'บพท.' ดัน 'เทคโนโลยีพร้อมใช้' แกัปัญหาท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจฐานราก

'บพท.' ดัน 'เทคโนโลยีพร้อมใช้' แกัปัญหาท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจฐานราก

บพท.ดันเทคโนโลยีพร้อมใช้กว่า 1,500 รายการ รุกแก้ปัญหายากจน ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ฐานรากประเทศ ช่วยเพิ่มรายได้ชุมชน  มทร.ธัญบุรีชู คลังความรู้ สร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่ได้ทุน บพท. แสดงงานวิจัยในรูปแบบออนไลน์ให้ชุมชนเข้าถึงได้ง่ายลดต้นทุนการเข้าถึงเทคโนโลยี

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.) กล่าวถึงทิศทางการทำงานของ บพท.ในปีงบประมาณ 2566 ว่า บพท.จะสนับสนุนให้มีการนำเอาองค์ความรู้ และนวัตกรรมจากสถาบันศึกษาที่ บพท.มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศกว่า 26 แห่งทั่วประเทศ เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาความยากจนของคนกลุ่มฐานราก 40% ของคนในพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม

โดยขณะนี้ บพท.มีการวิเคราะห์เทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมพร้อมใช้รวมกว่า 1,500 เทคโนโลยี รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการ สำหรับการแก้ปัญหาระดับชุมชนมากกว่า 860 นวัตกรรม ซึ่งมาจากชุมชนนวัตกรรมใน 753 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการทดสอบในบริบทของชุมชนเรียบร้อยแล้วสามารถที่จะส่งต่อให้กับชุมชนได้ผ่านนวัตกรชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ช่วยลดความยากจนและช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ซึ่งขณะนี้ บพท.มีเครือข่ายนวัตกรชุมชนกว่า 3,476 คน  ที่เป็นผลลัพธ์จากการดำเนินการตามแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นกลไกที่มีบทบาทอย่างสูงต่อความยั่งยืนของการพัฒนาชุมชน ในฐานะสื่อกลางในการนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลง และจัดการปัญหาในชุมชน 

“สิ่งที่เราอยากจะต่อยอดก็คืออยากให้งานวิจัยที่อยู่ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยไปยังชุมชนโดยเฉพาะชุมชนที่เปราะบาง มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจหรือปัญหาทางคุณภาพชีวิต เมื่อมีการส่งต่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้าไปเพื่อสร้างการเรียนรู้ชุมชนต่างๆก็จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ไปแก้ปัญหาได้เลยไม่ต้องไปทดลองใหม่ ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเพียงแต่ใช้เวลาในการเรียนรู้แบบพัฒนาได้จริงผ่านการช่วยเหลือของนวัตกรชุมชนที่เรามีเครือข่ายในพื้นที่”

ด้าน ผศ.ดร.วารุณี  อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่าตั้งแต่ปี  2563 -  2565 ในช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-แผนงานวิจัย "ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นแกนหลักซึ่งได้มีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสมจากสถาบันการศึกษา ไปสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างคุณภาพชีวิต ให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ช่วยให้ประชาชนสามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง สามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ได้มีการสร้างเครือข่ายในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล ที่ได้รับทุนวิจัยจาก บพท.ตั้งแต่ปี 2563 เพื่อจัดทำ "คลังความรู้" (Knowledge Stock) โดยมีการรวบรวมงานวิจัย นวัตกรรม ที่ได้มีการวิเคราะห์ และรวบรวมไว้ และเป็นเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งมีการทดสอบแล้ว มีการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวมทั้งมีข้อมูลเรื่องราคาที่ชัดเจน เงื่อนไขและบริบทการใช้ มีช่องทางในการติดต่อประสานกับนักวิจัยและเครือข่ายสถาบันศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ที่ชุมชนต่างๆสามารถติดต่อกับสถาบันศึกษาและนักวิจัยเพื่อขอนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนได้

ซึ่งในอนาคตจะมีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยอื่นๆที่ได้รับทุนวิจัยจาก บพท.ให้นำเอาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีพร้อมใช้เข้ามาอยู่ใน Knowledge Stock ที่จัดทำขึ้นเพื่อให้มีข้อมูลที่ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นจากในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างหน่วยรับทุนกับชุมชนในรูปแบบออนไลน์ที่จะมีการใช้ประโยชน์ในการจัดการปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไปในอนาคต