‘เศรษฐา’ ห่วงยาเสพติด แล้ว ‘กัญชา’ เอาอย่างไร?

‘เศรษฐา’ ห่วงยาเสพติด แล้ว ‘กัญชา’ เอาอย่างไร?

นายกฯ ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติดไม่ต่างจากปัญหาเศรษฐกิจ ต้องรอดูว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะมีนโยบายเรื่องกัญชาอย่างไร เพราะก่อนหน้านี้เจ้าตัวระบุไว้ว่า ไม่เอากัญชาเสรี ต้องเป็นกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น

การอภิปรายนโยบาย “รัฐบาลเศรษฐา” ในวานนี้ (12 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 2 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศชัดเจนว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติดไม่ต่างจากปัญหาเศรษฐกิจ ได้ฟังอย่างนี้แล้วเหล่าผู้ปกครองคงสบายใจมากขึ้น ดังนั้นนโยบายแรกๆ ที่ รัฐบาลเศรษฐา ควรต้องลงไปดูก่อนเลย คือ “กัญชา” สรุปแล้วเราจะเอาอย่างไรต่อ?

ก่อนอื่นต้องออกตัวว่ากองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจไม่ติดขัด หากรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ “เศรษฐา” ยังผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์ แต่ที่เราห่วง คือ การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ เพราะข้อมูลจาก ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดที่ได้ทำการศึกษาร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ระบุไว้ชัดเจนว่า ใน 2565 ซึ่งเป็นปีแรกที่ “กัญชา” ถูกปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ ตัวเลขเด็กและเยาวชนที่เสพกัญชาพุ่งขึ้นทันทีเกือบ 10 เท่าตัว

ข้อมูลที่กล่าวมานี้หาอ่านได้ใน รายงานภาวะสังคมไทยประจำไตรมาส 2 ปี 2566 ที่แถลงโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งอ้างอิงผลศึกษาจาก 2 หน่วยงานที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดย สศช. ระบุว่า การเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการ จากผลการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติด พบว่า ในปี 2562-2565 มีการใช้กัญชาแบบสูบเพื่อนันทนาการสูงขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะการใช้กัญชาแบบสูบในเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 18-19 ปี

จากการสำรวจข้อมูลในกลุ่มอายุดังกล่าว พบว่า เด็กอายุ 18-19 ปี มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 1-2.2% ในปี 2562-2564 เป็น 9.7% ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีแรกที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศให้ กัญชาพ้นจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% ยังคงถือเป็นยาเสพติดให้โทษอยู่

...ตัวเลข 9.7% นับว่าน่าห่วงเป็นอย่างมาก เท่ากับว่าเยาวชนในกลุ่มอายุ 18-19 ปี ในจำนวนนี้ถ้าเดินมา 10 คน จะมี 1 คนที่ใช้กัญชา

ส่วนผลกระทบจากการใช้กัญชาในกลุ่มเป้าหมาย ผลศึกษาพบว่า ราว 10% ของผู้ที่เคยใช้กัญชา มีอาการทางกาย เช่น ใจสั่น ในจำนวนนี้ราว 1.5% มีอาการทางจิต เช่น หูแว่ว

ทั้งนี้ อันตรายจากสาร THC หรือ “สารเมา” ถ้าเสพในปริมาณที่สูงสม่ำเสมอก็อาจทำให้ติดขึ้นมาได้ โดยสาร THC ในกัญชาเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจากการเสพเกินขนาด หรือจากการกระตุ้นให้เกิดอาการที่นำไปสู่การเสียชีวิต หรือการเสพแม้เพียง 1 ครั้ง ก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจที่ต้องสวนหัวใจถึง 5 เท่า เทียบกับคนไม่เสพ

เรื่องนี้คงต้องรอดูว่า “รัฐบาลเศรษฐา” จะมีนโยบายอย่างไรต่อไป เพราะในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง คุณเศรษฐา ระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่เอากัญชาเสรี ต้องเป็นกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เราจึงหวังว่าเรื่อง “กัญชา” จะเป็นหนึ่งในวาระเร่งด่วนก่อนที่เยาวชนจะติดปุ๊นกันทั่วบ้านทั่วเมืองไปมากกว่านี้!