เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ | พงศ์นคร โภชากรณ์

เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ | พงศ์นคร โภชากรณ์

บทความในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2565 ผมพูดถึง 10 ประเด็นชวนคิดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย วันนี้เลยจะขยายความเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งผมคิดว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องคิดนโยบายรับมืออย่างจริงจัง เพราะหากช้าไม่ทันการณ์ เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายเด้ง

เรามาเริ่มที่นิยาม “สังคมผู้สูงอายุ (Aging society)” องค์การสหประชาชาติ (UN) ให้นิยามว่า หมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 10 ของประชากร หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 7 ของประชากร ประเทศไทยเราเลยจุดนี้มาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว 

ส่วนขั้นที่สูงกว่านี้ เรียกว่า “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)” ซึ่งหมายถึง ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 20 ของประชากร หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 14 ของประชากร

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ระบุว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ฉะนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยจึงนิยมใช้ 60 ปีเป็นเกณฑ์ มากกว่า 65 ปี 


 

ทีนี้มาดูสถานการณ์ล่าสุดของประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เผยแพร่ข้อมูลผู้สูงอายุปี 2565 ซึ่งน่าสนใจมาก ผมสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ๆ ให้ 3 ประเด็น 

ประเด็นที่ 1 จากประชากรทั้งหมด 66.1 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 12.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.9 ของประชากรทั้งหมด โดยแบ่งเป็นชายประมาณ 5.5 ล้านคน และหญิงประมาณ 7.0 ล้านคน แปลว่า ไทยยังไม่เข้าขั้นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ขาดอีกประมาณร้อยละ 1.1 ของประชากร หรือประมาณ 720,000 คน เท่านั้น 

ประเด็นที่ 2 ผมลองดูย้อนหลัง  2-3 ปีพบว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 400,000 คน ฉะนั้น ถ้าเพิ่มขึ้นในอัตรานี้ ประเทศไทยจะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ราว ๆ ปลายปี 2568 แปลว่า เรามีเวลาอีกไม่ถึง 2 ปี ในการเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ประเด็นที่ 3 หากนับกรุงเทพฯ เป็น 1 จังหวัด จาก 77 จังหวัด พบว่า 29 จังหวัด เป็นจังหวัดสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว คือ มีประชากรในจังหวัดที่อายุ 60 ปีขึ้นไป แตะร้อยละ 20 ของประชากรในจังหวัด

โดยเรียงจากสัดส่วนมากไปน้อยได้ ดังนี้ ลำปาง (ร้อยละ 26.6) แพร่ ลำพูน สิงห์บุรี ชัยนาท สมุทรสงคราม พะเยา อ่างทอง อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร น่าน นครสวรรค์ สุพรรณบุรี อุทัยธานี นครนายก กรุงเทพฯ พิษณุโลก ลพบุรี เชียงใหม่ เพชรบุรี ราชบุรี พัทลุง เพชรบูรณ์ พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ นนทบุรี จันทบุรี และเชียงราย (ร้อยละ 20.0)

ผมฟังงานสัมมนา สัมภาษณ์ ข่าว หลายช่องทาง มีไม่น้อยที่พูดว่าเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไปแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงยังไม่ใช่

ที่น่าเป็นห่วง คือ สังคมไม่ค่อยตื่นตัวที่จะรับมือกับมันเท่าไร คนส่วนมากมองเป็นเรื่องเฉย ๆ ไป เพราะสักวันวันต้องเกิดกับประเทศไทย เหมือนกับญี่ปุ่น สิงคโปร์ แต่ผมอยากจะบอกว่า มันไม่เหมือน เพราะเขารวยกว่าเรา เขามีศักยภาพในการหารายได้เข้าประเทศมากกว่าเรา สัดส่วนการจ้างงานผู้สูงอายุของเขาก็มากกว่าเรา

และถ้าไม่ทำอะไรจริงจัง มันจะทำให้เราเผชิญปัญหาลูกโซ่ 5 ประการ ที่สอดรับกันเป็นทอด ๆ ดังนี้

ประการที่ 1 จำนวนคนเกิด ไม่ทันจำนวนคนแก่ : ในปี 2573 หรืออีก 8 ปี ข้างหน้า UN คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรของไทยจะไปสูงสุดแถว ๆ 70 ล้านคน และจะเริ่มลดลงมาเรื่อย ๆ ปีละประมาณร้อยละ 3 แปลว่า นอกจากผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว อัตราการเกิดก็ต่ำมาก ๆ ทำให้จำนวนประชากรในวัยแรงงานลดลง    

ประการที่ 2 แรงงานลดลง กระทบการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ : เมื่อแรงงานในเชิงปริมาณซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับทุนและเทคโนโลยีลดลง เราต้องพึ่งแรงงานในเชิงคุณภาพมากขึ้น มีทักษะมากขึ้น

หรือถ้าไม่ได้ ก็ต้องพึ่งปัจจัยทุนจำนวนมากหรือทันสมัย เทคโนโลยีล้ำ ๆ และแรงงานต่างด้าวมากขึ้นเพื่อทดแทน ถ้าทดแทนได้ไม่เต็มที่ ย่อมกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแน่นอน

เราพร้อมหรือยังที่จะรับมือ สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ประการที่ 3 เมื่อแรงงานลดลง เศรษฐกิจโตไม่เต็มที่ ย่อมกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล : การลดลงของประชากรและวัยแรงงาน ถ้าเราไม่ปรับฐานภาษีและหรืออัตราภาษี จะทำให้การจัดเก็บภาษีบนฐานรายได้ลดลง เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การจัดเก็บภาษีบนฐานการบริโภคลดลง เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจัดเก็บภาษีบนฐานปริมาณการผลิตลดลง เช่น ภาษีสรรพสามิต เป็นต้น     

ประการที่ 4 ภาระทางการคลังของรัฐบาลจะเพิ่มมากขึ้น : ในปีที่ผ่านมากรมบัญชีกลางจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคนเศษ ในปีงบประมาณ 2563 ใช้เงิน 58.7 พันล้านบาท ปีงบประมาณ 2564 ใช้เงิน 79.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35

ฉะนั้น หากให้เบี้ยผู้สูงอายุต่อคนเท่าเดิม แปลว่า ด้วยอัตราการเพิ่มของรายจ่ายที่ร้อยละ 35 เท่าเดิม ภายใน 1 ปี งบประมาณที่ใช้จะทะลุ 1 แสนล้านบาท และภายใน 3 ปี งบประมาณที่ใช้จะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว กลายเป็น 1.6 แสนล้านบาท เลยทีเดียว นี่ยังไม่นับรายจ่ายเพื่อการคุ้มครองทางสังคมด้านอื่น ๆ

ประการที่ 5 จุดสมดุลระหว่างภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นกับภาระค่าครองชีพของผู้สูงอายุควรจะอยู่ตรงไหน : เมื่องบประมาณในการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุแปรผันตามจำนวนผู้สูงอายุ ในทางคู่ขนานค่าครองชีพก็เพิ่มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ฉะนั้น อัตราเบี้ยผู้สูงอายุที่ควรจะเป็นจริง ๆ ที่คำนึงถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและภาระทางการคลังนั้น ควรจะอยู่ที่เท่าใด มีใครเคยคำนวณไว้หรือไม่

ดังนั้น ผมคิดว่าโจทย์ใหญ่ข้อหนึ่งของรัฐบาลชุดต่อไป ก็คือ จะบริหารจัดการภาระทางการคลังอย่างไรในยุคสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]