'พืชยาใต้ป่า' สู่ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างมูลค่าใหม่ 'น่านแซนด์บ๊อกซ์'

'พืชยาใต้ป่า' สู่ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างมูลค่าใหม่ 'น่านแซนด์บ๊อกซ์'

มูลนิธิกสิกรไทยร่วมมือกับ 5 หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชน เดินหน้าพัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจากพืชยาใต้ป่า สร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยชาวบ้านมีรายได้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมกับการฟื้นคืนป่าต้นน้ำน่าน ภายใต้โครงการ “น่านแซนด์บ๊อกซ์”

    เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2566 ที่ธนาคารกสิกรไทย อาคารราษฎร์บูรณะมีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) 3 ฉบับ ระหว่างมูลนิธิกสิกรไทย กับ 5 หน่วยงาน ภายใต้โครงการน่านแซนด์บอกซ์ ฉบับที่ 1 บันทึกความเข้าใจเพื่อความร่วมมือในการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือTCELS
       ฉบับที่ 2 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืช กับ องค์การเภสัชกรรม(อภ.)หรือGPO และฉบับที่ 3 บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพจากพืชยา กับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(BEDO)

\'พืชยาใต้ป่า\' สู่ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างมูลค่าใหม่ \'น่านแซนด์บ๊อกซ์\'

ห่วงโซ่มูลค่าใหม่พืชยา
        “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” ประธานกรรมการมูลนิธิกสิกรไทย และประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความร่วมมือทั้ง 3 ฉบับ ภายใต้โครงการน่านแซนด์บอกซ์ จะทำให้ห่วงโซ่มูลค่าใหม่พืชยาที่ชาวบ้านปลูกใต้ป่าสู่สินค้า เชื่อมโยงและครบสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนฐานข้อมูลชีวภาพในจ.น่าน รวมถึงภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์จากพืชยา ซึ่งจะสามารถนำมาต่อยอดในการพัฒนายาจากพืชต่อไป จาก BEDO ,การสนับสนุนงานวิจัยจาก บพข. เพื่อช่วยผลักดันงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่จ.น่าน 
        การช่วยยกระดับเทคโนโลยีในการพัฒนายาจาก TCELS ที่จะช่วยเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิตยา ทั้งในและต่างประเทศ ,การสนับสนุนตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าจาก GPO องค์กรหลักในอุตสาหกรรมยาของไทย ที่จะให้ความร่วมมือและคำแนะนำ ตั้งแต่การวิจัย การผลิต การควบคุมคุณภาพ ตลอดจนการจัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย. ที่จะช่วยให้คำแนะนำโครงการวิจัยที่มูลนิธิให้การสนับสนุน ตั้งแต่กระบวนการวิจัยพัฒนายา การสกัดและผลิต ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล

   “การพัฒนายาจากพืชให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด จำเป็นต้องมีความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพ และข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน มีทะเบียนยาที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล ที่แพทย์แผนปัจจุบันจะยอมรับและยอมใช้ ซึ่งการจะไปให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรวบรวมความรู้จากหลายภาคส่วนนี้” กอบกาญจน์ กล่าว 

\'พืชยาใต้ป่า\' สู่ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ สร้างมูลค่าใหม่ \'น่านแซนด์บ๊อกซ์\'
สมุนไพร : Health for Wealth
         ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า พื้นที่จ.น่าน พบปัญหาในการตัดไม้ทำลายป่า และความเป็นอยู่  ซึ่งความร่วมมือนี้ เป็นการทำงานร่วมกัน หลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน มูลนิธิ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน ในการช่วยกันพัฒนาสมุนไพร ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยสมุนไพรถือเป็นโจทย์สำคัญ  เนื่องจากประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสมุนไพรพื้นบ้าน แต่จะต้องทำให้ชาวบ้านได้ปลูกสมุนไพร คนในประเทศไทยนำสมุนไพรมาพัฒนา เกิดเป็นภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ ลดการนำเอา เพิ่มการส่งออกไปยังต่างประเทศ 
         “สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งให้คนไทยสุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง หรือ Health for Wealth ซึ่งปัจจุบันสธ.มีรากฐานแข็งแกร่งด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้ง  Medical Hub เป็นศูนย์การแพทย์ที่ดูแลชาวต่างชาติ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลากหลาย ที่ต่างประเทศให้ความสนใจมาก การร่วมมือครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้ร่วมกันพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาสมุนไพรเกิดคุณภาพ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และประชาชน รวมถึงรักษาภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อมและนำไปพัฒนาต่อยอดสมุนไพรในประเทศ ไปสู่ระดับสากล”นพ.โอภาสกล่าว 
เพิ่มมูลค่าจากฐานชีวภาพ
     ด้าน สุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ  (BEDO) กล่าวว่า  BEDO มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับชุมชนต้นทางในการใช้ทรัพยากรชีวภาพพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ชุมชนมีรายได้ดีขึ้นก่อนที่จะอนุรักษ์ เพราะการจะให้คนท้องหิวมาร่วมอนุรักษ์อาจยาก ซึ่งต้นน้ำน่านมีความสำคัญโดยเป็น 40 %ของต้นน้ำลุ่มน้ำภาคกลาง ความร่วมมือครั้งนี้จะได้นำฐานข้อมูลชีวภาพของจ.น่านมาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ตัวอย่างพืชชีวภาพของจ.น่าน อาทิ มะเขาควาย และมะไฟจีน อ.บ่อเกลือ ซึ่งจะต้องมีศึกษา สกัดสารสำคัญของพืชยา มาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพได้อย่างไร 
รัฐจับมือเอกชน แนวทางพัฒนาประเทศ
     รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) กล่าวว่า ประเทศที่จะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งทำงานเพียงลำพัง แต่จะต้องมีการจับมือกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน  ซึ่งการMOUครั้งนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความร่วมมือที่สร้างผลดีต่อประเทศ และจะเป็นแนวทางของการพัฒนาประเทศต่อไป