คำต่อคำเลขาฯกฤษฎีกา จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มยากไร้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

คำต่อคำเลขาฯกฤษฎีกา จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มยากไร้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

เลขาฯกฤษฎีกายกข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญ 48 วรรค 2 แจงปมจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ชี้รัฐธรรมนูญกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐให้รัฐช่วยเหลือผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยากไร้ แนะให้มีกำหนดเกณฑ์ความยากไร้ที่ชัดเจน ระบุการช่วยเฉพาะกลุ่มไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หากรัฐจะช่วยเพิ่มถือเป็นนโยบายรัฐ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาถือว่าเรื่องนี้เป็นแนวนโยบายของรัฐที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 48 วรรค 2 ได้เขียนไว้ว่ารัฐต้องดูแลบุคคลที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งยากไร้และไม่มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ

ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ไม่ได้เขียนแบบนี้แต่เขียนอีกอย่างหนึ่ง โดยในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับนี้ก็จะบอกชัดว่าเราให้ความช่วยเหลือคนที่สมควรช่วยเหลือ เพราะเราไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ แต่เป็นการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ส่วนที่รัฐบาลจะกำหนดให้เป็นการให้ที่มากขึ้น ในลักษณะที่เป็นสวัสดิการนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับแนวนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรวมทั้งการกำหนดด้วยว่าจ่ายใครบ้าง

ทั้งนี้ปัญหาในเรื่องนี้มีการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมขึ้นมาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ใครที่รับเงินจากรัฐไปแล้ว เช่น บำเหน็จ บำนาญ จากรัฐไปแล้วห้ามให้มารับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีก ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่ากำหนดแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหากมีอายุ 60 แล้วเป็นผู้ยากไร้ นั้นกำหนดว่ารัฐต้องดูแล รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าเป็นผู้รับเงินจากแหล่งเงินอื่นของรัฐแล้วห้ามรับเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งหากไปกำหนดในลักษณะนั้นอาจขัดกับรัฐธรรมนูญได้

ดังนั้นทางออกของเรื่องนี้จึงให้มีการออกเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นข้อๆได้แก่ 1.เป็นคนไทยที่อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี และ 2.เกณฑ์ในเรื่องความยากไร้ ไม่มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ ซึ่งการดูในเรื่องของความยากไร้ของคนอาจดูในเรื่องของเกณฑ์รายได้ตามเส้นความยากจนหรือกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นมาให้ชัดเจนว่าจะอ้างอิงจากส่วนไหน

 

ทั้งนี้ในกฎหมายยังมีการกำหนดบทเฉพาะกาลว่าใครที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอยู่ในปัจจุบันก็ยังคงได้รับอยู่ ส่วนที่สองคือเงินที่ได้รับอยู่ไม่ได้น้อยกว่าเดิม ส่วนจะให้มากกว่าเดิมหรือไม่เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่จะกำหนดผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติที่จะมากำหนดในเรื่องนี้ ซึ่งการกำหนดเรื่องเกณฑ์ความยากไร้ทำให้เกิดความชัดเจนและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

 

“รัฐบาลจะให้เท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องแนวโน้มบายของแต่ละรัฐบาล เหมือนกับที่กำหนดไว้ว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ให้ไว้ 12 ปี แต่หากรัฐบาลบอกว่าสำคัญให้เพิ่มเป็น 15 ปีก็สามารถเพิ่มได้ขึ้นกับมีเงินหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องไปถามว่าหากมีรายได้มากควรจะรับเงินผู้สูงอายุหรือไม่ หรือว่าเราจะช่วยเหลือเฉพาะผู้ยากไร้”

เมื่อถามว่านักการเมืองบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิทธิ์ที่คนไทยควรได้ทุกคน เลขาธิการกฤษฎีกากล่าวว่าก็ต้องย้อนกลับไปดูตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่ารัฐบาลมีหน้าที่ดูแลคนอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ยากไร้ ส่วนที่จะมีเกณฑ์ที่ดูแลทุกคนหรือทุกกลุ่มถือว่าเป็นแนวนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่จะทำเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็จะดูในเรื่องของงบประมาณที่มีด้วย หากมีงบประมาณเพิ่มขึ้นก็อาจสามารถให้เพิ่มได้

ส่วนเมื่อถามว่าบทเฉพาะกาลจะมีผลถึงเมื่อไหร่นายปกรณ์กล่าวว่า จะมีผลตลอดไปในการคุ้มครองคนที่ได้รับสิทธิ์อยู่แล้ว ส่วนรายใหม่ก็จะมีการตรวจสอบและขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ของคณะกรรมการผู้สูงอายุฯชุดใหม่ เรื่องนี้ไม่มีใครลักไก่ใครได้ เพราะทุกฝ่ายจ้องดูเรื่องนี้อยู่