หยุดยาวสงกรานต์ 2566 หากเจ็บป่วยระดับวิกฤต เข้าได้ทุกรพ. อยู่ใกล้

หยุดยาวสงกรานต์ 2566 หากเจ็บป่วยระดับวิกฤต เข้าได้ทุกรพ. อยู่ใกล้

รองโฆษกรัฐบาล แจงเทศกาลหยุดยาวสงกรานต์ 2566 หากเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต เข้ารักษาได้ทุก รพ.ที่อยู่ใกล้ ตามนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ ของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีวันหยุดยาวตั้งแต่วันที่ 13 – 17 เมษายน 2566 ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางต่างจังหวัด เพื่อกลับบ้าน เยี่ยมเยียน เฉลิมฉลองกับครอบครัว รวมถึงทำกิจกรรมต่าง ๆ และรดน้ำดำหัวขอพรจากญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งคาดว่าปีนี้จะมีประชาชนเดินทางจำนวนมาก และมักจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็นประจำ

จากข้อมูลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2565 ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุ ตั้งแต่วันที่ 11 - 17 เมษายน เกิดอุบัติเหตุรวม 1,917 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,869 คน ผู้เสียชีวิต 278 ราย รัฐบาลจึงมีความห่วงใยประชาชน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วย สามารถใช้สิทธิ์ Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP ได้ ดังนี้

1.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต

หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุดโดยเร็ว เป็นไปตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ของรัฐบาล โดยให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

2.กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือกรณีผู้มีสิทธิบัตรทอง

ที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น มีความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก เกิดภาวะท้องเสียรุนแรง เป็นต้น กรณีนี้ให้เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่าผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณี เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  

“ขอให้ประชาชนเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญ ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้เพื่อความสะดวก พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลในการเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยเร็ว ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง สิ่งที่สำคัญต้องไม่ประมาท พักผ่อนให้เพียงพอก่อนเดินทาง และมีสติอยู่ตลอดเวลา ” นางสาวรัชดา กล่าว