'ตานี สยาม'กระเป๋ากาบกล้วยตานี โปรดักส์วัฒนธรรมที่มากับความยั่งยืน

'ตานี สยาม'กระเป๋ากาบกล้วยตานี โปรดักส์วัฒนธรรมที่มากับความยั่งยืน

“ตานี” เปลี่ยนจากกล้วยผีเป็นนวัตกรรมราชินีกล้วย ภายใต้แบรนด์ “ตานี สยาม”ที่นำทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ มาปรับโฉม ออกแบบใหม่เป็นกระเป๋ากาบกล้วย “ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรม”(CPOT)ของจ.ราชบุรี ที่มาพร้อมกับการตอบโจทย์เรื่อง “ความยั่งยืน”

   “ธนกร สดใส” ประธานวิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี บอกว่า  ตานีสยาม( Tanee Siam )เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากต้นกล้วยสายพันธุ์ตานี เป็นนวัตกรรมราชินีกล้วย มีการนำต้นกล้วยในชุมชนมาแปรรูปเป็น “หนังทดแทน”หรือหนังไม่เบียดเบียน ซึ่งมีคุณสมบัติในการกันน้ำ กันเชื้อรา มีสีสันที่แตกต่างกันตาม 3 ฤดูกาลของประเทศไทย คือ หน้าหนาวได้สีขาว หน้าฝนได้สีดำ และหน้าแล้งเป็นคัลเลอร์ฟูล เป็นสิ่งที่ธรรมชาติ ตามแนวคิดที่วางไว้คือ “สร้างสรรค์จากธรรมชาติ ผลิตจากฝีมือชุมชน ตานีสยาม จ.ราชบุรี”

       เริ่มต้นของการออกแบบ เนื่องจากชุมชนเป็นสกุลแทงหยวก สกุลบายศรี ซึ่งตนเองเป็นรุ่นที่ 4 ของการเป็นวัฒนประเพณีหรือภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่ปัจจุบันคนไม่รู้จัก การใช้ลดน้อยถอยลง จึงต้องคิดหาแนวทางให้ “กล้วยตานี”ต้นทุนที่เรามีอยู่ในบ้านสามารถแปรเปลี่ยนเป็นคุณค่า มูลค่าและหล่อเลี้ยงชุมชนได้ โดยส่วนตัวจบการศึกษาเทคโนโลยีเคมีสิ่งทอกับสิ่งที่เป็นต้นทุนรากเหง้า ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องของเครื่องสักการะชั้นสูง แทงหยวก บายศรี จึงกลายเป็นนวัตกรรมตัวนี้

 

\'ตานี สยาม\'กระเป๋ากาบกล้วยตานี โปรดักส์วัฒนธรรมที่มากับความยั่งยืน

    “เป็นการแมทชิ่งระหว่างภูมิปัญญารากเหง้ากับสิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียนองค์ความรู้ ใช้เวลาขับเคลื่อนแบรนด์ประมาณ 7 ปี มาเปิดตัวปีก่อนโควิด-19ระบาดก็เผชิญวิกฤตเช่นกัน แต่ยังมีคนสนใจเป็นหน่วยงานองค์กรซื้อเป็นของขวัญของฝาก ทำให้ผ่านพ้นมาได้ ทำให้สามารถไปต่อได้”ธนกรกล่าว

    ปัจจุบัน ตานี สยาม  มีการขับเคลื่อนภายใต้วิสาหกิจชุมชนบ้านช่างสกุลบายศรี สามารถดูแลได้ 30 ครอบครัว ซึ่งจะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ที่กระจายรายได้ งานและองค์ความรู้ ในส่วนของรายได้ที่เป็นต้นน้ำในการปลูก  1 ครัวเรือนปลูกได้ 1 ไร่ มี 250 ต้น  ทางแบรนด์รับซื้อมาแปรรูปต้นละ 50 บาท เพราะฉะนั้น รายได้อยู่ที่ราว 12,500 บาทต่อครัวเรือนต่อไร่เป็นรายได้เสริมให้กับสมาชิกที่ปลูกภาคเกษตร ภายใน 3-5 ปีจะเพิ่มเป็น 80 ครอบครัวที่เป็นต้นการปลูก เพราะมีการกระจายตลาดของผลิตภัณฑ์มากขึ้น  

     “การปลูกแม้จะเป็นการนำต้นกล้วยมาผลิตภัณฑ์เป็นกระเป๋า ของใช้ แต่จะต้องปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น ถ้าตรวจเจอเคมีก็มีกฎกติกา  ซึ่งตานีให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะในขั้นตอนการผลิตไม่ได้มีการฟอกย้อม ใช้การตากแดดธรรมชาติ และไม่ได้ใช้สารเคมีในการทำกระบวนการสี โดยสีสันและลวดลายเกิดขึ้นจากสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้น ดังนั้น ถ้าแปลงไหนใช้เคมี สีสันตรงนี้ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ แบคทีเรีย จุลินทรีย์ หรือน้องด้วง น้องหนอนสร้างลวดลาย ถ้าใช้เคมีสิ่งเหล่านี้ก็จะเสียหายไป”ธนกรกล่าว

\'ตานี สยาม\'กระเป๋ากาบกล้วยตานี โปรดักส์วัฒนธรรมที่มากับความยั่งยืน

            ขณะที่เส้นทางCPOT ของกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)เป็นสิ่งที่ตรงจุด ตรงประเด็น ตรงความต้องการ และตรงเป้าหมายสิ่งที่ชุมชนและแบรนด์ตั้งไว้ คือ “ICON OF SIAM” คือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ใครมาประเทศไทยควรจะต้องเห็นและมีตานี สยามเป็นของฝากหรือเป็น Soft Power ประเทศไทย  นี่คือเป้าหมาย

    หากมองในเรื่องความยั่งยืน “ธนกร” บอกว่า สำหรับ ตานี สยามแล้วขับเคลื่อนมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว  และตอบโจทย์ 17 ตัวชี้วัดใน 4  เรื่องหลัก ได้แก่  1.ความอดยาก ช่วยให้คนมีอาชีพ มีรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ 2.เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อชุมชน ใเป็นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์รวบรวมเพื่อให้คนที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ได้นำองค์ความรู้ไปปรับใช้ได้ 3.เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลิตภัณฑ์เป็นกรีนอยู่แล้ว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากธรรมชาติจริงๆ ไม่มีเคมีตั้งแต่ต้นน้ำ จนปลายน้ำ และ4.เป็นโครงสร้างพื้นฐานไม่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน ไม่ต้องไปขายแรงงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่สามารถอยู่บ้านเกิด พออยู่พอกิน

      ช่องทางการจัดจำหน่ายปัจจุบันซื้อได้ที่เดียว คือ ศูนย์ที่เจ็ดเสมียน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ส่วนออนไลน์ในเฟซบุ๊กเพจ Tanee Siam นอกจากนี้ มีการวางจำหน่ายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ในส่วนของทวีปยุโรป และมีแผนจะขยายตลาดต่อไปยังโซนอเมริกาด้วย

\'ตานี สยาม\'กระเป๋ากาบกล้วยตานี โปรดักส์วัฒนธรรมที่มากับความยั่งยืน