นวัตกรรมรองรับยามแก่ แค่ “ธนาคารเวลา” คงไม่พอ

นวัตกรรมรองรับยามแก่ แค่ “ธนาคารเวลา” คงไม่พอ

แม้ว่าธนาคารเวลาจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกเพื่อรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต แต่จะดีกว่าหรือไม่หากรัฐมีสวัสดิการที่รองรับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน

จำนวนประชากรที่สำนักทะเบียนกลางประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 มีทั้งหมด 66,171,439 คนคิดเป็นผู้สูงอายุร้อยละ 20-30 และภายในปี 2574 ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด โดยมีการคาดการณ์ว่าปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด

ขณะที่อัตราเด็กเกิดใหม่ปี 2565 อยู่ที่ 5 แสนคน ส่วนปี 2566 จะมีอัตราเด็กเกิดใหม่ใกล้เคียงกัน 5 แสนกว่าคน เป็นอัตราการเกิดใหม่ต่ำกว่า 6 แสนคนเป็นอัตราการเกิดที่วิกฤตในสังคม คาดว่าจะทำให้ประชากรในประเทศไทยมีประมาณ 65.4 ล้านคนในปี 2568 โดยจะลดลงต่อไปเป็นประมาณ 62 ล้านคนในปี 2588 และเหลือเพียง 55.9 ล้านคนในปี  2598 ซึ่งเป็นการลดลงเกือบ 10 ล้านคน

จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการเตรียมพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุสุขภาพแข็งแรง มีงานทำ และช่วยเหลือตัวเองได้ไม่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ท่ามกลางความช่วยเหลือ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากภาครัฐ ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุที่ลำบากยากไร้ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดสิทธิค่าลดหย่อนในการเดินทาง สิทธิการลดหย่อนการเข้าถึงสถานที่สาธารณะ สิทธิบัตรทองที่ครอบคลุมทั่วถึงเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย 

ขณะนี้ภาคีเครือข่ายธนาคารเวลา สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ มีการนำเอา “ธนาคารเวลา” มาบริการด้านสังคม ที่เอาต้นแบบมาจากต่างประเทศ โดยสมาชิก เปิดบัญชีส่วนบุคคลนำเวลาไปฝากและเบิกถอนภายใต้ข้อตกลงร่วมกัน มีสิทธิเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือในเวลาเดียวกัน โดยมีผู้จัดการธนาคารเวลาเป็นผู้จับคู่ ผู้ให้ กับ ผู้รับ ให้ตรงกัน ผู้ที่เป็นสมาชิกสามารถแลกเวลากับทักษะต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมาใช้ได้ดีในบริบทสังคมเมืองที่คนไม่ค่อยรู้จักกัน และสร้างความสัมพันธ์ของคนในสังคมได้

ทว่าการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีนวัตกรรมทางสังคมอื่นๆเข้ามาช่วยเสริมมากขึ้น แค่เพียง “ธนาคารเวลา” อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะนวัตกรรมที่จะมารองรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ยากจน หรือพื้นที่มีข้อจำกัด ควรมีนวัตกรรมรูปแบบอื่นเพิ่มเข้ามาให้คนในสังคมได้เลือกใช้

เช่นในเกาหลีใต้ให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปี นั่งรถไฟใต้ดินฟรีเป็นสิทธิพิเศษและใช้มาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษ และผู้สูงอายุได้อาศัยสิทธิเหล่านั้น ทำงาน‘ซิลเวอร์ เดลิเวอรี’ (Silver Delivery หรือการส่งของโดยผู้สูงวัย) บางคนมีรายได้ราว 18,000 บาทต่อเดือน ซึ่งสำนักงานสถิติเกาหลีใต้ รายงานว่ามากกว่า 18 % ของประชากรเกาหลีใต้ 51 ล้านคนมีอายุ 65 ปีขึ้นไป คาดว่าจะสูงถึง 30 % ในปี 2035 และ 40 % ในปี 2050 ซึ่งในเขตกรุงโซลซึ่งมีประชากรเกือบ 3.7 ล้านคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีผู้เดินทางฟรีมากกว่า 233 ล้านครั้งในปีที่แล้ว

สถานประกอบการหลายแห่งในประเทศไทยก็มีการจ้างงานผู้สูงอายุ  หลังจากเกษียณแล้ว ด้วยการต่อสัญญา  ปีต่อปี หรือตามแต่จะตกลงกัน ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของแต่ละคน โดยกระทรวงแรงงานมีนโยบายสนับสนุนภาคเอกชนให้ “จ้างงานผู้สูงอายุ”ตามความเหมาะสม และพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมีแผนระยะยาวส่งเสริมการมีงานทำของ“ผู้สูงอายุ”อย่างจริงจัง เพราะแค่นวัตกรรม“ธนาคารเวลา” คงไม่เพียงพอ