ล่า ซื้อขาย ฆ่า 'ตัวเงินตัวทอง' มีความผิด! วางยา 'ไซยาไนด์' ก็ไม่ได้

ล่า ซื้อขาย ฆ่า 'ตัวเงินตัวทอง' มีความผิด! วางยา 'ไซยาไนด์' ก็ไม่ได้

คดี “แอมไซยาไนด์” ลามถึง นางเอก 100 ล้าน “ไอซ์ ปรีชญา” ยอมรับสั่งซื้อไซยาไนด์จริง คิดจะใช้กำจัด “ตัวเงินตัวทอง” และสัตว์มีพิษ เพราะกลัวมากัดสุนัข แต่รู้ไหม ตัวเงินตัวทอง (เหี้ย) เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามล่า ซื้อขาย ครอบครอง วางยา “ไซยาไนด์” ก็ไม่ได้

คดี “แอม ไซยาไนด์” ไม่จบง่ายๆ ลามถึง “นางเอก 100 ล้าน” ที่มีรายชื่อสั่งซื้อไซยาไนด์จากร้านเดียวกัน โดยล่าสุดเฉลยว่า เป็น “ไอซ์ - ปรีชญา พงษ์ธนานิกร” ที่วานนี้เปิดเผยผ่านรายการ ลุยชนข่าว ทางช่อง 8 โดยยอมรับสั่งซื้อไซยาไนด์ จริง โดยคิดจะเอาไปกำจัด "ตัวเงินตัวทอง" ที่อยู่คลองข้างบ้าน รวมถึงสัตว์มีพิษอื่นๆ เพราะกลัวว่าจะมากัดสุนัข จึงลองสั่งซื้อเพียง 1 ขวด อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวเผยว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่แกะออกจากซองเลยด้วยซ้ำ

  • ไม่รักก็ได้ แต่ห้ามทำร้าย “ตัวเงินตัวทอง”

ทั้งนี้ อาจเป็นโชคดีของดาราสาว ที่ยังไม่ได้ทำการใดลงไป เพราะ “ตัวเงินตัวทอง” หรือ ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เหี้ย” นั้น แม้จะเป็นสัตว์ที่ใครๆ ก็ไม่รัก แถมเป็นสัตว์ที่พบเจอได้ทั่วไป จนหลายคนอาจไม่ทราบว่า ที่จริงแล้ว ตัวเงินตัวทอง หรือ เหี้ย จัดเป็น เป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ตามพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งนิยามว่า หมายถึง “สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ” ที่ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือ มีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ตัวเงินตัวทอง" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้าม ล่า หรือ มีไว้ในครอบครอง

  • เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่พบง่ายใกล้บ้านคน

ข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุถึง “เหี้ย” ว่า เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถพบเห็นได้ตามริมตลิ่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือบึง พวกมันสามารถว่ายน้ำและปีนต้นไม้ได้ดี บางชนิดสามารถดำน้ำได้นานถึงครึ่งชั่วโมง เหี้ยจะออกหากินในช่วงเวลากลางวัน อาหารหลัก ๆ ได้แก่ สัตว์ปีก หนู ปลา และซากสัตว์ เป็นต้น

และถึงจะเป็น เหี้ย แต่ใช่ว่าพวกมันจะไม่ถูกคุกคามจากมนุษย์ผู้ที่ใช้พิธีกรรมและความเชื่อ มาเป็นข้ออ้างในการกระทำผิด นอกจากนี้พวกมันยังถูกล่ามาเป็นอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง และอื่น ๆ อีกมากมาย

“เหี้ย” เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่สามารถพบเห็นได้ตามริมตลิ่ง แม่น้ำ ลำคลอง หรือบึง

  • สัตว์วงศ์เหี้ย มีอยู่ 4 ชนิด

ในประเทศไทย มีวงศ์เหี้ยอยู่ 4 ชนิดที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ได้แก่ ตะกวด ตุ๊ดตู่ เห่าช้าง และเหี้ย 

- ตะกวด (Varanus bengalensis nebulosus หรือ Varanus nebulosus) หรือบางพื้นที่เรียกว่า แลน ลำตัวสีดำหรือน้ำตาลเข้ม บนตัวมีลายจุดสีเหลืองจางกระจายทั่วไปทั้งลำตัวและขาด้านบน ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้ หากินบนพื้นดิน ตะกวดเป็นสัตว์ป่าที่นับว่าถูกล่า และถูกคุกคาม จากมนุษย์มากที่สุดจนบางพื้นที่แถบไม่เหลือให้พบเจอ ส่วนใหญ่จะพบว่าคนชอบนำตะกวดหรือแลน มาประกอบเป็นอาหารโดยไม่ทราบว่ามันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

- ตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii) มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่โดยเฉพาะตรงคอ ตอนเด็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำลากตัดบริเวณหางตา ตอนโตจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล พบได้ตามภาคใต้และภาคตะวันตกในไทย มีนิสัยรักสงบ และเชื่องช้า

 

เหี้ย มีขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกรงเล็บแหลมคม ปีนต้นไม้และว่ายน้ำเก่ง

- เห่าช้าง (Varanus rudicollis) มีขนาดเล็กกว่าเหี้ย ผิวสีดำเข้ม มีลายขวางจาง ๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอมีลักษณะเป็นแหลม ๆ คล้ายหนามทุเรียน เห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัว มีความว่องไว และดุร้ายกว่าเหี้ยชนิดอื่นเมื่อเจอศัตรูจะขู่เสียงฟ่อ ๆ เหมือนงูเห่าแต่ไม่ได้เป็นสัตว์มีพิษ

- เหี้ย (Varanus salvator) หรือบางคนเรียกว่า ตัวเงินตัวทอง ในตระกูลนี้ พวกมันถือว่ามีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดและพบเจอได้ง่ายที่สุดโดยจะชอบอาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง ป่าดิบชื้น และป่าชายเลน เป็นต้น ลำตัวของมันจะอ้วนยาว ขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกรงเล็บแหลมคม หางช่วยในการทรงตัวตอนวิ่งและว่ายน้ำ ผิวหนังหยาบมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว ตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย นิสัยรักสันโดษ ปีนต้นไม้ และว่ายน้ำเก่ง จะดุร้ายเมื่อเจอคุกคามจากศัตรู

สัตว์ตระกูลเหี้ยที่กล่าวมา 4 ชนิดนี้เป็น “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ซึ่งตามพระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 นิยามว่า หมายถึง “สัตว์ป่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ หรือจำนวนประชากรของสัตว์ป่าชนิดนั้นมีแนวโน้มลดลงอันอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ” ที่ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อ้างอิง : พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ , สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า