'เอลนีโญ' กระทบปลูกข้าวหนักสุด หนุนปฏิรูปเกษตรแก้ปัญหายั่งยืน

'เอลนีโญ' กระทบปลูกข้าวหนักสุด หนุนปฏิรูปเกษตรแก้ปัญหายั่งยืน

นักวิชาการชี้ วิกฤติ "เอลนีโญ" รุนแรงลากยาว 2 ปี ลุ้นจบต้นปี 2568 "หอการค้า" คาดกระทบภาคเกษตรไทยปีนี้เสียหาย 4.8 หมื่นล้านบาท "ข้าว" เสียหายมากสุด 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตร แนะปลูกข้าวยั่งยืน ส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และการส่งออก

Key Point :

  • แม้ 'เอลนีโญ' ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ 'นักวิชาการ' มีความกังวลว่า ครั้งนี้จะมีความรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาและอาจลากยาวไปอีกประมาณ 2 ปี 
  • หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่สุดกว่า 37,631 ล้านบาท
  • นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว และการสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรลดการปลูกแล้ว 'การปลูกข้าวยังยืน' นับเป็นอีกหนึ่งแนวทาง ที่จะผลดีต่อทั้งเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และการส่งออก ในระยะยาว

 

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะเศรษฐศาสตร์, ศูนย์วิจัย Economy and Environment Partnership for Lower Mekong Sub-Region (EEI-LMS), มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ' ว่า ปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากเอลนีโญ คือ ในโซนทวีปเอเชีย โดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย จะเจอภาวะฝนน้อยและอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ย 

 

สำหรับในประเทศไทยเริ่มเห็นชัด โดยปริมาณน้ำฝนสะสมในเดือน ส.ค.2566 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จะหายไปเกือบ 20% มีการประมาณการว่าหากเกิดตามที่คาดการณ์ มูลค่า GDP ของทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญ อาจจะหายไป 1-2%

 

สิ่งที่กระทบหนัก คือ ภาคเกษตร เพราะจะเกิดน้ำแล้ง อุณหภูมิร้อนจัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย แต่จะเกิดฝนตกหนักมากกว่าค่าเฉลี่ยในทวีปอเมริกาเหนือรวมถึงฤดูหนาวที่หนักหน่วง ซึ่งทั้ง 2 อย่างกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น เวียดนาม ที่เป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่มีผลผลิตกาแฟหายไป ทำให้ราคาเมล็ดกาแฟพุ่งสูง รวมถึงโกโก้ก็ราคาสูงในรอบ 7 ปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมัน ที่ต้องใช้น้ำมากและผลิตอยู่แถบภาคใต้ของไทย อินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยอินโดนีเซียเริ่มมีมาตรการจำกัดการส่งออกปาล์มน้ำมัน เพราะต้องเหลือไว้ใช้ในประเทศเนื่องจากผลผลิตหายไปค่อนข้างเยอะ

 

“ในภาพรวมของโลกเหมือนเจอ 2 เรื่อง คือ สงครามยูเครน-รัสเซียที่ยังไม่จบ ทั้ง 2 ประเทศเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลก และล่าสุดก็ตกลงเรื่องการส่งออกไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เจอเอลนีโญซ้ำไปเข้าไปอีกก็ทำให้สินค้าเกษตรจากที่อื่นลดลง อาจจะนำไปสู้อัตราเงินเฟ้อระลอกใหม่ เป็นสิ่งกังวลกันในภาพรวมของโลก" 

 

ส่วนประเทศไทยคาดว่าจะทิศทางเดียวกับโลก เพราะไทยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบปริมาณน้ำฝนลดลงชัดเจนจากปีที่แล้ว และลดลงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 20-30 ปี เกือบ 10%

 

“เอลนีโญ”กระทบข้าวมากสุด

 

พืชผลทางการเกษตรในไทยที่กระทบมากที่สุด คือ ข้าว เพราะใช้น้ำในการปลูกเยอะ โดยพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานเริ่มเห็นสัญญาณน่ากังวลเพราะส่วนใหญ่จะต้องพึ่งพาน้ำฝน ขณะเดียวกันพื้นที่ในเขตชลประทานก็เริ่มกังวลเพราะการปล่อยน้ำในปีนี้ไม่สม่ำเสมอเหมือนปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำฝนลดลง ต้องหันไปพึ่งน้ำในชลประทานมากขึ้น

 

ที่ผ่านมา หอการค้าไทย คาดการณ์ว่า เอลนีโญ จะสร้างผลกระทบต่อภาคการเกษตรไทยในปี 2566 เสียหายราว 4.8 หมื่นล้านบาท โดยข้าว เป็นพืชที่เสียหายมากที่สุดกว่า 37,631 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด ขณะเดียวกัน ราคาข้าวที่สูงในขณะนี้แม้จะจูงใจให้เกษตรกรเดินหน้าปลูก แต่ก็ถือเป็นความเสี่ยงเนื่องจากน้ำอาจไม่เพียงพอ ดังนั้น นอกจากการบริหารจัดการน้ำแล้ว ระยะสั้น อาจต้องมีเงินสนับสนุนชั่วคราวเพื่อให้เกษตรกรลดการปลูก และระยะยาว การปลูกข้าวยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และการส่งออก

 

 

รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า หากกลับไปดูน้ำในเขื่อนถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ปริมาณน้ำในเขื่อนมีราว 30% ฝนตกเยอะบางจุดส่วนใหญ่จะเป็นฝนท้ายเขื่อน การเก็บกักน้ำไม่เต็มที่ มีการประมาณการปีนี้ว่าผลผลิตข้าวไทยน่าจะลดลงอย่างน้อยราว 5-10%

 

“มองว่าปีนี้ยังไม่น่ากลัวเท่าปีหน้า เพราะบางเขื่อนยังมีน้ำที่เก็บได้จากปีที่ผ่านมาซึ่งปริมาณฝนเยอะ แต่ปีนี้น้ำน้อย น้ำที่เก็บกักในเขื่อนก็น้อยไปด้วย ดังนั้นในปีหน้า ผลผลิตโดยเฉพาะข้าวอาจจะมีโอกาสลดลง เป็นสิ่งที่น่ากังวล สะท้อนเรื่องของราคาข้าวในตลาดที่เห็นชัด ซึ่งในปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกธรรมดาราคา 9 บาทต่อกิโลกรัม แต่ในปีนี้กระโดดไป 12 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวหอมมะลิ ปีที่ผ่านมา 12-13 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปีนี้ 15 บาทต่อกิโลกรัม”

 

ขณะนี้ แม้ราคาข้าวจะเป็นสิ่งจูงใจของเกษตรกร แต่จะพบปัญหาน้ำไม่พอ และที่สำคัญอนาคตน่ากังวลกว่าปีนี้จะจัดการน้ำอย่างไร เพราะต้องใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมถึงภาคอุตสาหกรรมและระบบนิเวศ อีกทั้งเอลนีโญไม่ใช่แค่เรื่องของปริมาณน้ำฝน แต่เป็นเรื่องของความร้อน อุณหภูมิที่สูงกว่าปกติ จะแล้งนานและร้อนนาน ดังนั้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนด้วย

 

เกษตรไทยต้องปรับตัวระยะยาว

 

สำหรับภาคเกษตรเป็นภาคที่น่ากังวล อาทิ แรงจูงใจในราคาข้าว ซึ่งความเป็นไปได้สูงว่าเกษตรกรอยากปลูกข้าวมากขึ้น แต่น้ำขาดแคลน ซึ่งจะบริหารน้ำอย่างไรระยะสั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่ปีนี้ และต้องมองในหลายด้าน 

 

ทั้งนี้ เกษตรกร ต้องพึ่งพารายได้จากการเกษตร ซึ่งรัฐจะมีการจูงใจอย่างไรให้เขาไม่ต้องปลูก แต่การที่รัฐเข้าไปสนับสนุนไม่ว่าจะเงินสนับสนุนชั่วคราว เพื่อลดการปลูกเนื่องจากน้ำไม่พอ เป็นทางเลือกหนึ่งในระยะสั้นที่อาจจะพอช่วยได้ มองว่าปีหน้าพื้นที่เพาะปลูกข้าวอย่างไรก็ต้องลดลงเพราะน้ำไม่พอ ซึ่งวิธีการนี้อาจจะดีกว่าให้เกษตรกรเสี่ยงปลูก

 

สำหรับระยาว มองว่าภาคเกษตรไทยต้องปรับตัว แม้ระยะยาวจะมีเอลนีโญหรือไม่มีก็ต้องเปลี่ยน เพราะ Climate Change ต้องมาแน่ๆ ประเทศไทยตอนนี้ภาคเกษตรเจอปัญหา สิ่งที่เห็นชัด คือ ผลผลิตกับต้นทุนการผลิต พืชหลักเรา คือ ข้าว อ้อย ผลผลิตต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง แต่ต้นทุนขึ้นตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็เผชิญต่อการเปลี่ยนแปลงของฝนและอุณหภูมิ ดังนั้น ในระยะยาว

1.ต้องเปลี่ยนภาคเกษตรใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น แต่ต้องหารูปแบบการเพาะปลูก เช่น ข้าวต้องหารูปแบบการปลูกแบบอื่นที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มและต้นทุนลดลง 

2.สามารถต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดีกว่าปัจจุบัน

และ 3.ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลง ระยะยาวต้องมองภาคเกษตรแบบนี้ ซึ่งเทคโนโลยีมีอยู่แล้วในประเทศไทย ปรับเล็กน้อยสามารถทำให้ชีวิตเปลี่ยนได้

 

ข้าวยั่งยืน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

 

ในปี 2566 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกับสหประชาชาติ (UN) เดินหน้า โครงการทดลองขยายผลการปลูกข้าวยั่งยืน จัดทำแปลงตัวอย่าง 20 หมู่บ้าน ในพื้นที่ภาคอีสาน แบ่งเป็น 10 หมู่บ้าน ใน อ.พระยืน จ.ขอนแก่น และ 10 หมู่บ้าน ใน อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ในการใช้เทคโนโลยีตรวจสอบสภาพดินเพื่อใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตและลดการเผา โดยจะเสนอผลการศึกษา จากตัวอย่างทั้ง 20 หมู่บ้าน ช่วงปลายปีนี้

 

“ปลูกข้าวยั่งยืน คือ หนึ่งเกษตรกรมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ได้กำไร เพราะต้นทุนลดจากการปรับการใช้ปุ๋ยเคมี แต่เดิมเกษตรกรเห็นข้าวไม่เขียวก็ใส่ปุ๋ยเคมีลงไปปริมาณมากเกิน ส่งผลให้ต้นทุนสูง ปุ๋ยที่ใส่เป็นปุ๋ยที่ไม่เหมาะสมกับดิน" 

 

นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากปรับมาใช้วิธีใส่ปุ๋ยให้ถูกสูตรให้เหมาะกับคุณภาพดินในปริมาณที่เหมาะสม ต้นทุนก็ลด ผลผลิตเพิ่ม สิ่งเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีตรวจสอบคุณภาพดินที่มีในไทย ประยุกต์ใช้ได้จริงในพื้นที่และวงกว้าง ดังนั้น ต้องผลักดันให้เกิดให้ได้ รวมทั้งรูปแบบเหล่านี้ยังใช้ในการปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง

 

ถัดมา คือ การไม่เผาหลังการเก็บเกี่ยว โดยมี 2 วิธี คือ การไถกลบ แต่จะต้นทุนเพิ่มเพราะต้องไถซ้ำหลายรอบ และอีกวิธี คือ แมชชิ่งกับบริษัททำฟางอัดก้อน ซึ่งมีการพูดคุยกับหลายเจ้าพบว่าดีมานด์มหาศาล เกษตรกรสามารถโทรนัดวันเวลาเพื่อให้เข้าไปรับซื้อฟางมาอัดก้อนได้เลย โดยเกษตรกรจะได้ไร่ละ 100 บาท ดังนั้น จึงต้องสร้างกลไกในการแมชชิ่งระหว่างเกษตรกรแต่ละกลุ่มกับบริษัทที่รับอัดฟาง

 

เปลี่ยน เพื่อเพิ่มโอกาสส่งออก

 

หากประเทศไทยทำเรื่อง 'ข้าวยั่งยืน' ได้สำเร็จ นอกจากจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้วยังส่งผลต่อการส่งออก รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ อธิบายว่า หากทำได้จะไม่ใช่พูดเรื่องปริมาณแต่จะเน้นเรื่องคุณภาพ ข้าวไทยตลาดส่งออกหลักเป็นตลาดราคาไม่สูง แต่ดีมานด์ในตลาดที่ต้องการข้าวคุณภาพสูงเยอะ เป็นทั้งโอกาสหากเราปรับตัว 

 

ทั้งนี้ หากไม่ปรับตัวจะกลายเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ข้าวเราขายได้ในตลาดโลก เพราะต้องยอมรับว่าประเทศที่พัฒนาแล้วพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้ตอนนี้ยังไม่มายังภาคการเกษตร แต่ในอนาคตมองว่ามาแน่ เช่น ยุโรป ที่มีเรื่องของ CBAM หรือ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ที่โฟกัสภาคอุตสาหกรรมในสินค้า 5 กลุ่มแรก และมองว่าในอนาคตจะมาที่ภาคการเกษตร เพราะฉะนั้น หากเราไม่ปรับ จะเป็นตัวขัดขวางภาคเกษตรในการส่งออกไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูง

 

“อีกหนึ่งประเด็น คือ ผลกระทบจากการผลิตภาคเกษตร ไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านอาหาร แต่หมายถึง สุขภาพ Climate Change ทั้งหมด เราต้องคำนึงทั้งหมดทุกองค์ประกอบ ต่อไปหากจะเปลี่ยนภาคการเกษตร คงไม่พูดแค่ว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกรไม่เผา เราควรต้องมองทั้งระบบ จะเปลี่ยนทั้งระบบอย่างไรให้ยั่งยืน” รศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย