ครม.รับทราบรายงาน โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ครม.รับทราบรายงาน โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ครม. รับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 63 และ 64 โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติรับทราบรายงานการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2563 และ 2564 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ

โดยแนวโน้มสถานการณ์เด็กและเยาวชน พบว่า โครงสร้างประชากรเด็กและเยาวชน (อายุ 0-25 ปี) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีจำนวน 20.18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30.49 จากประชากรทั้งประเทศ 66.19 ล้านคน และปี 2564 มีจำนวน 19.73 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 29.81 จากประชากรทั้งประเทศ 66.17 ล้านคน ซึ่งปี 2564 เป็นปีแรกที่อัตราการเกิดลดต่ำจนน้อยกว่าอัตราการตายเนื่องจากแนวโน้มสภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงเกิดจากผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานช้าลง

สภาพการณ์และแนวโน้มของปัญหาเด็กและเยาวชน แบ่งตามประเภทของเด็กและเยาวชน 6 กลุ่ม สรุปได้ดังนี้

1. ช่วงเด็กปฐมวัย 0-6 ปี เช่น น้ำหนักทารกแรกเกิด โดยในปี 2563 มีจำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 42,756 คน คิดเป็นร้อยละ 9.52 จากทารกเกิดมีชีพ 449,220 คน และในปี 2564 จำนวนทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ 40,098 คน คิดเป็นร้อยละ 9.87 จากทารกเกิดมีชีพ 406,345 คน ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563

2. ช่วงเด็กวัย 7-12 ปี เกิดภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนในเด็กวัยเรียน โดยในปี 2563 จำนวน 575,442 คน (จากการสำรวจเด็กวัยเรียน 4.51 ล้านคน) และในปี 2564 จำนวน 456,747 คน (จากการสำรวจเด็กวัยเรียน 4.09 ล้านคน) เนื่องจากมาตรการล็อคดาวน์และปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19 ส่งผลต่อการเข้าถึงอาหารที่โรงเรียนและการเคลื่อนไหวร่างกายตามประสาวัยเด็กอาจเป็นส่วนทำให้มีจำนวนโรคอ้วนในเด็กมากขึ้นได้

3. ช่วงเยาวชน 13-17 ปี พบสภาพการณ์ความขัดแย้งภายในครอบครัวและโรงเรียนจากการแสดงออกทางการเมือง ทำให้สังคมไทยได้เห็นภาพการแบ่งรุ่น แบ่งวัย และความต่างทางความคิดอย่างชัดเจน รวมถึงปัญหาการถูกล่วงละเมิดทางเพศและปัญหาการใช้สื่อออนไลน์โดยเฉพาะการติดพนันออนไลน์ที่ยังคงมีเพิ่มมากขึ้น

4. ช่วงเยาวชน 18-25 ปี ถูกปลดออกจากงานและเผชิญกับปัญหาการว่างงานหลังเรียนจบ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการสำรวจในช่วงต้นปี 2563 พบว่า คนในช่วงอายุ 15-24 ปีถูกเลิกจ้างงานเป็นจำนวนมากในหลายประเทศทั่วโลกและเป็นกลุ่มประชากรที่ตกงานมากกว่าคนในวัยอื่น ๆ โดยในปี 2564 มีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน

5. เด็กและเยาวชนที่ต้องการการคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่น เด็กพิการ โดยไทยมีจำนวนเด็กและเยาวชนที่พิการในปี 2563จำนวน 153,708 คน (จากประชากรเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ 19.21 ล้านคน) และในปี 2564 จำนวน 151,163 คน (จากประชากรเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ 19.73 ล้านคน) ซึ่งเด็กและเยาวชนที่พิการส่วนใหญ่อยู่ในครอบครัวที่ยากจน ไม่ได้เข้าเรียน และเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสจากสถานการณ์โควิด-19 พบปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการเรียนการสอนแบบออนไลน์ รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ การขาดแคลนอาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าใช้จ่ายในครอบครัว

6. เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษ โดยเด็กและเยาวชนไทยได้รับรางวัลจากการแข่งขันทางวิชาการระหว่างประเทศ (คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ) และได้รับเหรียญจากการเป็นนักกีฬาพาราลิมปิกทีมชาติไทย (นักวีลแชร์เรซซิ่งและนักกอล์ฟ)

“บทสรุปและวิเคราะห์ในเชิงข้อเสนอด้านนโยบายในภาพรวม เช่น ไทยยังขาดระบบการรวบรวมข้อมูลด้านงบประมาณและไม่มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบและกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและวิเคราะห์แนวโน้มของการใช้งบประมาณ และการออกกฎหมายเชิงป้องกันภัยแก่เด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงในเด็กและเยาวชน โดยหน่วยงานทางด้านกฎหมายต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายจัดการเอาผิดกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมมีแนวโน้มเป็นภัยอันตรายต่อเด็กและเยาวชน” น.ส.ทิพานัน กล่าว