คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

ประชากรสูงวัยญี่ปุ่นโดยทั่วไปดูสุขภาพดี เข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้มาก ใช้จ่ายอย่างประหยัด และพร้อมช่วยเหลือคนในชุมชน ไม่พยายามเป็นภาระต่อคนอื่น เป็นตัวอย่างของสังคมสูงวัยที่น่าเป็นแบบอย่าง

อาทิตย์นี้ผมอยู่ญี่ปุ่น มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮิโตสุบาชิ (Hitotsubashi) กรุงโตเกียว หลักสูตรปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษด้านนโยบายสาธารณะ (Asian Public Policy Program) เป็นหลักสูตรที่ผมสอนมาต่อเนื่องเกือบสิบปี 

นักศึกษาจะเป็นข้าราชการจากประเทศต่างๆ ในเอเชียที่ได้รับทุนให้มาเรียนเป็นเวลาสองปี เช่น จากรัฐบาลญี่ปุ่น ไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เป็นหลักสูตรที่บ่มเพาะข้าราชการในเอเชียที่จะทํานโยบายเศรษฐกิจในอนาคต

มาญี่ปุ่นปีนี้ค่อนข้างพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกหลังสองปีที่ต้องหยุดไป ไม่ได้มาสอนที่ญี่ปุ่นเพราะการระบาดของโควิด ต้องสอนออนไลน์แทน กลับมาปีนี้สังคมญี่ปุ่นยังน่าประทับใจเหมือนเดิม มีการบริหารจัดการดี ทุกอย่างดูเรียบร้อย เป็นระเบียบปลอดภัย ผู้คนมีวินัย 

และที่น่าทึ่งคือ ประชากรสูงวัยญี่ปุ่นโดยทั่วไปดูสุขภาพดี เข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้มาก ใช้จ่ายอย่างประหยัด และพร้อมช่วยเหลือคนในชุมชน ไม่พยายามเป็นภาระต่อคนอื่น เป็นตัวอย่างของสังคมสูงวัยที่น่าเป็นแบบอย่าง

คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

ประเทศเราขณะนี้ก็เป็นประเทศสังคมสูงวัยอย่างเป็นทางการ ณ สิ้นปีที่แล้ว อัตราส่วนประชากรสูงวัยคือ คนอายุ 60 ขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 18.3 สูงกว่าอัตราส่วนประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปี คือมีคนแก่มากกว่าเด็ก และอัตราส่วนประชากรสูงวัยนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ธนาคารโลกประมาณการว่า อัตราส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นจะทําให้กําลังแรงงานของประเทศเราลดลงจาก 38 ล้านคนปัจจุบันเหลือ 23.6 ล้านคน คือหายไป 14.4 ล้านคนในปี 2060 คืออีก 37 ปีข้างหน้า

ขณะที่สัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มเป็น 31 เปอร์เซนต์จากปัจจุบัน 13-14 เปอร์เชนต์ คือ ประเทศเราจะเล็กลงในอนาคตเหลือแต่คนแก่ คือคนไทยทุกๆ สามคนในปี 2060 จะมีอายุมากกว่า 65 ปี หนึ่งคน

คําถามคือ เราจะอยู่กันอย่างไร ใครจะหารายได้ และประเทศจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่าย ไม่ต้องรอให้ถึงปี 2060 เราก็รู้แล้วว่าสังคมสูงวัยของประเทศเรามีปัญหามาก ปี 2019 มีผลสำรวจว่ากว่าร้อยละ 80 ของผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณในบ้านเราไม่มีเงินออมพอที่จะใช้จ่าย ต้องหางานทําหรือพึ่งการเลี้ยงดูโดยบุตรหลานและภาครัฐ

คนเหล่านี้มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นคนจนของสังคม และที่เป็นแบบนี้เพราะประเทศเราก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยขณะที่ระดับการพัฒนาประเทศยังไม่สูงพอ คือ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยขณะนี้อยู่ที่ 7,600 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี 

ขณะที่ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมถึงฮ่องกง เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างที่ประเทศไทยเป็นขณะนี้ รายได้ต่อหัวจะประมาณ 41,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี สูงกว่าเรามาก ประเทศเราจึงเหมือนคนแก่ที่จนในภูมิภาค ต้องรอให้คนอื่นมาเที่ยวมาใช้ตังค์ เพื่อให้มีรายได้

คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

มองไปข้างหน้า คนไทย 23.6 ล้านคนที่จะอยู่ในวัยทำงานของประเทศในอนาคต ซึ่งก็คือคนรุ่นใหม่ขณะนี้จะมีภาระมาก คือ ต้องทํางานเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ต้องเลี้ยงดูประชากรสูงวัยที่จะมีจํานวนมากในประเทศ

ต้องชําระหนี้สาธารณะที่คนรุ่นเก่าที่เกษียณอายุไปแล้วได้สร้างไว้ และต้องรักษาประเทศให้มั่นคงมีการเติบโตเพื่อให้ประเทศมีรายได้ เป็นภาระและหน้าที่ในฐานะพลเมืองของประเทศไทยที่หนักมาก

ที่สำคัญภาระหน้าที่เหล่านี้ไม่ได้ถูกทําให้ง่ายขึ้นจากการส่งผ่านประเทศจากคนรุ่นเก่าให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ การเมืองหรือสังคม เรามีเศรษฐกิจที่ปัจจุบันความสามารถในการขยายตัวและแข่งขันตํ่า

ระดับการศึกษาของกําลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศก็ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ไปได้ดี ภาคธุรกิจของเราไม่เปิดกว้างต่อการแข่งขันเหมือนสมัยก่อนแต่กลับพึ่งการผูกขาดและการอุปถัมภ์มากขึ้น 

ประเทศมีปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการที่รุนแรง มีในทุกระดับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จํานวนคนจนและคนที่พึ่งตนเองไม่ได้นับวันจะเพิ่มขึ้น ขณะที่สิ่งแวดล้อมในประเทศก็ทรุดโทรมและเลวร้ายลง 

ที่สำคัญการเมืองของประเทศที่น่าจะเป็นหัวหอกนำประเทศไปสู่ความเจริญทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ก็ไม่มีการพัฒนา นักการเมืองมุ่งแต่เรื่องอํานาจผลประโยชน์และรักษาสถานะของตนในสังคมมากกว่าที่จะแก้ปัญหา ปฏิรูปและทําให้ประเทศเจริญขึ้น

คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร

นี่คือประเทศที่คนรุ่นเก่ากําลังส่งมอบให้คนรุ่นใหม่

ที่ต้องตระหนักคือ ลักษณะสังคมแบบนี้ ทําให้คนรุ่นใหม่บางส่วนเริ่มท้อและขาดความหวังซึ่งอันตรายมาก เพราะคิดว่าตนไม่ได้เกิดในครอบครัวรวยที่พ่อแม่หาเงินไว้ให้ใช้ จึงต้องทํางานแต่ไม่มีงานที่ดีทํา รายได้มีไม่พอรายจ่าย ราคาบ้านแพงมากทําให้ชีวิตนี้จะไม่สามารถมีบ้านเป็นของตัวเอง บางคนคิดไกลถึงจะไม่แต่งงาน ไม่อยากมีลูก เพราะทุกอย่างแพง 

สมัยนี้การมีลูกเป็นภาระที่ใช้เงินมากและสู้ไม่ไหว พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้สังคมไทยในอนาคตยิ่งอ่อนเเอ และที่ปฏิเสธไม่ได้คือผู้ใหญ่ในบ้านเราก็ดูไม่ตระหนักในเรื่องนี้และไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี

คือ มีแต่ข่าวทุจริตคอร์รัปชัน และดูจะไม่สนใจปัญหาโลกร้อนซึ่งคืออนาคตของคนรุ่นใหม่ ยังใช้ชีวิตที่เผาผลาญธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือย

การมาญี่ปุ่นคราวนี้ทําให้ผมยิ่งตระหนักมากขึ้นในเรื่องนี้ มองสังคมญี่ปุ่นที่เป็นสังคมสูงวัยที่บริหารจัดการได้ดี มีวินัย และดูมีอนาคต เทียบกับประเทศเราที่เป็นสังคมสูงวัยที่มีปัญหา เรามีหลายอย่างที่ต้องแก้และถ้าจะสำเร็จต้องแก้โดยคนรุ่นเก่าที่รู้ปัญหาร่วมกับคนรุ่นใหม่ที่จะรับไม้ต่อ

จุดเริ่มต้นคือคนรุ่นเก่าที่อายุอยู่ในวัยเกษียณอย่างผม คือ พวก baby boomer ต้องยอมรับว่า แม้ตนจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างและพัฒนาประเทศให้ดีขี้นในช่วงสี่สิบปีที่ผ่านมา

แต่เราก็ทําได้เพียงแค่นี้และไม่ดีเท่าคนรุ่นเดียวกันในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ทำได้ดีกว่า ซํ้ายังทิ้งปัญหาไว้มากสําหรับคนรุ่นต่อไป จึงสมควรวางมือและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหา 

ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างของคนสูงวัยที่เป็นแบบอย่าง ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ประหยัด ไม่เป็นภาระต่อใครหรือสังคม และพร้อมช่วยเหลือคนรุ่นใหม่ในการแก้ปัญหา ให้ความหวังและให้กําลังใจคนรุ่นใหม่ ซึ่งก็คือคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องดูแลรักษาประเทศให้อยู่ต่อไป

คนสูงวัยต้องช่วยลูกหลานแก้ปัญหาประเทศ | บัณฑิต นิจถาวร