'ทุนวัฒนธรรม' สร้างมูลค่าได้ถึง 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

'ทุนวัฒนธรรม' สร้างมูลค่าได้ถึง 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

“ฟื้นใจเมือง” ถูกยกขึ้นมาเป็นการขับเคลื่อน “ทุนทางวัฒนธรรม” สู่การสร้าง “มูลค่าใหม่” กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ที่สามารถสร้างรายได้ถึงหลัก 10,000 ล้านบาท แต่ต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการ “สร้างคุณค่า” สำนึกต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงจะเกิดการสืบทอด ยั่งยืน

      เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) แถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” และมีการเสวนา เรื่อง “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับพันธกิจที่ 4 : การขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่”

     ทุนวัฒนธรรมฟื้นไทยหลังเสียกรุง

       ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ กล่าวว่า ทุนทางวัฒนธรรมถูกลงทุนครั้งแรกในประเทศไทย น่าจะรัชกาลที่ 1 ตอนที่เสียกรุงศรีอยุธยา ซึ่งโครงนิราศนรินทร์แต่งตอนที่หลังตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ๆ เป็นช่วงที่เพิ่งฟื้นตัวจากการเสียกรุง สิ่งแรกที่รัชกาลที่ 1 ดำเนินการคือรวมแผ่นดิน และยุทธศาสตร์ที่ใช้ คือ การฟื้น 3 เรื่องที่เป็นหลัก เป็นเสาที่ต้องปักไว้ ได้แก่ 
           1.สร้างวัดพระแก้ว

          2.ฟื้นความรู้ไว้ในวัดโพธิ์
          3.ชำระกฎหมายตรา 3 ดวง

         “แผ่นดินไทยหลอมผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ สิ่งที่ไทยรวยมากคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งกรุงรัตนโกสินทร์มีความสามารถพิเศษในการที่จะหลอมทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว” ดร.สีลาภรณ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

แค่คลิก รู้ทุกจุด "วัฒนธรรมไทย" ผ่านแผนที่แห่งแรก
ปักหมุด! 20 สุดยอด “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ทุนวัฒนธรรม เพิ่มรายได้

       บทกวี โคลงนิราศนรินทร์  “บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมืองฯ”แปลว่า อยุธยาเมื่อล่มสลายไปแล้ว กลับลอยลงมาใหม่ เกิดใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการฟื้นขวัญของคน คำว่า “ฟื้นใจเมือง”ใกล้เคียงที่สุดกับการที่ทำให้คนเอาใจหลอมหลวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียว จะเป็นกำลังของบ้านเมือง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมีกระบวนการที่จะฟื้นใจเมืองขึ้นมาใหม่ และในรัชกาลที่ 6 เป็นอีกยุคที่มีการฟื้นทุนทางวัฒนธรรม

  ทุนวัฒนธรรมสร้างมูลค่าถึง 1 หมื่นล้าน

       ดร.สีลาภรณ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ก็คือคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักท้องถิ่นตัวเอง ไม่รู้จักของดีของบ้านตัวเอง การฟื้นใจเมือง จึงเป็นการสนับสนุนให้ทุนทางวัฒนธรรมทั้งที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ หรือที่เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินมายาวนาน เป็นฐานทุนที่มีอยู่ในทุกคนทุกครอบครัว
        สามารถเผยร่างสร้างสำนึกท้องถิ่น สร้างงานสร้างรายได้จากฐานทุนที่มีอยู่โดยไม่ต้องซื้อหาหรือนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรม ประเพณี พิธีกรรม การกินการอยู่ การละเล่น การแสดง เป็นต้น ทุนทางวัฒนธรรมจึงถือเป็น “ขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศ”ในปัจจุบัน

         การสนับสนุนให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ได้นำสิ่งที่ตนมีติดตัวมาปัดฝุ่น พัฒนา และสร้างนวัตกรรม โดยมีมหาวิทยาลัยนำองค์ความรู้มาทำหน้าที่เป็นประหนึ่ง “หุ้นส่วน” ของทุนทางวัฒนธรรมในทุกพื้นที่จะกลายเป็นขอบฟ้าใหม่ของการพัฒนาประเทศ ที่สร้างสมดุลแห่งความยั่งยืนของชุมชน ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันจากการรุกคืบของทุนนอกพื้นที่

\'ทุนวัฒนธรรม\' สร้างมูลค่าได้ถึง 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

     ผลที่ได้จะมากกว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังนำมาซึ่งความสุขและความภาคภูมิใจในรากฐานทางวัฒนธรรม สำนึกรักษ์ท้องถิ่น และสำนึกสิ่งแวดล้อมของชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ฐานทุนนี้ รวมถึง หนุนเสริมทักษะฝีมือเฉพาะของศิลปิน ช่างฝีมือท้องถิ่น และเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการวัฒนธรรมจำนวนมากในประเทศ

       “ที่สำคัญที่สุด คือทำให้คนมีสำนึกต่อคุณค่าทุนทางวัฒนธรรมของบ้าน ชุมชน ท้องถิ่นตัวเองก่อนเพื่อให้รากลึก แล้วจึงนำมาสู่การสร้างมูลค่าใหม่ หากทำให้คนมีรายได้ชั้นกลางในกทม.ราว 5 ล้านคน ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม คนละ 2,000 บาทต่อเดือน จะสร้างมูลค่าแล้วราว 10,000 ล้านบาท  แต่การจะทำให้คนสนใจซื้อนั้น  ทุนทางวัฒนธรรมนั้นต้องมีความเป็น unique  หรือเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร”ดร.สีลาภรณ์ กล่าว

มหาลัยกลไกเชื่อมต่อทุนวัฒนธรรม

      ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการสนับสนุนทุนวิจัย สำหรับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 48 โครงการ กระจายใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และมีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม

           ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม คนตกงานคนคืนถิ่นจากผลกระทบของ COVID-19 และผู้สูงวัยมีงานทำ ลดช่องว่างระหว่างวัย คนรุ่นใหม่ตระหนักในคุณค่าของทุนทางวัฒนธรรม เยาวชนมีโอกาสในด้านอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับรายได้ของผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เกิดการกระจายรายได้สู่เมืองรอง และชุมชนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม  

ฟื้นทุนวัฒนธรรม สร้าง 3 ส่วน

        โครงการฟื้นใจเมืองนำสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการ 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่

1.สร้างคุณค่า ทำให้คนรู้จักคุณค่าที่แท้จริงของทุนทางวัฒนธรรมมนท้องถิ่น ผ่านการค้นหาตัวตนและนำเสนอในงานวิจัย

2.สร้างมูลค่าใหม่ จากการนำเสนอตัวตนตัวเองที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม ที่ไม่ใช่แค่

3.สร้างแรงบันดาลใจ สำนึกรักท้องถิ่น กลับเข้าไปสืบสาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่

       “ต้องทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าทุนทางวัฒนธรรม จึงเกิดบพท.ขึ้นในการสนับสนุนการวิจัยที่ขับเคลื่อน Soft power ปัจจุบันมีผู้ประกอบการวัฒนธรรม ราว 6,400 ราย มีย่านวัฒนธรรมกระจายใน 60 จังหวัด ซึ่งคุณค่าของงานวิจัยก็คือสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”ดร.กิตติกล่าว 

โมเดลมูลค่าใหม่ทุนทางวัฒนธรรม

         ตัวอย่างหนึ่งของการนำงานวิจัย สู่การพัฒนาพื้นที่ ผ่านทุนทางวัฒนธรรม ที่จ.อุบลราชธานี ผศ.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  กล่าวว่า  ม.อุบลฯได้เริ่มโครงการวิจัยฟื้นใจเมืองเขมราญ ที่อ.เขมราฐเมื่อปี 2559 เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิชาการมหาวิทยาลัยจาก 6 คณะ เกิดเป็นชุดข้อมูลแผนที่วัฒนธรรม พื้นที่วัฒนธรรม 7 แห่ง พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมที่หายไป เช่น รำตังหวาย จนปัจจุบันใช้เป็นการรำต้อนรับนักท่องเที่ยว
           พัฒนาผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม เช่น กล้วยตากแสงแรก เนื่องจากจ.อุบลราชธานีเป็นที่ตั้งของผาชะนะไดซึ่งเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย  เกิดทูตวัฒนธรรมที่เป็นเด็ก การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนในการปลูกฝังเด็ก  มีฐานข้อมูลช่างหัตถกรรมในพื้นที่  ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรม มีการวางแผนแม่บทร่วมกับท้องถิ่นในเรื่องเมืองเก่าเขมราฐ และมหาวิทยาลัยจัดทำหลักสูตรนวัตกรรมมรดากทางวัฒนธรรม

     “มีการประเมินผลตอบแทนจากการลงทุนงานวิจัยในเรื่องทุนวัฒนธรรม 1 บาท สามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้ 51.27 บาท และผลตอบแทนทางสังคมในอัตราส่วน 1 ต่อ 6.9 บาท"

        ในปี 2566 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีมีโครงการนำโมเดลของเขมราฐไป ขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอ.โขงเจียม ถือเป็นการขยายผลเพิ่มพื้นที่” ผศ.ชุตินันท์กล่าว

\'ทุนวัฒนธรรม\' สร้างมูลค่าได้ถึง 10,000 ล้านบาทต่อเดือน
มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง

          จากโครงการวิจัยที่บพท.สนับสนุน นำมาสู่การจัด “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่การพัฒนาพื้นที่” ใน 4 ภูมิภาค เพื่อให้ชุมชน ท้องถิ่น ศิลปินพื้นบ้าน ช่างฝีมือท้องถิ่น ผู้ประกอบการวัฒนธรรม ภาคีเครือข่ายและมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนาพื้นที่จากฐานทุนทางวัฒนธรรมได้จัดแสดงและเฉลิมฉลองอัตลักษณ์ศักดิ์และศรีของทุนทางวัฒนธรรมในงานมหกรรมนี้ และเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมนำเสนอและจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมอันเป็นผลผลิตจากงานวิจัยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

       เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและขยายผลการรับรู้ในวงกว้างถึงการพัฒนาทุนทางวัฒนธรรมจาก “คุณค่าสู่มูลค่า” ทางเศรษฐกิจและสังคม ผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้าของผู้ประกอบการวัฒนธรรม สาธิตและอบรมงานฝีมือ การแสดงของศิลปินท้องถิ่น นิทรรศการผลงานวิจัย แฟชั่นโชว์ การเสวนาระหว่างภาคีเครือข่าย

        “มหกรรมทุนทางวัฒนธรรมฟื้นใจเมือง : จากงานวิจัยสู่ การพัฒนาพื้นที่” ในแต่ละภูมิภาคจะมีไฮไลท์และรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไปตามมนต์เสน่ห์ของทุนทางวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ โดยมีกำหนดการจัดงาน ได้แก่

  • ภาคใต้ วันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณ ถนนนิพัทธ์อุทิศ 1 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
  • ภาคเหนือ วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2566 บริเวณอาคารพลเอกสำเภา ชูศรี (E4) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10-12 มีนาคม 2566 บริเวณถนนคนเดิน เลียบแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี
  • ภาคกลาง วันที่ 31 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 บริเวณชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ถ.เยาวราช กรุงเทพฯ