เที่ยว'ตลาดสู้ศึกคึกคัก'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

เที่ยว'ตลาดสู้ศึกคึกคัก'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

“ตลาดสู้ศึกคึกคัก” จุดเช็คอินใหม่ ไม่ไกลมากจากกรุงเทพฯ มีอะไรปังๆบน ถนนสายวัฒนธรรมเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเส้นทางทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก สงครามโลกครั้งที่ 2 ใน จ.ประจวบฯ ยกเป็น 1 ใน 10 ตลาดบก  อีก Soft Powerสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและประเทศ

        “ตลาด”นับได้ว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยนิยมไปเยี่ยมชม เพื่อสัมผัสวิถีที่แตกต่างกันไปของแต่ละพื้นที่ อย่างเช่น ตลาดร่มหุบ ตลาดน้ำดำเนินสะดวก และอื่นๆอีกหลายแห่ง นับเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ไทย

    เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว “ตลาดสู้ศึกคึกคัก” เป็นตลาดบกแห่งที่ 2 จากโครงการ “10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ ตลาดสู้ศึกคึกคัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรม พิธีมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดบก เยี่ยมชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และขึ้นชื่อของตลาด และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของตลาดสู้ศึกคึกคัก

           นายโกวิท กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มีเป้าหมายและพันธกิจสำคัญในการเทิดทูน สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ให้มีการรักษา สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ของชุมชน

เที่ยว\'ตลาดสู้ศึกคึกคัก\'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

1 ใน 10 ตลาดบก
       จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และพัฒนาตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยดำเนินการคัดเลือกตลาดบก ที่มีความเข้มแข็งทั้งด้านสถานที่และชุมชน พร้อมร่วมมือร่วมใจพัฒนาศักยภาพเพื่อยกระดับตลาดบก จำนวน 10 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนจากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม ซึ่งนับว่าเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ตลาดวัฒนธรรมสู้ศึกคึกคักแห่งนี้ ได้รับการคัดเลือก เป็น 1 ใน 10 ตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

    น.ส.วราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ในปี 2566 กระทรวงวัฒนธรรมได้ดำเนินการคัดเลือกตลาดบกและตลาดน้ำ ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการพัฒนาเป็นตลาดสืบสานวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยตลาดวัฒนธรรมสู้ศึกคึกคัก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

           กรมส่งเสริมวัฒนธรรม     จึงได้ดำเนินโครงการด้วยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พร้อมต่อการบริหารจัดการชุมชนและบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชนและองค์กรเครือข่าย ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การบริการ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการองค์กร และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่

ตลาดสู้ศึกคึกคัก

            พันตรี อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ถนนสู้ศึกมี “ชุมชนหัวบ้าน” มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า “ชุมชนเกาะหลัก” เป็นพื้นที่แรกในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีเกาะใหญ่อยู่ในทะเลอ่าวประจวบฯ ซึ่งชุมชนแห่งนี้เริ่มแรกเป็นชุมชนของชาวประมง ที่มีผู้คนทั้งคนไทยและคนจีนอาศัยอยู่จนเป็นชุมชนใหญ่ และเรียกคนในชุมชนว่า “คนเกาะหลัก”
         ซึ่งบริเวณของชุมชนได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น เพราะเป็นพื้นที่สำหรับพักหลบลมมรสุมแก่นักเดินเรือค้าขายจากกรุงเทพมหานครและภาคใต้ รวมถึงกลุ่มพ่อค้าชาวจีนที่เดินเรือค้าขายจากเพชรบุรีไปยังชุมพร และความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ที่ชุมเกาะหลักนี้ เป็นจุดเติมน้ำจืดธรรมชาติไว้นำไปใช้บนเรือ ดังนั้นชุมชนนี้จึงเป็นชุมชนที่มีทั้งคนมาตั้งรกรากและแวะมาพักชั่วคราวระหว่างเดินเรือ

เที่ยว\'ตลาดสู้ศึกคึกคัก\'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เส้นทางญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

         ก่อนจะมาเป็นถนนสายวัฒนธรรมสู้ศึก อย่างที่กล่าวมานั้นว่า ชุมชนเกาะหลัก เป็นชื่อเดิมของ “ชุมชนหัวบ้าน” มีถนนเส้นหลักตัดผ่าน เป็นถนนที่มีประวัติศาสตร์ของวีรกรรมสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามมหาเอเชียบูรพา) เมื่อปี พ.ศ.2484 ถนนสายวัฒนธรรมแห่งนี้ ถูกใช้เป็นทางผ่านของทหารญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกเพื่อเดินทัพต่อไปยังประเทศพม่าหรือเมียนมาในปัจจุบัน จึงได้ชื่อว่า “ถนนสู้ศึก”

         กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายวัฒนธรรมสู้ศึก 1 ใน 11 แห่ง เป็นชุดแรกเมื่อปี 2560 และเปิดเป็น “ตลาดสู้ศึกคึกคัก” ให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เพลิดเพลินกับการเดินชมถ่ายรูปกับบรรยากาศบ้านเรือนเก่า ตลาดแบบย้อนยุค ช๊อป ชิมอาหาร ผลิตภัณฑ์ สินค้าหลากหลายของชาวชุมชน และร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ สนุกสนานอีกมากมาย อาทิ ตักบาตรเช้าวันอาทิตย์อุทิศให้วีรชน, การบรรเลงวงดนตรีไทย, กิจกรรมลีลาศและรำวง เป็นต้น
          รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวให้ทุกท่านมาเช็คอินกัน อาทิ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นศาลหลักเมืองแห่งแรกของจังหวัดประจวบฯ, วัดเกาะหลัก พระอารามหลวง, ร้านศรีเสนาะ, พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านจารย์ไก่, Street Art, คาเฟ่ลับกลางเมืองประจวบฯ, ก๋วยเตี๋ยวเรือ 9 บาท และบ้านขนมปังฮะจิ เป็นต้น ห้ามพลาดกับ “ตลาดสู้ศึกคึกคัก” ณ ถนนสายวัฒนธรรมสู้ศึก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะเปิดให้บริการเป็นประจำทุกวันเย็นวันอาทิตย์ เวลา 16.00 - 20.00 น. และร่วมกิจกรรม "ตักบาตรถนนสู้ศึก รำลึกวีรชน" ได้ทุกวันอาทิตย์ 7.00 - 8.00 น.

เที่ยว\'ตลาดสู้ศึกคึกคัก\'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ

         สำหรับตลาดบกและตลาดน้ำส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีตลาดบก 10 แห่ง ได้แก่

1.ตลาดเก่าหัวตะเข้ กรุงเทพฯ

2.ตลาดคลองบางหลวง กรุงเทพฯ

3.ตลาดจีนชากแง้ว จ.ชลบุรี

4.ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ จ.เชียงใหม่

5.ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน จ.น่าน

 6.ตลาดสู้ศึกคึกคัก จ.ประจวบคีรีขันธ์

7.ตลาดเชียงคาน เมืองสีสัน วัฒนธรรมริมโขง จ.เลย

 8.ตลาดริมน้ำคลองแดน (ชุมชนวิถีพุทธคลองแดน) จ.สงขลา

 9.ตลาดตรอกโรงยา (ถนนสั้น ตำนานยาว) จ.อุทัยธานี

10.ตลาดเขมราษฎร์ธานี จ.อุบลราชธานี

 ตลาดน้ำ 6 แห่ง ได้แก่

 1.ตลาดน้ำกรุงเก่าวัดท่าการ้อง จ.พระนครศรีอยุธยา

2.ตลาดน้ำกลางป่ากวางโจว จ.เพชรบุรี

 3.ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก จ.ราชบุรี

4.ตลาดน้ำคลองแห จ.สงขลา

5.ตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง จ.สมุทรปราการ

6.ตลาดน้ำอัมพวา จ.สมุทรสงคราม

เที่ยว\'ตลาดสู้ศึกคึกคัก\'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เที่ยว\'ตลาดสู้ศึกคึกคัก\'ประจวบคีรีขันธ์ เส้นทางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2