วช. หนุน มทร.กรุงเทพ แปรรูปปลาน้ำจืดบนเกาะสมุย

วช. หนุน มทร.กรุงเทพ แปรรูปปลาน้ำจืดบนเกาะสมุย

วช.ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาน้ำจืด เพื่อการส่งเสริมเศรษฐกิจและสร้างอาชีพ ผ่านกระบวนการผลิตกุนเชียงปลาดุกไขมันต่ำในบรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) ศึกษาการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุนเชียงปลาดุกไร้มัน

โดยการใช้ข้าวไรซ์เบอรี่และคีนัวที่ผ่านกระบวนการเอ็กซ์ทรูชั่นทดแทนไขมันเพื่อลดปริมาณไขมัน รวมทั้งใช้วิธีการบรรจุแบบสุญญากาศยืดอายุการเก็บรักษาของกุนเชียงปลาดุก

เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จากทรัพยากรภายในอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

ถือเป็นการมุ่งยกระดับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกให้สามารถแปรรูปผลผลิตจากองค์ความรู้ในการวิจัย ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและเชื่อมโยงตั้งแต่กระบวนการผลิต การจำหน่าย การแปรรูปอย่างครบวงจร จนเป็นผลสำเร็จในการลดปัญหาสินค้าราคาตกต่ำ

วช. หนุน มทร.กรุงเทพ แปรรูปปลาน้ำจืดบนเกาะสมุย

ดร.ศุภวัฒน์ ชูวารี ผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การประกอบอาชีพประมงบนเกาะสมุยเกือบทั้งหมดเป็นประมงชายฝั่งขนาดเล็ก

โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงน้ำเค็มบริเวณชายฝั่ง และมีส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพประมงน้ำจืด

ผลิตผลที่ได้ส่วนใหญ่ใช้บริโภคในครอบครอบครัว ร้อยละ 30% ที่เหลือ 70% นำไปจำหน่ายในตลาดและร้านอาหาร แต่ผลผลิตดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากใน 1 ปี สามารถทำประมงได้ 4-5 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีมรสุม และปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง

วช. หนุน มทร.กรุงเทพ แปรรูปปลาน้ำจืดบนเกาะสมุย

ทำให้ปริมาณผลผลิตสัตว์น้ำเค็มลดลงทุกปี จึงต้องมีการนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาจากที่อื่น ๆ เช่น ปลาดุกบิ๊กอุย ปลาทับทิม ปลานิลจิตรลดา ปลากระพง

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อทดแทนทรัพยากรที่มีข้อจำกัด

รวมไปถึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการสร้างรายได้ ผ่านการนำความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบูรณาการร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้าน

เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในพื้นที่ สามารถยกระดับสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชนและเป็นการเสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

วช. หนุน มทร.กรุงเทพ แปรรูปปลาน้ำจืดบนเกาะสมุย

คณะนักวิจัยจะมุ่งเน้นการพัฒนางานใน 3 ด้าน ดังนี้ 1. การพัฒนาสัมมนาชีพใหม่ (ยกระดับสินค้า OTOP) 2. การนำความรู้ไปช่วยบริการชุมชน (Health Care) และ

3. การส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม (Cirular Economy) การเพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการแปรรูปปลาดุกอุย ได้แก่ ไส้กรอกปลา ปลายอ กุนเชียงปลา ไส้อั่วปลา และลูกชิ้นปลา ฯลฯ