เตือนโรงแรมบนเกาะสมุย เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัส-ลีจิโอเนลลา ในน้ำอุปโภคบริโภค

เตือนโรงแรมบนเกาะสมุย เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัส-ลีจิโอเนลลา ในน้ำอุปโภคบริโภค

กรมวิทย์ฯ ย้ำเตือนผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะสมุย เฝ้าระวังเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลีจิโอเนลลา ในน้ำอุปโภคบริโภค

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม “โครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) และเชื้อลีจิโอเนลลา (Legionella spp.) ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โดยมี นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นางเลขา ปราสาททอง ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร นางสาวจิราภรณ์ เพชรรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ผู้บริหารจากศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ผู้ประกอบการโรงแรม นักวิชาการและหน่วยงานเครือข่าย ในพื้นที่เข้าร่วม

เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการให้ปลอดภัยจากเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลีจิโอเนลลา ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของโรงแรมเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว และเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังเกาะสมุยเพิ่มมากขึ้น เป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

 

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในเขตภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่รับผิดชอบ 4 จังหวัด ได้แก่

  1. ชุมพร
  2. ระนอง
  3. สุราษฎร์ธานี
  4. นครศรีธรรมราช

ได้สนับสนุนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ จัดทำโครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อลีจิโอเนลลา ในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เพราะมีธรรมชาติอันงดงาม น้ำทะเลใส ทำให้แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก

จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่มีโอกาสจะเป็นแหล่งกำเนิดโรค เช่น หอผึ่งเย็น เครื่องปรับอากาศ  ถังเก็บน้ำ ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ น้ำพุ และสปา เป็นต้น จากสถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย ในปี 2565 จำนวน 44 ตัวอย่าง พบเชื้อลีจิโอเนลลาเพียง 1 ตัวอย่าง ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงไม่ให้มีเชื้อแล้ว 

ดังนั้น เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมไปสู่นักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เชื้อโนโรไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหารอักเสบเฉียบพลัน และเชื้อลีจิโอเนลลา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี จึงได้จัดทำโครงการเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัส และเชื้อลีจิโอเนลลาในน้ำอุปโภคบริโภคในโรงแรมขึ้น โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ แนะแนวทางการบริหารจัดการการปนเปื้อน เชื้อก่อโรคในน้ำอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้ประกอบการโรงแรมและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานสุขาภิบาลน้ำอุปโภคบริโภคจากโรงแรม และเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์อนามัยที่ 11 นครศรีธรรมราช และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช

“การสร้างสุขลักษณะที่ดีและปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรคในโรงแรมของประเทศไทย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และร่วมกันกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังการเชื้อก่อโรคในน้ำอุปโภคบริโภคของโรงแรมไปสู่นักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรค โดยบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่น่าจะเป็นแหล่งรังโรค ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ และใส่สารชีวฆาต (biocides) เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ เก็บตัวอย่างน้ำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนรักษาอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รักษาความสะอาดระบบน้ำร้อน น้ำเย็น และรักษาระดับอุณหภูมิน้ำร้อนที่ 60 °C และน้ำเย็นต่ำกว่า 20 °C” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้าย