รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

นอกจากธาตุกัมมันตรังสีอย่าง “ซีเซียม-137” ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกันในขณะนี้แล้ว ยังมีธาตุกัมมันตรังสีอีกหลายชนิดที่หากใช้ “ไม่เกินระดับมาตรฐานความปลอดภัย” ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงการรักษามะเร็ง ให้พลังงานไฟฟ้า หรือแม้แต่ตรวจพยาธิ

Key Points

  • ซีเซียม-137 (CS-137) ปกติแล้วมักถูกใช้ในการฉายรังสีฆ่ามะเร็ง และอยู่ในเครื่องวัดการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น
  • ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้ความเข้มข้นยูเรเนียม-235 (U-235) อยู่ที่ 2% และที่เหลือเป็นยูเรเนียม-238 (U-238) อีก 98%
  • การกลืนแร่ไอโอดีน-131 เข้าไป จะช่วยรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ และทำให้ต่อมไทรอยด์ฝ่อลง

 

จากกรณีที่ วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล บ.เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี กระทั่งต่อมาได้มีการตรวจพบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในโรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบุรี จนทำให้ประชาชนกังวลว่าจะเกิดอันตรายจากการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีดังกล่าว

แม้ภาครัฐ นำโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ตรวจสอบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทุกจุดทั้งดิน น้ำ อากาศ และยืนยันว่า “ยังไม่พบการปนเปื้อน” รังสีซีเซียม-137 หรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ แต่เหล่าองค์กรภาคประชาสังคมต่างออกมาวิจารณ์ถึงกรณีนี้

 

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

- ซีเซียม-137 ที่หายจากโรงไฟฟ้าในปราจีนบุรี -

 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ระบุว่า เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่รัดกุมในระบบการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทฯ เจ้าของโรงไฟฟ้า รวมถึงหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ทั้งยังแสดงถึงพฤติกรรมการปกปิดข้อมูลของบริษัทฯ ทั้งในประเด็นเรื่องการแจ้งล่าช้าตามที่ได้มีการแจ้งความบริษัทในข้อหา “ไม่แจ้งโดยพลัน” และยังทำให้สังคมยังอยู่ในสภาวะความไม่รู้ และความมืดบอดทางข้อมูลมลพิษกรณีนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในทางวิชาการนั้น ซีเซียม-137 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธาตุกัมมันตรังสี และด้วยความที่อะตอมไม่มีความเสถียรมากพอ จึงสามารถแตกตัว ปลดปล่อยพลังงานเป็นรังสีได้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ กัมมันตภาพรังสี (Radioactivity)

ถึงแม้หลายคนมักได้ยินเกี่ยวกับโทษจากการสัมผัสซีเซียม-137 ที่ทำให้อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย เสี่ยงโรคมะเร็ง เซลล์เติบโตผิดปกติ ไปจนถึงสูญเสียการควบคุมทางร่างกาย ฯลฯ แต่ธาตุกัมมันตรังสีเหล่านี้ หากใช้ในปริมาณเหมาะสมและอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย ก็สามารถก่อประโยชน์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน

 

  • ประโยชน์ของธาตุกัมมันตรังสี

1. คาร์บอน-14 ใช้หาอายุวัตถุโบราณ และซากสิ่งมีชีวิต

คาร์บอน-14 (C-14) มีครึ่งชีวิต (ระยะเวลาที่สารสลายตัวไปจนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณเดิม) อยู่ที่ 5,730 ปี ใช้หาอายุของซากสิ่งมีชีวิตอย่างเช่น ซากไดโนเสาร์ หรือวัตถุโบราณที่มีอายุไม่เกิน 5 หมื่นปี

2. รังสีแกมมา จากแร่เรเดียม แร่ซีเซียม และแร่โคบอลต์ ใช้รักษามะเร็ง

ในการรักษาโรค แพทย์จะใช้รังสีแกมมา จากการสลายตัวของแร่เรเดียม-226 (Ra-226) ซีเซียม-137 (CS-137) และโคบอลต์-60 (CO-60) ฉายรังสีไปตรงบริเวณส่วนมะเร็ง เพื่อให้เซลล์มะเร็งตายหรือฝ่อตัวลง

 

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

- เครื่องฉายรังสีรักษามะเร็ง (เครดิต: AFP) -

 

3. ยูเรเนียม-235 และ -238 ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ถ้าเป็นเขื่อนก็ต้องตัดไม้ถางป่าเป็นวงกว้าง พลังลม และแสงแดดก็ไม่แน่นอน พลังถ่านหิน และน้ำมันก็เป็นมลพิษ ก๊าซธรรมชาติก็ปล่อยสารมีเทนที่ทำลายบรรยากาศโลก

ดังนั้น ตัวเลือกพลังงานที่มีส่วนช่วยภาวะโลกร้อนในขณะนี้ อาจเป็น “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’’ เพราะใช้เชื้อเพลิงที่น้อย แต่สามารถผลิตพลังงานได้มาก อีกทั้งมีพลังงานที่เสถียร สะอาด ไม่ต้องพึ่งพาความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศ

 

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (เครดิต: AFP) -

 

ในการผลิตกระแสไฟฟ้า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้ความเข้มข้นยูเรเนียม-235 (U-235) อยู่ที่ 2% และที่เหลือเป็นยูเรเนียม-238 (U-238) อีก 98%

4. ซีเซียม-137 ใช้ฉายรังสีฆ่ามะเร็ง และงานก่อสร้าง

ซีเซียม-137 (CS-137) ที่กำลังเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเรา ปกติแล้วมักถูกใช้ในการฉายรังสีฆ่ามะเร็ง และอยู่ในเครื่องวัดการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น เครื่องวัดระดับการไหลของเหลว เครื่องวัดความหนาแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และเครื่องตรวจสอบชั้นหินในการขุดเจาะ

5. แร่ไอโอดีน-131 ใช้รักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ

อาการไทรอยด์เป็นพิษ จะทำให้ต่อมไทรอยด์ขยายใหญ่ขึ้น อันเกิดจากร่างกายสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ

ดังนั้น การกลืนแร่ไอโอดีน-131 (I-131) เข้าไป ในรูปแบบน้ำหรือแคปซูล จะช่วยยับยั้งการทำงานของต่อมไทรอยด์ และทำให้ต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกตินั้นฝ่อตัวลง

ทั้งนี้ โรคไทรอยด์เป็นพิษไม่ได้เป็นโรคเดียวกับมะเร็งไทรอยด์ ดังนั้น ห้ามผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ใช้วิธีกลืนแร่ไอโอดีน-131 อย่างเด็ดขาด แต่ต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

6. รังสีเอกซ์ ใช้เอกซเรย์กระดูก และอวัยวะภายใน

รังสีเอกซ์ ถูกใช้อย่างแพร่หลายในวงการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการฉายภาพกระดูกภายใน เพื่อดูความบิดเบี้ยว และความเสื่อมของกระดูก รวมไปถึงเอกซเรย์อวัยวะภายในอย่างปอด เพื่อดูการหายใจ กะบังลม ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเอกซเรย์ตัวพยาธิในร่างกายได้อีกด้วย

 

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

- การ X-ray (เครดิต: AFP) -

 

7. อะเมริเซียม-241 ใช้ในอุปกรณ์ตรวจจับควันจากเพลิงไหม้

อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟ บนเพดานตามห้างสรรพสินค้า ก็มีธาตุกัมมันตรังสีอย่างอะเมริเซียม-241 (Am-241) ด้วย เนื่องจากมีความไวต่อการจับความชื้น และความกดอากาศที่เปลี่ยนไปจากเพลิงไหม้

8. เรเดียม และทริเทียม เป็นพรายน้ำบนหน้าปัดนาฬิกา

เรเดียม (Radium) ทริเทียม (Tritium) ทั้งสองแร่นี้มีคุณสมบัติเปล่งแสงในที่มืด โดยเรเดียมเป็นสารแรกที่ถูกใช้ทาหน้าปัดนาฬิกาให้เรืองแสงสวยงามในประเทศสหรัฐ ซึ่งแรงงานที่ทาก็ไม่ได้สวมชุดป้องกันแต่อย่างใด จนกระทั่งพวกเขาป่วยจากรังสี ทำให้ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา แร่เรเดียมนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้ในนาฬิกาอีก

ส่วนแร่ที่ถูกใช้แทนถัดมาคือ แร่ทริเทียม ทว่านับตั้งแต่ปี 2541 แร่ทริเทียมก็ได้ถูกยกเลิกใช้ เนื่องจากมีการแพร่อนุภาคเบต้าออกมาซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในปัจจุบันจึงมีการใช้สารเรืองแสงใหม่ที่ชื่อลูมิโนว่า (Luminova) ซึ่งเป็นสารเรืองแสงที่ถูกคิดค้นเมื่อปี 2536 โดยบริษัท Nemoto & Co., Ltd. ของญี่ปุ่นแทนธาตุกัมมันตรังสี 2 ตัวก่อนหน้า ซึ่งมีความปลอดภัย ไม่ได้ปล่อยรังสีอันตรายออกมา

9. รังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 ใช้เปลี่ยนสีอัญมณี

ในอุตสาหกรรมอัญมณี กระบวนการเร่งให้อัญมณีเปลี่ยนสีจากเดิมนั้นมีความสำคัญมาก บรรดาผู้ผลิตจึงนำอัญมณีมาฉายรังสีแกมมาที่ได้จากธาตุโคบอลต์-60 (CO-60) เพื่อให้อิเล็กตรอนในอัญมณีเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งสัมพันธ์กับการดูดกลืนสี จนทำให้สีอัญมณีเปลี่ยนเป็นสีต่าง ๆ

 

ดังนั้น จากคุณสมบัติของธาตุกัมมันตรังสีเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า แม้เป็นธาตุตัวเดียวกัน แต่หากถูกใช้ในระดับความเข้มข้นที่สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัย หรือไม่ถูกจัดเก็บอย่างถูกต้อง อย่างกรณีซีเซียม-137 ที่ถูกหลอมในปราจีนบุรี ก็จะอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อระบบนิเวศได้

ในขณะเดียวกัน หากถูกใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และมีการจัดเก็บดูแลอย่างรัดกุม คุณสมบัติแร่แผ่รังสีเหล่านี้ก็จะให้ประโยชน์มากมายดังที่กล่าวไว้ขั้นต้นนั่นเอง

 

รู้หรือไม่? ‘ธาตุกัมมันตรังสี’ หากใช้ถูกวิธี มีประโยชน์หลายด้าน

 

อ้างอิง: nemoto mcgill rtc nst nst(2) nst(3) epa santos nationalgeographic gbcspecs phyathai cnn