เตรียมลูกหลานให้พร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ | บวร ปภัสราทร

เตรียมลูกหลานให้พร้อมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ | บวร ปภัสราทร

คนที่มีชีวิตอย่างเป็นสุข ล้วนแต่เป็นคนที่ยอมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่พบเจอในชีวิต คนที่คุมอารมณ์ไม่ค่อยจะได้ เมื่อพบเจอสิ่งที่แตกต่างไปจากที่ตนเชื่อนั้น ไม่ค่อยพบว่าเป็นคนมีความสุข

พ่อแม่มีบทบาทสำคัญกับชีวิตของลูก พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดตัว ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคบหาสมาคมกับผู้คน มักจะทำให้ลูกให้ความสำคัญกับการเล่าเรียนน้อยกว่าการพบปะผู้คน

ผลที่ตามมาคือลูกมักจะเรียนไม่เก่ง คุยเก่งแต่คุยไปเรื่อยโดยไม่มีหลักวิชาการอะไรมากนัก

ลูกที่มีพ่อแม่เป็นคนที่มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ มักจะมีสุขภาพโดยรวมไม่ค่อยจะดี แม้จะดูแข็งแรงในภายนอก แต่ภายในเหมือนมีระเบิดเวลาติดตัวไว้ มักใช้เวลาในชีวิตอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำอะไรที่แปลกไปกว่าที่คนทั่วไปกระทำกัน เรียนตอนนอน เล่นตอนเรียน

 

 

งานวิจัยบอกว่า บุคลิกภาพที่ส่งผลดีต่อความสุขและความสำเร็จในชีวิตในยุคปัจจุบัน คือบุคลิกภาพแบบที่ยอมเปิดรับประสบการณ์ใหม่ หรือ Openness  

บุคลิกภาพแบบนี้ส่งเสริมให้ลูกหลานเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการได้ดี  คิดในระดับที่เป็นนามธรรมได้กระจ่าง ใฝ่รู้ในสรรพสิ่ง ทำให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และคุยกับคนคิดต่างได้อย่างสนุกสนาน

ที่สำคัญคือจะเป็นคนที่พึงพอใจในตนเอง  ใครที่คุยกับคนคิดต่างได้ก็มีความสุขแล้ว เพราะทุกวันนี้เต็มไปด้วยคนที่คุยกับคนคิดต่างแล้วเก็บมาทุกข์ข้ามวันข้ามคืน

 

ใครที่เป็นพ่อแม่น่าจะลองพยายามสร้างสรรค์บุคลิกในการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกหลาน ซึ่งอาจจะเป็นมรดกที่มีคุณค่ากับชีวิตของพวกเขามากยิ่งกว่าทรัพย์สมบัติเสียด้วยซำ้ คงเคยเห็นคนที่ทุกข์ร้อนบนกองเงินกองทองกันมาบ้างแล้ว

เริ่มต้นจากพฤติกรรมของพ่อแม่และคนในครอบครัว ต้องไม่เป็นกำแพงกีดกันประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งบ้านช่วยกันห้ามไม่ไห้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ หวังดีกันตลอดจนกระทั่งลูกหลานไม่ได้เจอะเจออะไรใหม่ ๆ เลย

ในบ้านไม่ชอบความคิดเรื่องนั่นเรื่องนี้ ก็จัดการกรองความคิดเหล่านั้นให้พ้นไปจากบ้าน ทุกคนในบ้านจมอยู่กับความคิดเก่าความเชื่อเก่า ลูกหลานไปรับความคิดใหม่ ๆ มาจากนอกบ้าน ก็ตกอกตกใจกันใหญ่โต แล้วตอบสนองราวกับลูกหลานไปรับของโจรมาเลยทีเดียว

พ่อแม่อาจเปลี่ยนบุคลิกภาพของตนเองได้ยาก แต่พฤติกรรมที่แสดงออกกับลูกหลานนั้นเปลี่ยนได้

ก่อนมีพฤติกรรมใด ๆ กับลูกหลานลองถามตนเองให้แน่ใจก่อนว่า พฤติกรรมนั้นส่งเสริม หรือกีดกันประสบการณ์ใหม่ ๆกันแน่ ระวังคำตอบที่มาจากความลำเอียงตามบุคลิกภาพของตนเองเอาไว้ด้วย

พยายามส่งเสริมให้ลูกหลานได้พบเจอสิ่งที่แตกต่างไปจากที่บ้านมี ที่บ้านเป็น อย่ากังวลมากเกินไปว่าสิ่งที่แตกต่างไปนั้นจะเป็นพิษเป็นภัยกับลูกหลาน

หลายอย่างที่คนรุ่นหนึ่งเห็นว่าเป็นพิษนั้น อาจจะไม่มีฤทธิ์ใด ๆกับคนอีกรุ่นหนึ่งก็ได้ ฝึกให้เขามองเรื่องต่าง ๆในมุมมองของคนอื่นไว้เสมอ วันหน้าจะได้คิดอะไรใหม่ ๆในมุมมองของคนอื่นได้

จะออกแบบอะไรใหม่ก็ไม่เป็นการออกแบบตามอัตตา คือออกแบบไปตามที่ตนเองเห็นว่าสำคัญโดยไม่รู้ว่าเขามีความต้องการที่แตกต่างไปอย่างไร

อย่าห้ามการตั้งคำถาม แต่ส่งเสริมให้ถาม เพราะการตั้งคำถามที่ดีนั้นบ่งบอกว่าเขาพร้อมที่จะเปิดรับประสบการณ์ใหม่มากน้อยเพียงใด

อย่าถูกใจกับคำถามที่สอดคล้องกับอัตตาและความเชื่อของพ่อแม่  แต่ให้ดีใจกับคำถามที่มีคำตอบหลากหลาก ดีใจกับคำถามที่คำตอบที่ถูกมีมากกว่าคำตอบเดียว อย่าทำให้มีการผูกขาดคำตอบที่ถูกต้องไว้เพียงอย่างเดียว

เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้พบเจอกับผู้คนที่แตกต่าง เพื่อเรียนรู้ที่จะเสาะหาของดีจากความแตกต่างนั้น

ฝึกฝนการทำความเข้าใจกับตรรกะของคนต่างความคิดต่างความเชื่อ และฝึกให้รู้จักแยกแยะระหว่างกลุ่มกับตัวตน ไม่เอาตัวตนคนหนึ่งไปเป็นภาพรวมของทั้งกลุ่ม

การสร้างความพร้อมเรื่องนี้ให้ลูกหลานนั้น พ่อแม่และครอบครัวสำคัญกว่าโรงเรียนและชุมชนรอบตัวยิ่งนัก อย่าหวังไปพึ่งอะไรที่ไม่เคยยอมรับของใหม่ ให้มาช่วยฝึกลูกหลานเราให้พร้อมรับประสบการณ์ใหม่เด็ดขาด.

คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์

รศ.บวร ปภัสราทร 

นักวิจัย Digital Transformation

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

email. [email protected]