“น้ำ”หายจากเขื่อนหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร สทนช.เร่งแผนรับฝนแล้ง “เอลนีโญ”

“น้ำ”หายจากเขื่อนหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร   สทนช.เร่งแผนรับฝนแล้ง “เอลนีโญ”

ช่วง 1-2 ปีจากนี้ คาดการณ์ว่าประเทศไทย จะเผชิญปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ไม่เพียงปริมาณน้ำฝนที่จะลดลง ความแห้งแล้งยังทำให้น้ำหายไปกับอากาศอีกไม่น้อย ส่งผลน้ำต้นทุนปีหน้า และอีกหลายปีถัดไปจะอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมสัมมนา"ถอดบทเรียนการติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เอลนีโญ" ว่า ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง สทนช. ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ภายใต้กรอบปฏิทินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

“น้ำ”หายจากเขื่อนหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร   สทนช.เร่งแผนรับฝนแล้ง “เอลนีโญ”

 โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ช่วงก่อนฤดูแล้ง กำหนดแผนการใช้น้ำ และพื้นที่เพาะปลูกพืช  พร้อมทั้ง กำหนดมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ

ระหว่างฤดูแล้ง จะเป็นการวิเคราะห์ ติดตาม ประเมิน พื้นที่เสี่ยงภัย และการให้ความช่วยเหลือ และ เมื่อสิ้นสุดฤดูแล้ง จะมีการประเมินผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา

 

 

 

“น้ำ”หายจากเขื่อนหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร   สทนช.เร่งแผนรับฝนแล้ง “เอลนีโญ”

 

"จากการประเมินผล ดังกล่าวพบว่าในช่วงต้นฤดูแล้งไทยยังมีปริมาณน้ำถึง 80% ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งหมด  แต่ในช่วงกลางถึงปลายฤดูแล้ง ไทยเข้าสู่สถานการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำหายไปกว่า 20%  ในขณะที่ปริมาณฝนมีน้อย ปริมาณน้ำที่จะสนับสนุนน้ำต้นทุนในช่วงฤดูฝนก็น้อยลงตาม คาดว่าในช่วงฤดูุแล้งปี 2566/67ที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566 ถึง 30 เม.ย. 2567 นั้นแนวโน้มมีปริมาณน้ำน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)" 

ดังนั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในฤดูแล้งปี 2566/67 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องขับเคลื่อนมาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเข้มข้น ซึ่งบางพื้นที่อาจขาดแคลนน้ำ จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละคณะกรรมการลุ่มน้ำต้องเข้ามาบริหารจัดการอย่างทั่วถึง 

ในขณะที่ต้องรณรงค์งดทำนาปีต่อเนื่องหรือนาปรัง อย่างจริงจังเพราะเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหาย โดย สทนช.จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมเมนูอาชีพเสริมให้กับเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาทั้งใน และนอกเขตชลประทาน ประมาณ 2 ล้านไร่ ในกรณีที่ต้องการปลูกพืชนั้นจะต้องอยู่ในกลุ่มพืชใช้น้ำน้อย 

สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำต้องเร่งศึกษา และดำเนินการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่  วางแนวทางการใช้น้ำอย่างประหยัดในองค์กร และลดการสูญเสีย เพื่อรักษาน้ำต้นทุนในอ่างฯ ให้เหลือไว้ให้มากที่สุด  ขณะเดียวกันต้องนำน้ำใต้ดินที่มีอยู่กว่า 4 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ขึ้นมาใช้ให้มากที่สุด จากปัจจุบันมีน้ำขึ้นมาใช้ประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีเท่านั้น

ทั้งนี้เพราะภาวะเอลนีโญ มีแนวโน้มจะลากยาวไปอีกนาน และจะกระทบปริมาณน้ำในฤดูแล้งปี2567/68 (1 พ.ย. 2567 - 30 เม.ย. 2568)ปริมาณน้ำในอ่างจะถูกใช้ตามลำดับความสำคัญคือ เพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ การบรรเทาสาธารณภัย  จารีตประเพณี  การคมนาคม  เกษตรกรรมซึ่งจะพิจารณากลุ่มไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นสำคัญ  และอุตสาหกรรม โดยน้ำสำหรับ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี นั้นได้เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว

ทรงเกียรติ ขำทอง  วิศวกรชลประทานชำนาญพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 3  กล่าวว่า  การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้วปี 2565/66 นั้นได้ดำเนินการตาม 10 มาตรการ โดยได้เร่งกักเก็บน้ำได้ปริมาณ ณ วันที่ 1 พ.ย. 2565  ที่ 68,340 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นจำนวนมากพอสมควรเนื่องจากไทยอยู่ในสถานการณ์ลานีญา 

ในขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ จัดเตรียมแผนสำรอง และเพิ่มน้ำ พร้อมทั้งวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยกำหนดพื้นที่เพาะปลูกไว้รวม 16.30 ล้านไร่ ผลการเพาะปลูกไปทั้งสิ้น 15.23 ล้านไร่ แยกเป็น การทำนาปรัง 13.38 ล้านไร่ ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ 13.55 ล้านไร่ และพืชผัก 1.79 ล้านไร่ ต่ำกว่าแผนที่กำหนดไว้ 2.75 ล้านไร่

จากการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า เพื่อให้ 10 มาตรการ รับมือฤดูแล้งเป็นไปตามเป้าหมาย ควรพัฒนา และปรับปรุงการพยากรณ์อากาศให้สอดคล้องกับพื้นที่เป้าหมาย การปรับเปลี่ยนจากแผนที่เฉลี่ย One map เป็นการใช้ฝนต่ำสุด  One map และเพิ่มความถี่ในการคาดการณ์เป็นรายสัปดาห์  ปรับปรุงตัวแปรของสภาพภูมิประเทศในการวิเคราะห์แบบจำลอง เพื่อเพิ่มความแม่นยำของการพยากรณ์ 

ความท้าทายจาก“เอลนีโญ”เป็นเรื่องที่รับมือได้ยาก เมื่อรวมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าไปอีกก็ยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำที่หากไม่เตรียมพร้อม และถอดบทเรียนประสบการณ์ที่ผ่านมาความท้าทายอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ต้องยากจะรับมือ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์