มท.1 ชี้แจง 3 ประเด็น 'เบี้ยผู้สูงอายุ' ได้รับเงินเหมือนเดิม

มท.1 ย้ำ 'ผู้สูงอายุ' ไม่ต้องกังวลได้รับ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เหมือนเดิม

มท.1 ย้ำ "ผู้สูงอายุ" ไม่ต้องกังวลได้รับ "เบี้ยผู้สูงอายุ" เหมือนเดิม เผย 3 ประเด็น คลายข้อสงสัย ที่มาของการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ผู้มีสิทธิรายใหม่ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และการกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

วันนี้ (15 ส.ค.66) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 หรือ "เบี้ยผู้สูงอายุ" ซึ่งได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นประเด็นสงสัยของพี่น้องประชาชนอยู่ในขณะนี้นั้น มีประเด็นที่ต้องสร้างความรับรู้ความเข้าใจ ใน 3 ประเด็น ดังนี้

  • ประเด็นที่ 1 ที่มาของการแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ

เกิดขึ้นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัย เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยระบุว่า ระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 กล่าวคือ ในอดีตผู้ที่ได้รับสวัสดิการภาครัฐ เช่น บำเหน็จ บำนาญ จะไม่ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ อาจจะเป็นผู้มีรายได้น้อย ไม่พอกับการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงจำเป็นต้องปรับแก้ระเบียบฯ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเปิดกว้างให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีโอกาสได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่ใช่การลักไก่ออกระเบียบฯ ในช่วงรัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • ประเด็นที่ 2 ผู้มีสิทธิรายใหม่ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดว่า “ต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” 

โดยในขณะนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นฝ่ายเลขานุการ ยังไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ 

ดังนั้น ในระหว่างที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยังไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ "ผู้สูงอายุ" ที่ได้รับเบี้ยยังชีพก็ยังได้รับเหมือนเดิมทุกประการ ไม่ต้องกังวล

 

  • ประเด็นที่ 3 การกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ

ในส่วนนี้ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะพิจารณา โดยอยู่บนหลักของความทั่วถึงและเป็นธรรม