'ซีเซียม'มีทั้งคุณและโทษ ภาครัฐชี้ชัดผลไม้ปราจีนฯมีสารปนเปื้อนหรือไม่?

'ซีเซียม'มีทั้งคุณและโทษ ภาครัฐชี้ชัดผลไม้ปราจีนฯมีสารปนเปื้อนหรือไม่?

'ซีเซียม-137 (Cs-137)' เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

Keypoint:

  • "ซีเซียม" เป็นสารกัมมันตรังสี ที่มีทั้งประโยชน์มากมาย ทั้งด้านการแพทย์ การเกษตร แต่หากจัดเก็บไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัยก็จะมีโทษมหันต์
  • หน่วยงานรัฐต้องเร่งตรวจสอบสารปนเปื้อน ก่อนที่ผลไม้ไทย พืชผักผลไม้ชาวปราจีนบุรีจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ
  • จัดโซนนิ่งแยกพื้นที่ปลอดภัย และแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระยะ คือ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว ประกาศให้ประชาชนรับรู้ชัดเจน เพื่อดูแลป้องกันตนเอง

กรณีแท่งซีเซียม-137 หายจากบริษัทผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.ปราจีนบุรี  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลา 10 วันถึงจะค้นพบว่าในโรงงานหลอมเหล็กภายในจ.ปราจีนบุรี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  หน่วยงานจ.ปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบระดับกัมมันตรังสีและยืนยันว่ายังไม่มีการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หรือสร้างผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของชาวบ้าน 

รศ.ดร.พีระศักดิ์ เภาประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ได้กล่าวในงานเสวนาเชิงวิชาการ “เจาะลึกประโยชน์และโทษซีเซียม-137” จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ มธ.ว่า ซีเซียม เป็นธาตุหนึ่งใน 118 ธาตุ ที่มีอยู่ในตารางธาตุ

ธาตุซีเซียม เป็นโลหะที่มีความว่องไวต่อปฎิกิริยา และซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสี มีค่าครึ่งชีวิต 30.17 ปี เป็นธาตุที่ไม่เสถียรแต่จะสลายตัวไปเรื่อยๆ โดยใช้เวลา 30 กว่าปี และสลายตัวของซีเซียมจะปล่อยอนุภาครังสีบีตา และรังสีแกมมา และนับเป็นสารก่อมะเร็ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อย่าตื่นตระหนก "ซีเซียม 137" ปริมาณน้อยฟุ่งกระจายไม่ไกล ผลไม้ปราจีนฯ ทานได้

'ซีเซียม' ทำชาวบ้านปราจีนบุรีเดือนร้อน ผลไม้ถูกตีกลับ โรงแรมถูกยกเลิก

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

"โฆษกรัฐบาล" ยัน ยังไม่พบ ปชช. มีปัญหาสุขภาพ จาก ซีเซียม-137

เช็กประโยชน์ และโทษของซีเซียมที่ต้องรู้

“จริงๆ ซีเซียม-137 มีทั้งประโยชน์ และโทษ โดยในส่วนของประโยชน์นั้น การที่ซีเซียม-137 ปล่อยรังสีแกมมามนุษย์ได้นำไปใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งการรักษาโรคมะเร็ง การทำลายเซลล์มะเร็ง หรือส่วนที่หายไป จะใช้ในการตรวจวัดไอขี้เถ้าในโรงงานไฟฟ้า อีกทั้งมีประโยชน์ในการถนอมอาหาร ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร  หรือการดัดแปลงพันธุ์กรรม เป็นต้น แต่การปล่อยรังสีแกมมาออกมา หากไม่มีการจัดเก็บอย่างดี อาจจะทำให้เกิดอันตราย ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสิ่งแวดล้อมได้” รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าว

ส่วนกรณีผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ ทุเรียน มังคุด โดยตั้งแต่เดือนมีนาคม เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเริ่มต้นเก็บเกี่ยวผลผลิตผลไม้ตามฤดูกาล ที่เป็นผลผลิตล็อตแรกของปีที่เตรียมป้อนเข้าสู่ตลาด 

รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวต่อว่าภาครัฐต้องเร่งจัดหน่วยบริการเคลื่อนที่ เพื่อตรวจวัดปริมาณการปนเปื้อนของรังสี เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจของผู้บริโภค ที่มีหน่วยวัดที่น่าเชื่อถือและจับต้องได้  รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลไม้ไทย ทั้งการบริโภคในประเทศ รวมถึงภาพรวมของการส่งออกผลไม้ไทยร่วมด้วย

 

แบ่งโซนพื้นที่ ให้ความรู้ประชาชนดูแลตัวเอง

ดร.รุจิภาส บวรทวีปัญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.กล่าวว่าซีเซียม -137 เป็นสารกัมมันตรังสีที่สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ โดยปกติเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ค่ากัมมันตรังสีจะลดน้อยลงตามค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสีจนสลายหมด  ส่วนจะใช้เวลาสลายเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของซีเซียม และส่วนใหญ่ 10 เท่าของค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสี และขึ้นอยู่กับปริมาณถึงจะสลายได้เร็ว อีกทั้งต้องผ่านกระบวนการกำจัดโดยหน่วยงานของภาครัฐ

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นกรณีสุดวิสัย แต่ยังคงต้องอาศัยกระบวนการจัดเก็บหรือกำจัดอย่างปลอดภัย และยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดโซนนิ่งแยกพื้นที่ปลอดภัย และแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระยะ คือ สีแดง คือ ระยะอันตราย สีเหลือง คือ ระยะปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ และสีเขียว คือ ระยะปลอดภัยสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เข้าใกล้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ และต้องมีการกำหนดอย่างชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ และเฝ้าระวังดูแลตัวเอง” ดร.รุจิภาส กล่าว

 ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน หรือผู้ที่ต้องใช้งานซีเซียม ควรไม่ควรเกิน 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ขณะที่ประชาชนไม่ควรเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยสามารถสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ได้ กรณีที่ได้รับสารโดยตรงในปริมาณมากจะมีอาการแสบผิว วิงเวียนศีรษะ อาเจียน โดยหากประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการ สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจสารกัมมันตรังสีในเลือดได้ ทั้งนี้ ปริมาณสารดังกล่าวในปัจจุบันมีเพียง 0.4-0.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อยมากหากเทียบกับเหตุการณ์เชอร์โนบิล

ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.กล่าวว่า เวลาใช้สารกัมมันตรังสี หรือสารซีเซียม-137  ต้องมีการขออนุญาต และในแต่ละปีต้องมีการรายงานว่าเมื่อใช้แล้ว สถานภาพเป็นอย่างไร มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงภาคอุตสาหกรรม หรือโรงพยาบาลแบ่งแห่งที่ใช้

แต่ในส่วนของพื้นที่ชาวบ้าน คาดว่าไม่ได้รับผลกระทบ ใช้ชีวิตได้ปกติ เพราะมีการตรวจวัดปริมาณรังสีอยู่แล้ว ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งโรงงานต้องรายงานสถานะสิ่งที่ครอบครองเป็นอย่างไร และในตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัด

ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่าจะมีการแพร่กระจายรังสีในสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ ส่วนที่ถูกเผาและแปรสภาพเป็นผงฝุ่นสีแดงแล้ว แต่ยังคงมีคุณสมบัติไม่ต่างจากลักษณะแท่ง เพราะสามารถแผ่รังสีได้ ซึ่ง ผงฝุ่นสีแดงที่เกิดขึ้นหลังการหลอม ถูกพบบรรจุในถุงบิ๊กแบ็คเพียง 90% และอีก 10% ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังคงคุณสมบัติเดิม

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตระหนักรู้แก่ภาคประชาชน ภาครัฐจึงควรออกมาให้ความรู้และสร้างฐานข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น อาทิ พื้นที่ที่มีการใช้สารดังกล่าว ระดับความเข้มข้นของสาร ระยะการใช้งานของสาร ฯลฯ  หากบริเวณใกล้เคียงมีการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ จะสามารถดูดซึมสารซีเซียมและสะสมในเนื้อเยื่อได้ ในที่สุดจะมีโอกาสปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ขณะเดียวกัน อยากย้ำเตือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะค่าปริมาณรังสีรายวันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย”ดร.ณัฐฐา กล่าว