แค่คลิก รู้ทุกจุด "วัฒนธรรมไทย" ผ่านแผนที่แห่งแรก

แค่คลิก รู้ทุกจุด "วัฒนธรรมไทย" ผ่านแผนที่แห่งแรก

อยากรู้ “วัฒนธรรมไทย”เรื่องไหน คลิก www.culturalmapthailand.info  “แผนที่วัฒนธรรมประเทศไทย”แห่งแรก แหล่งรวมฐานข้อมูลกว่า 2,000 ชุดจากทั่วประเทศ เตรียมต่อยอดเป็น “Metaverse วัฒนธรรม” เข้าถึงคนรุ่นใหม่

     เมื่อเร็วๆนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ(สอวช.)  แถลงข่าวเปิดตัวระบบฐานข้อมูลและแผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย แหล่งรวมสืบค้นต้นทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ซึ่งที่ได้มาจากการวิจัย 48 โครงการ ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่ 33 จังหวัด 41 สถาบัน
มหาลัยขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรม

       กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท. เป็นองค์กรที่มีเป้าหมายสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการสนับสนุนทุนวิจัย สำหรับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมภายใต้กรอบการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” มีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดสรรทุนทั้งสิ้น 48 โครงการ กระจายใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ

          มีผลการดำเนินงานที่มีสัมฤทธิผลชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในการต่อยอดจากงานวิจัย คือ  “แผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทย” Cultural Map Thailand ที่จะพัฒนาไปสู่ Cultural Atlas of Thailand และตัวอย่าง Cultural Metaverse Thailand ที่ 48 โครงการวิจัยกำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

แค่คลิก รู้ทุกจุด \"วัฒนธรรมไทย\" ผ่านแผนที่แห่งแรก

จุดเด่น “แผนที่วัฒนธรรม”

       ผศ.สทัศน์ กำมณี อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี อธิบายว่า แผนที่วัฒนธรรมของประเทศไทยที่รวบรวมไว้ใน www.culturalmapthailand.info นับเป็น “เว็บไซต์แผนที่วัฒนธรรมแห่งแรกของประเทศไทย” โดยเป็นระบบสารสนเทศด้านวัฒนธรรม การจัดเก็บข้อมูล การประมวลข้อมูล การนำเข้าและการเรียกใช้ข้อมูลที่มีมาตรฐาน ข้อมูลด้านวัฒนธรรม จำนวน 48 โครงการ  ขณะที่ข้อมูลหมวดหมู๋วัฒนธรรมที่ปรากฎในแผนที่อ้างอิงจากการระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม และข้อมูลระบบเป็นข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 2,621 ชุดข้อมูล
      จุดเด่นของแผนที่วัฒนธรรมแห่งแรกของประเทศไทย คือ

1.การเชื่อมโยงข้อมูลทางวัฒนธรรม เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลแผนที่ทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน โดยการสร้างระบบฐานข้อมูลด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรมในรูปแบบฐานข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบแผนที่

2.เครื่องมือเพื่อเก็บรวบรวมทุนทางวัฒนธรรม การทำแผนที่ทางวัฒนธรรมเสมือนการตรวจสอบต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีในท้องถิ่น ทำให้ทีมวิจัยเห็นภาพรวมและการเชื่อมโยงทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การกำหนดทิศทางวิจัย

3.แหล่งรวบรวมทุนทางวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้สะดวก แพลตฟอร์มอยู่ในรูปแบบออนไลน์ แสดงผลด้วยระบบแผนที่ผ่านเว็บไซต์ โดยมีการแสดงผลผ่านพิกัดแผนที่ และแยกหมวดหมู่ตามประเภทของวัฒนธรรม

แค่คลิก รู้ทุกจุด \"วัฒนธรรมไทย\" ผ่านแผนที่แห่งแรก

11 หมวดหมู่วัฒนธรรม

       เมื่อเข้ามาใน www.culturalmapthailand.info แล้วเลือก แผนที่วัฒนธรรม จะปรากฎให้สามารถค้นข้อมูลได้ทั้งผ่านการใส่ “คำค้น”ที่ต้องการ หรือ เลือก “ประเภทวัฒนธรรม”ที่เป็นแบบ “จับต้องได้”และ “จับต้องไม่ได้” รวมถึง เลือกจาก “จังหวัด”

       ที่สำคัญ สามารถเลือก “หมวดหมู่วัฒนธรรม” ที่รวบรวมไว้ถึง 11 หมวด ประกอบด้วย

1.โบราณวัตถุ

2.สถาปัตยกรรม

3.โบราณสถาน

4.พื้นที่วัฒนธรรม

5.ภาษา

6.วัฒนธรรมพื้นบ้าน

7.ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล

8.ศิลปการแสงง

9.กีฬาภูมิปัญญาไทย

10.แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล

11.งานช่างฝีกมือดั้งเดิม

แค่คลิก รู้ทุกจุด \"วัฒนธรรมไทย\" ผ่านแผนที่แห่งแรก
“ปักหมุด”แสดงผลจุดวัฒนธรรม

       หลังทดลองสืบค้นใน “หมวดพื้นที่วัฒนธรรม” จะปรากฎรูปแผนที่ประเทศไทย และการปักหมุดแสดงจุดที่มีพื้นที่วัฒนธรรมของประเทศไทย ที่มีการค้นหาในแต่ละพื้นที่จากโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัย

       ลองสุ่มกดเลือก 1 พื้นที่ ได้ “ชุมชนลั๊ว บ้านปากคลองลาน” อ.คลองลาน จ.พิจิตร  ซึ่งจะแสดงรายละเอียดเป็นข้อมูลแบบสรุปย่อ

       “สำหรับความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊ว หมู่ 4 บ้านปากคลองลาน ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน ได้อพยพมาจากบ้านห้วยน้ำขุ่น อ.แม่ท่าหลวง (อ.แม่จัน) จ.เชียงราย ซึ่งเดิมกลุ่มชาติพันธุ์ลั๊วได้อพยพมาจากอพยพมาจากเมืองแจ้ สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากเกิดปัญหาสงครามและปัญหาการเมือง ทำให้กลุ่มลั๊วซึ่งมีประชากรค่อนข้างน้อยอพยพมาตั้งถิ่นฐาน...”

        แต่หากต้องการรายละเอียด สามารถ เลือกที่  “อ่านต่อ”ได้ จะปรากฎข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมรายละเอียดทางวัฒนธรรม ได้แก่ ประเภทวัฒนธรรม หมวดหมู่วัฒนธรรม ที่ตั้ง ชื่อผู้ให้ข้อมูลหรือชื่อกลุ่มผู้ให้ข้อมูล ผู้บันทึกข้อมูล และแหล่งข้อมูลอื่น

        นอกจากนี้ ยังแสดงแผนที่ พิกัด GPS ปักหมุดที่ชุมชน เพื่อให้ผู้ที่ต้องการเดินทางไปเรียนรู้วัฒนธรรมในพื้นที่สามารถใช้ประกอบการเดินทางได้ 

แค่คลิก รู้ทุกจุด \"วัฒนธรรมไทย\" ผ่านแผนที่แห่งแรก

 ต่อยอดสู่ Metaverse วัฒนธรรม 4 ภาค

    หลังมีการดำเนินการ “แผนที่วัฒนธรรมประเทศไทย”แล้วเสร็จ จะมีการต่อยอดสู่ “Cultural Metaverse Thailand” เป็นการแสดงผลทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบ “ Metaverse” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้น 

     “Metaverse วัฒนธรรมไทย” จะถูกออกแบบให้เป็น 4 pavillion  ตามภูมิภาคของประเทศไทย และเมื่อเลือกเข้าไปใน pavilion ภาคไหน หากเลือกสถานที่ทางวัฒนธรรม ก็จะสามารถประหนึ่งตัวเรานั้น เข้าไปเดินชมอยู่ในสถานที่นั้นจริงๆ ผ่านการใส่แว่นเฉพาะ เป็นการสัมผัสเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านออนไลน์ แต่เสมือนได้ไปในพื้นที่จริง ขณะนี้ได้มีการเริ่มพัฒนาระบบแล้ว