในแต่ละเดือนนั้นจะทำให้คุณเห็นว่าจริง ๆ แล้วค่าใช้จ่ายส่วนไหนที่มากที่สุด ส่วนไหนที่สามารถลดทอนได้ หรือมีรายจ่ายตรงไหนที่เราใช้จ่ายมากเกินไปและควรจะต้องลด เพื่อเพิ่มจำนวนเงินเก็บให้มากขึ้น 

6. เก็บเงินใส่กระปุกที่เปิดยาก

ใครที่ชอบหยิบเงินเก็บมาใช้ ลองมองหาภาชนะเป็นกระปุกที่เปิดยากๆ โดยเลือกกระปุกขนาดใหญ่ เพื่อสามารถหยอดทั้งเหรียญและธนบัตรได้ทั้งปี หรือหากมีเด็กๆ ที่บ้าน นี่ก็เป็นวิธีออมเงินสุดคลาสสิกที่ยังใช้ได้ดีเลยทีเดียว

เทคนิค \'เก็บเงิน\'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

7.ช้อปไปเท่าไหร่ ออมคืนเท่านั้น

ข้อนี้เป็นการปรับนิสัยการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของตัวเองได้ดีเลย มองอีกแง่ มันเหมือนกับการ 'ยืมเงินตัวเองออกมาใช้ก่อน' แล้วคืนให้ทีหลัง หลักการเดียวกับการยืมเงินเพื่อนเลย เพียงแต่นี่คือเงินตัวเอง ถ้าอยากช้อปปิงมาก ก็ช้อปได้เลย แต่ซื้ออะไรไปเท่าไหร่ จดไว้ แล้วหามาจ่ายคืนทีหลังด้วยนะ แม้จะเป็นเงินตัวเอง ก็ห้ามอ่อนข้อ ทำให้เหมือนเราติดหนี้เพื่อน ต้องรีบใช้คืน 

8.มีเศษเหรียญ ให้หยอดกระปุก

ลองหากระปุกออมสินน่ารักๆ มาสร้างแรงบันดาลใจสักอัน คอยสำรวจกระเป๋าสตางค์ของเราว่า มีเศษเหรียญอยู่บ้างไหม ถ้ามีก็อย่ารีรอ รีบหยอดกระปุกกุ๊กกิ๊กของเราให้เต็มเร็วๆ กันดีกว่า หรือถ้าวันไหนเกิดอยากจะให้โบนัสตัวเอง ก็ลองเพิ่มจากเศษเหรียญเป็นแบงก์ 20 บ้างก็ได้ พอกระปุกเต็มเมื่อไหร่ก็ลองแกะมานับดู เผลอ ๆ ได้มาอีกหลายร้อยโดยไม่รู้ตัว

9.ให้บัตรเครดิตเป็นเงินสำรองยามฉุกเฉิน

เมื่อเกิดเหตุต้องการเงินด่วน เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชน หรือรถเสีย การใช้บัตรเครดิตเป็นตัวเลือกแรกที่หลายคนเลือก เพราะช่วยชะลอการจ่ายเงินสดออกไป ทำให้ในช่วงก่อนถึงกำหนดชำระบิลบัตรเครดิต ก็สามารถหาเงินมาจ่ายก่อนโดนดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้

บัตรเครดิตเปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้งานถูกวิธีก็ช่วยให้เราเก็บเงินได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีโปรโมชันต่างๆ ที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของเราถูกลงได้ แต่ก็อาจทำให้เราเผลอรูดบัตรเครดิตซื้อของมากเกินไปจากกับดัก ผ่อน 0% นาน 10 เดือน และการจ่ายบิลบัตรเครดิตควรตรงต่อเวลา เมื่อจ่ายไม่ครบยอดหรือจ่ายช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนด อาจโดนคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูง มีโอกาสสร้างหนี้เพิ่มอย่างไม่รู้ตัว ดังนั้นก่อนใช้บัตรเครดิต ต้องใช้สติไตร่ตรองเสมอ และควรวางแผนการเงินให้ดีก่อนใช้เสมอ

10. เก็บเงินจากส่วนต่างของส่วนลด

เก็บเงินจากส่วนต่างของราคาเต็มและส่วนลดเวลาซื้อของมาเป็นเงินออม เช่น บุฟเฟต์ราคาเต็ม 399 บาท ลดเหลือ 259 บาท จะเก็บออมได้ 140 บาท เป็นต้น

เทคนิค \'เก็บเงิน\'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

11. เก็บเงินตามตารางออมเงิน

ทำตารางออมเงิน โดยวางเป้าหมายไว้ เช่น อยากเก็บเงินให้ได้ 2,000 บาท ภายใน 60 วัน ก็สร้างตารางขึ้นมาแล้วกำหนดว่าแต่ละวันใน 60 วันนี้ ต้องเก็บเงินวันละเท่าไร จึงจะได้ 2,000 บาท

12. เก็บเงินแบบตั้งเงื่อนไข

สำหรับคนที่ไม่ค่อยมีแรงจูงใจ ก็ต้องลองใช้วิธีการเก็บเงินแบบฮาร์ดคอร์สักหน่อย โดยลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองดู เช่น ตื่นสาย 10 นาทีเก็บเงิน 100 บาท น้ำหนักขึ้น 1 กิโลกรัม เก็บเงิน 1,000 บาท เป็นต้น

13. เก็บเงินตามเลขท้ายสามตัว

วิธีเก็บเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ชอบความตื่นเต้นและชอบลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาล ลองเก็บเงินจากเลขท้ายสามตัวที่ออกรางวัล สร้างสีสันให้การเก็บเงินสนุกขึ้น

14. แข่งเก็บเงินกับคนในครอบครัว

ลองชวนพ่อแม่พี่น้อง ลูกๆ หลานๆ มาแข่งกันออมเงินชิงรางวัลกันดูสิ เป็นอีกวิธีการเก็บเงินที่น่าสนุก ได้สานสัมพันธ์ แถมมีเงินออมกันทั้งครอบครัวอีกด้วย

สำหรับเด็กๆ เอง ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้ปลูกฝังนิสัยการออมตั้งแต่อายุน้อยๆ ซึ่งกรุงไทยก็มีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์สำหรับเด็กๆ 

15. เก็บเงินด้วยการเปิดบัญชีฝากประจำ

การเปิดบัญชีฝากประจำเป็นวิธีออมเงินที่บังคับให้ตัวเองมีวินัยเก็บเงินทุกเดือน เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ประจำ 

อย่างไรก็ตาม การออมเงินเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ พร้อมๆ กับการลดหนี้ ไม่สร้างหนี้ เพื่อให้เหลือเงินได้มากขึ้น และหากเป็นหนี้ ควรชำระหนี้อย่างตรงเวลา และไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากความฟุ่มเฟือย 

เทคนิค \'เก็บเงิน\'ง่ายๆ ใช้เงินเก่งขนาดไหน? ก็ทำได้

รวมถึงควรจะมีการจัดแบ่งสัดส่วนเงินให้ชัดเจน และเก็บเงินแบบจริงจัง คือ การแบ่งสัดส่วนของเงินตั้งแต่ที่ได้มา ซึ่งการแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนจะช่วยให้สามารถบริหารการใช้เงินได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น เพราะรู้ว่าเงินส่วนใดใช้ได้ และเงินส่วนใดต้องเก็บออมไว้ โดยการแบ่งสัดส่วนเงินมีสูตรที่นิยมใช้กันคือ 50-30-20 ซึ่งจะแบ่งเงินออกเป็น 'ค่าใช้จ่ายประจำวัน-ค่าใช้จ่ายส่วนตัว-เงินสำหรับเก็บออม' 

อ้างอิง: ธนาคารกรุงไทย ,ธนาคารกสิกร ,ธนาคารออมสิน ,ธนาคารกรุงศรี